Knowledge
เตรียมนักเรียนประถมศึกษาให้มีความรู้ทางการเงิน
2 years ago 2034เอกปวีร์ สีฟ้า
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์โดย David Whitebread และ Sue Bingham พบว่านิสัยทางการเงินจะถูกกำหนดไว้ตั้งแต่อายุ 7 ปี เท่ากับว่าหากเราสามารถปลูกฝังความรู้ทางการเงินให้เด็ก ๆ ได้ตั้งแต่ตอนที่เรียนในระดับประถมศึกษา ก็จะกลายเป็นทักษะที่ติดตัวเด็กไปจนโต ทั้งยังเป็นประโยชน์ในการวางแผนและตัดสินใจใช้จ่ายเงินได้อย่างเหมาะสมตั้งแต่เด็กด้วย รวมถึงไม่ตกเป็นเหยื่อของปัญหาทางการเงินต่าง ๆ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสอนในห้องเรียน เนื่องจากไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีความพร้อมในการสอนลูกด้านการเงิน เห็นได้จากสถิติการประสบปัญหาเงินไม่พอจ่ายและวิธีที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศไทยเคยประสบปัญหาเงินไม่พอจ่ายสูงถึงร้อยละ 62
ถ้าสอนความรู้ทางการเงินให้เด็กประถมศึกษา ครูควรจะสอนเรื่องอะไรบ้าง
ระดับประถมศึกษา เด็กในวัยนี้จะเริ่มใช้จ่ายเงินได้ด้วยตนเอง และบริหารเงินก้อนเล็ก ๆ ได้แล้ว ครูจึงมีหัวข้อและประเด็นที่สามารถยกมาพูดคุยกับเด็ก ๆ ได้ในหลายเรื่อง เช่น
1. ที่มาของเงิน บ่อยครั้งที่เด็ก ๆ เห็นคุณพ่อ คุณแม่ กดเงินออกมาจากตู้กดเงิน อาจจะทำให้เด็กเผลอเข้าใจไปว่าตู้กดเงินคือที่มาของเงิน การให้ข้อมูลถึงแหล่งที่มาของเงินจะทำให้เด็กตระหนักในการใช้เงินมากขึ้น เมื่อรู้ว่าพ่อแม่ต้องออกไปทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนที่จะนำไปใช้จ่ายในครอบครัว
2. การบริหารเงินที่ได้รับ เด็ก ๆ มักได้รับเงินมาใช้จ่ายที่โรงเรียนเพื่อซื้ออาหารกลางวันและขนม หรือสิ่งของอื่น ๆ การให้ความรู้กับเด็กในเรื่องการบริหารเงินจะทำให้เด็กสามารถแบ่งเงินที่ได้รับมาใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังสามารถสอนให้พวกเขานำเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายมาเก็บออม เนื่องจากเด็ก ๆ ย่อมมีสิ่งที่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาตัวใหม่ เซ็ตตัวต่อเลโก้ชุดโปรด หากสอนให้พวกเขาเก็บเงินก่อนซื้อของที่อยากได้ จะช่วยฝึกความอดทนรอคอย และช่วยเสริมให้มีความตระหนักในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น
3. การเปรียบเทียบราคาและหาข้อมูลของสินค้า ในช่วงวัยที่มีเด็ก ๆ เริ่มมีความต้องการซื้อที่มากขึ้น หากเด็ก ๆ สามารถนำทักษะทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการเปรียบเทียบราคาของสินค้าประเภทเดียวกัน ประกอบกับการหาข้อมูลของสินค้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ จะทำให้พวกเขาสามารถเลือกซื้อของได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น กล่าวคือ ได้ของที่มีคุณภาพและปริมาณใกล้เคียงกันด้วยการจ่ายที่น้อยลง
แนวทางสำหรับครูและผู้ปกครองเพื่อเสริมความรู้ทางการเงินให้เด็กประถมศึกษา
1. เปิดบัญชีธนาคารฝากออมทรัพย์ให้ เมื่อเด็ก ๆ อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา ควรเปลี่ยนรูปแบบการออม จากเดิมที่เก็บสะสมเงินไว้ในกระปุกออมสินควรเปลี่ยนมาฝากในธนาคาร เพื่อให้เด็กเรียนรู้และคุ้นชินกับผลตอบแทนที่จะได้รับ หากเด็ก ๆ ได้เห็นว่าเงินที่พวกเขาฝากไว้ในธนาคารนั้นมีการให้ดอกเบี้ย พวกเขาย่อมรู้สึกดี หากครูและผู้ปกครองได้ชวนพวกเขาพูดคุยว่าเมื่อมีเงินฝากเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เด็ก ๆ คงจะอยากฝากเงินมากขึ้น เนื่องจากอยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น
2. เล่นขายของ เด็ก ๆ ในวัยนี้มักจะชื่นชอบการเล่นบทบาทสมมติ การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้จำลองตนเองเป็นแม่ค้า ลูกค้า แล้วใช้สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรหรือเหรียญปลอม จะทำให้พวกเขาเข้าใจหน้าที่ของเงิน ซึ่งก็คือเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการนั่นเอง
