Knowledge
จากแรงบันดาลใจสู่ “ชิ้นงาน” ที่สร้างคุณค่า : IS (Independent Study)
2 years ago 5149จิราพร เณรธรณี
การเรียนการสอนในรายวิชา IS หรือ Independent Study เป็นวิชาที่มักจะได้ยินเสียงโอดครวญจากผู้เรียนอยู่เสมอ เนื่องจากต้องศึกษาค้นคว้าแล้วนำมาทำเป็นรูปเล่มรายงานที่มีความสมบูรณ์ แม้รูปแบบการเรียนการสอนจะแตกต่างกันได้ แต่ส่วนใหญ่เห็นจะมีเพียงการทำเป็นรูปเล่มรายงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการนำข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาสรุปในแต่ละส่วนของรายงาน ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดผลประโยชน์ต่อผู้เรียนมากนัก และยังสร้างภาระในการทำงานด้วย แต่อย่าลืมว่า การนำเสนอผลงานที่เกิดจากการค้นคว้า และความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงแค่รูปเล่มรายงาน
ว่าด้วยเรื่องของวิชา IS
“Independent study” does not necessarily mean “one solo student.” จากคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างถ่องแท้ของการศึกษาด้วยตนเอง หรือ IS ที่ไม่ใช่เป็นการศึกษาเพียงคนเดียว แต่เป็นการรวมกลุ่มกันศึกษาในประเด็น หรือเรื่องที่สนใจคล้ายกัน นอกจากจะเกิดการระดมความคิดที่หลากมุมมองของผู้เรียนแล้ว การรวมกลุ่มกันศึกษายังช่วยลดภาระในการตรวจงานให้ครูได้ด้วย การศึกษาด้วยตนเองนี้ ผู้สอนจะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และการค้นคว้าของผู้เรียน ในขณะที่ผู้เรียนจะเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งในรายวิชา IS มี 5 ขั้นของการพัฒนาผู้เรียน แต่มีขั้นที่ 5 คือ การนำองค์ความรู้ไปบริการสังคม (Social Service Activity) ที่ยังไม่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ การวัดกระบวนการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเพียงรูปเล่มรายงานเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็น “ชิ้นงาน” ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ การค้นคว้าและเรียนรู้จะมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
เปลี่ยนแรงบันดาลใจให้กลายเป็น “ชิ้นงาน”
การเรียนการสอนในรายวิชา IS ไม่ได้มุ่งหวังให้ผู้เรียนมีทักษะที่จะสามารถระบุประเด็นปัญหา ตั้งสมมติฐาน ศึกษาค้นคว้า แสวงหาความรู้ ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมเท่านั้น แต่การศึกษาอย่างอิสระยังสามารถฝึกให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย กล่าวคือ มีการบูรณาการรายวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกันตลอดกระบวนการค้นคว้า เรียนรู้ และสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีคุณค่าทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งสิ่งสำคัญของการสร้างสรรค์ คือ แรงบันดาลใจ การเริ่มต้นจากการมีแรงบันดาลใจ จะทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างไอเดียที่ตอบโจทย์กับความต้องการมากที่สุด ทั้งยังทำให้ผู้เรียนมีความสุขและมีเป้าหมายในการสร้างสรรค์งานอีกด้วย
ในยุคที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า ผู้เรียนหลายคนสนใจเกี่ยวกับการเป็น Content creator ที่เป็นผู้สร้างสรรค์เนื้อหาที่มีหลากหลายรูปแบบเผยแพร่สู่สาธารณชน โดยนำแรงบันดาลใจ ความสนใจ หรือความถนัดในการสร้างสรรค์เป็นเนื้อหาที่มีคุณค่า ทั้งเนื้อหาที่เป็นข้อความ รูปภาพ อินโฟกราฟิก และวิดีโอ
ยกตัวอย่าง การนำวิชาสังคม วิทยาศาสตร์ และศิลปะ โดยผู้เรียนคนหนึ่งได้ศึกษา และค้นคว้าเกี่ยวกับกระทะเหล็ก ซึ่งเป็นดนตรีพื้นเมืองประเภทเครื่องเคาะในสาธารณรัฐตรินิแดดและโตเบโก ซึ่งเป็นชาติที่ตั้งอยู่ในทะเลแคริบเบียน โดยเขาได้ศึกษาทั้งด้านประวัติศาสตร์ ด้านวัฒนธรรม และได้ทำการทดลองเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของโลหะแต่ละชนิดและความถี่ของเสียงเครื่องดนตรี และเขาก็เขียนเป็นบทเพลงและนำมาแสดงเป็นเข้ากับเพลงพื้นเมือง การศึกษาดังกล่าวนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ และสืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการพัฒนาชิ้นงานจากคนรุ่นใหม่เพื่อต่อยอดให้มีความสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม การเป็นนักอนุรักษนิยมเป็นสิ่งที่ดีในการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมจากบรรพชนรุ่นหลัง หากควบคู่กับการเป็นนักสร้างสรรค์ด้วยจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงและผู้คนรุ่นใหม่อีกด้วย
การเรียนการสอนในวิชา IS ไม่ได้ใช้หลักการ หรือกฎเกณฑ์ในวิชาความรู้ที่เรียนในห้องเท่านั้น แต่ยังอาศัยความสร้างสรรค์ของผู้เรียนให้น่าสนใจยิ่งขึ้นด้วย การเรียน IS จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่ได้ฝึกเพียงทักษะการค้นคว้า กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการทดลองวิจัย ความรู้ที่เป็นศาสตร์เฉพาะด้าน หรือความสร้างสรรค์ในตัวผู้เรียน แต่ยังฝึกให้ผู้เรียนมีจิตสาธารณะ คือ การนำความรู้ และทักษะที่ได้ศึกษาค้นคว้ามาสร้างประโยชน์ และคุณค่าต่อมวลชน
รายการอ้างอิง
Woods, G. (2022, April 4). Independent study allows high school students to follow their passions. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/independent-study-allows-high-school-students-follow-their-passions
Teachers As Learners. (ม.ป.ป.). รายวิชา IS1 การศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้. EDUCA. https://www.educathai.com/videos/110
Trinity. (n.d.). How to design an independent study. Trinity College. https://www.trincoll.edu/educ/independent-study/
ฟาฏินา วงศ์เลขา. (2555, 3 ธันวาคม). บันได 5 ขั้น สู่รายวิชา IS : การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง. Thaischool. http://www.educationnews.in.th/25015.html