Knowledge

เสริมทักษะ SEL ผ่านกิจกรรมนอกบทเรียน

เสริมทักษะ SEL ผ่านกิจกรรมนอกบทเรียน

 1 year ago 2818

เอกปวีร์ สีฟ้า

          หลายคนคงจะเคยได้ยินคำว่าทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (social and emotional learning; SEL) ซึ่งก็คือกระบวนการที่เด็กสามารถเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตน ตั้งเป้าหมาย เข้าใจและแสดงความเห็นใจผู้อื่น ตลอดจนสร้างและการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นกันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังคิดกิจกรรมที่จะจัดให้กับนักเรียนหรือบุตรหลานไม่ออก ว่าจะพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับพวกเด็ก ๆ ได้อย่างไรบ้าง ในบทความนี้ EDUCA ขอนำเสนอตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถสอดแทรกทักษะ SEL ให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนกัน

5 กิจกรรม เสริมสร้างทักษะ SEL ให้กับเด็ก ๆ
          SEL นั้นประกอบไปด้วย การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness) การรู้จักบริหารจัดการตนเอง (Self-management) ความเข้าใจหรือตระหนักรู้ด้านสังคม (Social awareness) มีทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills) และการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ (Responsibility decision making)

1. กิจกรรมวาดภาพสื่ออารมณ์
ทักษะ SEL ที่เด็กจะได้รับ : การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness)
อุปกรณ์ที่ใช้ : อุปกรณ์ศิลปะ และเพลง
ศิลปะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมกับเด็กทุกเพศทุกวัยในการช่วยให้แสดงออกทางอารมณ์ในทางบวก ครูหรือผู้ปกครองสามารถเริ่มต้นด้วยการเลือกเพลง บทกวี หรือเรื่องเล่ามาให้เด็ก ๆ ฟัง จากนั้นให้พวกเขาวาดภาพแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกที่พวกเขามีต่อสิ่งที่ได้ฟัง โดยครูหรือผู้ปกครองสามารถกระตุ้นเด็ก ๆ ด้วยการถามว่า “สิ่งที่ได้ฟังทำให้หนูรู้สึกอย่างไร” “เพลงที่ได้ฟังนั้นมันเป็นเพลงที่มีความสุขหรือเศร้า”

เสริมทักษะ SEL ผ่านกิจกรรมนอกบทเรียน

2. กิจกรรมหน้าที่ฉันคืออะไร
ทักษะ SEL ที่เด็กจะได้รับ : การรู้จักบริหารจัดการตนเอง (Self-management) และการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ (Responsibility decision making)
อุปกรณ์ที่ใช้ : ตารางเวรประจำวัน แผ่นป้ายชื่อ อุปกรณ์ในการทำงานที่เด็กแต่ละคนจะได้รับมอบหมาย
โรงเรียนและบ้านเป็นสถานที่ที่สามารถลองกำหนดหน้าที่ตามความเหมาะสมให้เด็ก ๆ ได้ฝึกรับผิดชอบได้ เช่น การกวาดห้อง ลบกระดาน รดน้ำต้นไม้ ปิด-เปิดไฟ จัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ ซึ่งการกำหนดหน้าที่ให้กับเด็ก ๆ แต่ละคนนั้นอาจจะใช้การจับฉลากให้เด็ก ๆ เป็นคนจับเลือกหน้าที่เอง เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นให้กับเด็ก ๆ

3. กิจกรรมละลายพฤติกรรม (Icebreaker activities)
ทักษะ SEL ที่เด็กจะได้รับ : การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness) และทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)
อุปกรณ์ที่ใช้ : ไม่มี
กิจกรรมละลายพฤติกรรมเป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับการให้เด็ก ๆ มาทำความรู้จักกันให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะรู้จักกันมาก่อน หรือว่าเพิ่งเคยเจอกันเป็นครั้งแรก ผ่านรูปแบบคำถามหรือเกมที่ง่าย ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ตึงเครียด ตัวอย่างคำถาม เช่น “วันหยุดที่สนุกเป็นอย่างไร” “ถ้ามีเงินหนึ่งล้าน สิ่งแรกที่จะทำคืออะไร” หรือ “ถ้าต้องเลือกเป็นสัตว์ 1 ชนิด จะเลือกเป็นสัตว์อะไร”