3. กำหนดเงินค่าขนมเป็นรายวัน เมื่อไปโรงเรียนหรือไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดข้อตกลงกับเด็ก ๆ ได้ว่าเงินที่ให้เป็นค่าขนมรายวัน พวกเขาจะต้องเป็นคนจัดการเอง เมื่อหมดแล้วจะขอเพิ่มไม่ได้ จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทักษะการบริหารจัดการเงินก้อนเล็ก ๆ ที่ได้รับในแต่ละโอกาสได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. สอนการออมด้วยหลักการ 3 ขวดโหล ได้แก่ ขวดโหลแห่งการออม ขวดโหลแห่งการใช้จ่าย และขวดโหลแห่งการแบ่งปัน วิธีนี้จะช่วยให้พวกเขาได้ฝึกแบ่งจุดประสงค์ของเงินก้อน โดยขวดโหลแห่งการออมจะช่วยสอนเด็ก ๆ ให้ฝึกตั้งเป้าหมายว่าจะออมเงินไปเพื่ออะไร อาจจะเป็นการออมเพื่อตนเองหรือคนอื่นก็ได้ ส่วนขวดโหลแห่งการใช้จ่าย จะช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ จัดสรรงบประมาณในการซื้อของในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ของเล่น หรือสิ่งไหนที่ผู้ปกครองตัดสินใจว่าต้องการให้พวกเขาซื้อโดยใช้เงินเก็บของตัวเอง สุดท้ายขวดโหลแห่งการแบ่งปัน จะช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ รู้จักการแบ่งปันหรือเสียสละเพื่อผู้อื่น
5. ให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมในการออกเงินเพื่อซื้อของที่พวกเขาอยากได้ หากเด็กลูกหลานมีของที่อยากได้ การตั้งข้อตกลงร่วมกันว่าพวกเขาจะต้องจ่ายครึ่งหนึ่งหรือสัดส่วนที่กำหนดของราคาทั้งหมดถือเป็นวิธีที่น่าสนใจ เนื่องจากจะทำให้พวกเขาเข้าใจต้นทุนของสินค้า และยังเรียนรู้ได้ว่าจะต้องเก็บเงินนานขึ้น หากอยากได้สินค้าที่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งจะช่วยปลูกฝังนิสัยการไม่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยให้กับเด็ก ๆ ด้วย
6. สอนด้วยบอร์ดเกม การให้เด็กวัยนี้ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นบอร์ดเกม นอกจากจะสนุกแล้วยังได้ความรู้อีกด้วย ซึ่งบอร์ดเกมที่แนะนำ ได้แก่ Monopoly หรือเกมเศรษฐี ซึ่งจะช่วยให้ได้เรียนรู้ในเรื่องของการวางแผนการเงิน อีกบอร์ดเกมที่น่าสนใจคือ Get Rich Quick ซึ่งเป็นบอร์ดเกมจำลองชีวิตของคนเรา ทั้งในแง่การทำงาน การลงทุนและความสุข
นอกจากจะส่งเสริมให้เด็กมีทักษะทางวิชาการ กิจกรรม กีฬาและดนตรีแล้ว ความรู้การเงินก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ครูและผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม หากเด็กมีความรู้ทางการเงินดี ก็จะสามารถวางแผนจัดการเงินของตัวเอง และรับมือกับปัญหาทางการเงินได้อย่างถูกวิธี
แหล่งที่มา
Banzai. (2022, June 13). 3 jar allowance for kids. https://banzai.org/wellness/resources/three-jar-allowance-for-kids
Kurt, D. (2022, February 12). Everyday activities to teach financial literacy to kids. Investopedia. https://www.investopedia.com/everyday-activities-that-can-teach-financial-literacy-to-kids-5091909
Moneyclass. (2564, 15 พฤษภาคม). สอนลูกเรื่องลงทุน. https://moneyclass.co/สอนลูกเรื่องลงทุน/
Moneyclass. (2565, 27 มกราคม). 4 บอร์ดเกมเสริมทักษะการเงิน ที่ใช้สอนเด็กได้!. https://moneyclass.co/4บอร์ดเกมเสริมทักษะการเงิน/
กองทุนการออมแห่งชาติ. (2563, 15 ตุลาคม). 5 นิสัย ปลูกฝังให้เด็กใช้เงินเป็น. https://www.nsf.or.th/node/967
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2564, 12 มีนาคม). บทสรุปสำหรับผู้บริหาร “การออมของครัวเรือนไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2563. http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/สำรวจ/ด้านสังคม/รายได้รายจ่ายครัวเรือน/การออมภาคครัวเรือนของไทย.aspx