Knowledge

รักษ์โลกด้วยการเรียนรู้ : สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเริ่มต้นที่ห้องเรียน

รักษ์โลกด้วยการเรียนรู้ : สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเริ่มต้นที่ห้องเรียน

 2 years ago 6094

จิราเจต วิเศษดอนหวาย

         วิกฤตสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเราจนกลายเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสเพราะเด็กและเยาวชนคือกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเขาคือความหวังที่จะกำหนดทิศทางผลกระทบจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมหากได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียน ครอบครัวและชุมชน เพราะประเด็นสิ่งแวดล้อมสามารถเรียนรู้ได้จากสถานการณ์รอบตัวและไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่ในห้องเรียนเสมอไป บทความนี้ EDUCA ชวนสิรามล ตันศิริ นักออกแบบการเรียนรู้ผู้เชื่อว่าทุกคนเรียนรู้จากธรรมชาติได้ มาร่วมพูดคุยถึงความท้าทาย-ความหวังต่อการขับเคลื่อนการเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน

“การเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมจึงต้องเริ่มต้นจากความ ‘รัก’ ในธรรมชาติ

แล้วการ ‘(อนุ)รักษ์’ สิ่งแวดล้อมจะตามมา”

         การเรียนรู้จากธรรมชาติคือการศึกษาตามแนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งธรรมชาติและสามารถเรียนรู้จากมันได้ พอเราเปลี่ยนจากแนวคิดการเป็นเจ้าของธรรมชาติไปเป็นแนวคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ความรู้สึกอยากปกป้อง ดูแล รักษาและใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะเกิดขึ้น

สิรามล ตันศิริ นักออกแบบการเรียนรู้

ภาพรวมของการเรียนการสอนประเด็นการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยในปัจจุบัน
         ระบบการศึกษาไทยยังให้ความสำคัญกับการให้นักเรียนอยู่ในห้องเรียนและเรียนรู้จากสื่อการเรียนรู้เท่านั้นแต่ไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้นอกห้องเรียน พอเขาไม่เคยออกไปนอกห้องเรียนไม่เคยได้ใช้ประสาทสัมผัสในการทำความรู้จักหรือสัมผัสธรรมชาติ การสานสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับธรรมชาติก็จะไม่เกิด เพราะฉะนั้นพอเจอข่าวไฟไหม้ป่าหรือขยะพลาสติกในทะเล เขาก็ไม่มีความรู้สึกร่วม ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไร หรือปัญหาใหญ่ ๆ อย่างภาวะโลกร้อนเขาก็จะนิ่งดูดาย มันเป็นเหตุเป็นผลกัน เราไม่สามารถสอนให้เขารักธรรมชาติ เห็นคุณค่าของต้นไม้ หรือรักสัตว์ป่าได้ถ้าเขาได้แต่ดูรูปและอ่านจากในหนังสือ ความรู้สึกเหล่านี้ต้องออกไปสัมผัสกับของจริงเท่าที่ทำได้แม้แต่ในพื้นที่ขนาดเล็กเช่น กระถางต้นไม้ ที่ครูสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เขาเข้าใจธรรมชาติ ผลกระทบและประโยชน์ของมันได้

ปัจจัยช่วยและอุปสรรคในการจัดการเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อม
         ประเทศไทยมีพื้นที่ธรรมชาติที่หลากหลายเป็นต้นทุนอยู่แล้วเช่น ป่าไม้ ป่าชุมชน สวนป่า ทะเล และสามารถนำมาจัดกิจกรรมได้หลากหลายรูปแบบทั้งการเรียนรู้กลางแจ้ง (Outdoor learning) โรงเรียนในป่า (Forest school) การเรียนรู้จากธรรมชาติ (Nature-based Learning) เป็นต้น แต่อุปสรรคใหญ่จะอยู่ที่แนวคิดของครูที่ไม่ได้สนใจหรือเห็นความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากนัก ถ้าครูเองยังไม่มีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้จากธรรมชาติก็มีแนวโน้มว่าจะไม่พานักเรียนออกไปเรียนรู้ธรรมชาติและรักษาธรรมชาติ อุปสรรคอีกอย่างคือระบบโครงสร้างการทำงานและระบบการศึกษาที่เพิ่มภาระงานให้ครูมากเกินไปและไม่เอื้อให้นักเรียนได้ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ความท้าทายในการผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักหลักสูตรหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน
         หัวใจหลักของการเรียนรู้จากธรรมชาติเป็นแนวคิดที่ปรับใช้ได้กับทุกวิชาอยู่แล้ว เพียงแค่ครูหาข้อมูลเพิ่มเติม ไปเปิดประสบการณ์และเปิดใจรับแนวคิดนี้ ความเป็นไปได้ที่อยากเสนอคือปรับเปลี่ยนมุมมองการจัดการเรียนรู้ในวิชาลูกเสือเสียใหม่ เพราะแนวคิดดั้งเดิมของวิชาลูกเสือคือเพื่อให้เด็กเข้าใจธรรมชาติ ได้มีโอกาสใช้ชีวิตกลางแจ้ง และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศให้เด็กทุกเพศได้ทำกิจกรรมร่วมกัน หากเราปรับเปลี่ยนแนวคิดในการจัดกิจกรรมลูกเสือให้มีประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้นน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี

สิ่งที่ครูไทยสามารถทำได้ด้วยตนเองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อม
         การเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อมต้องเริ่มจากครูเปิดใจเรียนรู้แนวคิดนี้ หรือหาข้อมูลจากกลุ่มที่จัดการเรียนรู้ในลักษณะนี้ ที่สำคัญคือพาตัวเองออกไปพบและสัมผัสกับประสบการณ์จริงเรียนรู้จากตัวเอง เราเชื่อว่าจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ที่มันเกิดจากการเปิดใจจะทำให้คุณครูจะส่งต่อการเรียนรู้นี้ให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

         คุณมลทิ้งท้ายและให้กำลังคุณครูที่มีใจอยากจะส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้จากธรรมชาติที่จะนำไปสู่การลงมือดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงและยังแนะนำเพจ Facebook : Monature ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์ที่คุณมลตั้งใจที่จะใช้แชร์และบันทึกเส้นทางการจัดการเรียนรู้จากธรรมชาติเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเป็นเพื่อนร่วมทางในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การจัดการเรียนรู้จากธรรมชาติ


TAG: #ทรัพยากรธรรมชาติ #สิ่งแวดล้อม #การอนุรักษ์ #วิกฤตสิ่งแวดล้อม #ภัยธรรมชาติ #การจัดการเรียนรู้ #สังคมศึกษา #ลูกเสือ #การเรียนรู้กลางแจ้ง #กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน #ภาวะโลกรวน #ภาวะโลกร้อน