เสริมทักษะ SEL ผ่านกิจกรรมนอกบทเรียน
4. กิจกรรมเรื่องเล่าของพวกเรา

ทักษะ SEL ที่เด็กจะได้รับ : ความเข้าใจหรือตระหนักรู้ด้านสังคม (social-awareness) และทักษะด้านความสัมพันธ์ (Relationship skills)
อุปกรณ์ที่ใช้ : บัตรคำที่มีการเขียนคำหรือรูปภาพไว้
ก่อนจะเริ่มกิจกรรม ครูหรือผู้ปกครองต้องจัดลำดับคิวให้เด็ก ๆ แต่ละคน เพื่อใช้เป็นลำดับในการเล่าเรื่อง เมื่อเด็ก ๆ ทุกคนมีลำดับเป็นของตัวเองแล้ว จากนั้นให้ครูหรือผู้ปกครองแจกบัตรคำให้เด็ก ๆ และเริ่มกิจกรรมด้วยการขึ้นต้นเรื่องเล่าว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” และให้เด็กที่ได้ลำดับที่ 1 เริ่มแต่งเรื่องราวที่เกี่ยวกับบัตรคำที่ได้รับ จากนั้นให้เด็กแต่ละคนเล่าเรื่องต่อ ๆ กันตามลำดับไปจนถึงคนสุดท้าย เมื่อเรื่องราวจบลงให้ถามคำถามกับเด็ก ๆ เช่น “เรื่องเล่านี้ทำให้พวกหนูรู้สึกอย่างไร” “ส่วนที่สนุกที่สุดของเรื่องเล่านี้คืออะไร” “ส่วนที่สนุกที่สุดของเรื่องเล่านี้คืออะไร” “ส่วนที่น่าเศร้าที่สุดของเรื่องเล่านี้คืออะไร”

5. กิจกรรม “ฉันมาจากไหน (Where I came from?)”
ทักษะ SEL ที่เด็กจะได้รับ : การตระหนักรู้ในตัวเอง (Self-awareness)
อุปกรณ์ที่ใช้ : รูปภาพในวัยเด็ก 1 รูป
หากเป็นคุณครูให้รวบรวมรูปภาพในวัยเด็กของนักเรียนทุกคน จากนั้นค่อย ๆ สุ่มภาพนักเรียนออกมา แล้วให้เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนร่วมกันทายว่ารูปนี้คือภาพในวัยเด็กของใคร เมื่อทายถูกแล้ว ก็ให้เรียกเด็กคนที่เป็นเจ้าของรูปออกมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัยเด็ก เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกันมากขึ้น แต่หากเป็นผู้ปกครอง ก็ใช้การเปิดภาพในวัยเด็กแล้วชวนบุตรหลานพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวในวัยเด็กของพวกเขา

          ทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมถือเป็นทักษะที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ดังนั้นการเสริมสร้างทักษะเหล่านี้ให้มีในตัวเด็ก ๆ ก็ไม่ควรที่จะเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามไป แต่ในการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะ SEL ให้เด็ก ๆ นั้นก็ควรมุ่งเน้นไปที่ความสนุกสนานของพวกเขาเป็นสำคัญ และมองเรื่องทักษะที่เด็กจะได้รับจากการทำกิจกรรมเป็นผลพลอยได้ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมนั้นเป็นไปเพื่อเด็ก ๆ โดยแท้จริง

แหล่งอ้างอิง
Kampen, M. (2019, April 19). 25 Social Emotional Learning Activities & How They Promote Student Well-Being. Prodigy. https://www.prodigygame.com/main-en/blog/social-emotional-learning-activities/

Minero, E. (2017, February 14). 13 Powerful SEL Activities. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/13-powerful-sel-activities-emelina-minero

นภัทร สิทธาโนมัย. (ม.ป.ป.). ทักษะอารมณ์และสังคมในเด็ก. https://tmc.or.th/pdf/tmc_knowlege-97.pdf


TAG: #ทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #SEL #Social Emotional Learning #กิจกรรมนอกห้องเรียน #กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน #กิจกรรมการเรียนรู้ #จิตวิทยาการเรียนรู้ #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #สุขภาพจิตและกาย #บูรณาการศาสตร์ #ผู้ปกครอง