Knowledge
ห้องเรียนแบบใดที่เรียกว่า Active learning
11 months ago 8667อาทิตยา ไสยพร
Active Learning เป็นวิธีการสอนที่มีเป้าหมายให้คุณครูออกแบบการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้หลากหลายแนวคิดเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ที่นักเรียนตื่นตัวทั้งพฤติกรรมและความคิด เช่น การเรียนรู้โดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้แบบสืบสอบ การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ และการเรียนรู้เชิงรุกกับการมีส่วนร่วมของนักเรียนเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้จากภายในตัวของผู้เรียนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความสนใจและผลักดันให้เกิดขึ้นในห้องเรียนไทยมานาน
แล้วคุณครูเคยสงสัยกันหรือไม่ว่าแบบใดจึงเรียกว่าการสอนที่นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การจัดกิจกรรมที่นักเรียนได้เล่นและทำงานร่วมกันแบบนั้นใช่ Active learning แล้วหรือยัง มาไขข้อสงสัยและความเชื่อผิดเกี่ยวกับ Active Learning ว่าเรายังจัดการสอนแบบนี้อยู่หรือไม่
นักเรียนมีส่วนร่วมนอกเหนือจากการฟังครูบรรยายเป็น Active learning แล้ว
หากใครยังจัดห้องเรียนด้วยแนวคิดนี้ถือว่ายังไม่ถูกต้องทั้งหมด คุณครูหลายท่านอาจคิดว่าการใช้เทคโนโลยีมาส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วม เช่น การตอบคำถามผ่าน Application หรือการเล่นบอร์ดเกมจะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมและเป็น Active Learning แต่กิจกรรมการตอบคำถามผ่านโทรศัพท์หรือเกมต่าง ๆ เหล่านี้นับเป็นแค่เครื่องมือเพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจ แต่ยังไม่อาจบอกได้เป็น “การเรียนรู้” อย่างแท้จริง
การสอนแบบ Active Learning มีหลักแนวคิดอะไรบ้าง
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า การสอนแบบ Active Learning คือการออกแบบโดยใช้การเรียนรู้หลากหลายแนวคิด เป้าหมายเพื่อเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้จากภายในตัวของผู้เรียนเอง ตัวอย่างแนวคิดที่นิยมใช้ เช่น
- Thinking-based Learning การตั้งปัญหาเพื่อให้นักเรียนเรียนได้วิเคราะห์เชื่อมโยงจากสิ่งที่เคยเรียนรู้มา ด้วยการหาหลักฐานข้อมูลแหล่งอ้างอิงเพื่อนำมาสนับสนุนคำตอบของตัวเอง จากนั้นนำสิ่งที่ได้มาสรุป และสะท้อนสิ่งที่นักเรียนได้ค้นพบ
- Learning by Doing การให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงเพื่อให้ได้รับประสบการณ์โดยตรงจากการลงมือทำด้วยตนเอง
- Cooperative Learning การเน้นการมีส่วนร่วม ด้วยการกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ถาม-ตอบในชั้นเรียนซึ่งไม่เพียงช่วยในการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาแต่ยังช่วยในการพัฒนาด้านสังคมให้นักเรียนในห้องเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น
- Inquiry-based Learning การเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้หาความรู้ผ่าน 5 ขั้นตอน ได้แก่ การสร้างความสนใจ (Engagement) การสํารวจและค้นหา (Exploration) การอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation) การขยายความรู้ (Elaboration) และการประเมินผล (Evaluation) แนวคิดนี้เป็นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากนักเรียนจะเป็นผู้มีบทบาทในการเรียนรู้ทุกขั้นตอนโดยที่คุณครูจะไม่ได้เป็นผู้กำหนดหัวข้อหรือนำกระบวนการเรียนรู้ให้
ตัวอย่างกิจกรรมหรือรูปแบบการสอนแบบ Active Leaning
การสอนแบบ Active Learning ใช้ได้ทั้งรูปแบบงานเดี่ยวและงานกลุ่ม เช่น
- การโต้วาที (Debating) เป็นกิจกรรมใช้ได้กับรูปแบบการสอนหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการระดมสมอง (Brainstorming) การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) การเรียนรู้โดยใช้คำถามเป็นฐาน (Question-based learning) ทั้งการใช้แบบสอบถาม การถามคำถามปลายเปิดเพื่อหาข้อสนับสนุนในประเด็นที่จะต้องอภิปรายในการโต้วาที สิ่งที่นักเรียนจะได้รับคือการได้ฝึกทักษะการคิดขั้นสูง ได้ค้นคว้าสืบค้นหาข้อมูลมาเพื่อโต้แย้ง นอกจากนี้ยังได้ทักษะการฟังความคิดเห็นจากมุมมองฝ่ายตรงข้ามด้วย ช่วยพัฒนาด้านการจับประเด็น คิดวิเคราะห์และการนำเสนอในกิจกรรมเดียว
- การแสดงบทบาทสมมติ (Role Playing) เป็นการให้นักเรียนได้สมมติบทบาทตัวเองเป็นตัวละครที่กำหนด โดยทักษะที่นักเรียนจะได้คือการวิเคราะห์ตัวละครจากโจทย์ที่ได้รับวิเคราะห์สถานการณ์ การถ่ายทอดหรือนำเสนอตัวละครที่จะให้ผู้อื่นได้เข้าใจเรื่องราว นักเรียนจะได้ทักษะมากมายทั้งการวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ จากการทำกิจกรรมนี้
- การเรียนรู้จากการเขียนบันทึก (Keeping journals or logs) เป็นการให้นักเรียนได้จดบันทึกเรื่องราวผ่านสิ่งที่ได้พบเจอหรือสิ่งที่อยากบอกเล่า และให้สรุปเหตุการณ์ในแต่ละวันออกมา สิ่งที่นักเรียนจะได้รับคือการเรียบเรียงเหตุการณ์ในแต่ละวันที่เกิดขึ้น การสะท้อนและสรุปในสิ่งที่ได้พบเจอในแต่ละวัน
Active Learning จะประสบความสำเร็จและสมบูรณ์ได้นักเรียนจะต้องได้ใช้ทักษะมากกว่าเพียงการเข้าร่วมกิจกรรมหรือแค่มีส่วนร่วม ดังนั้นการออกแบบการจัดการเรียนการสอน Active Learning คุณครูจะต้องไม่ลืมกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัดในเรื่องของทักษะที่นักเรียนจะได้รับและติดตัวไปใช้ในการพัฒนาตนเองในด้านอื่น ๆ ในอนาคต
อ้างอิง
D-PREP International School. (2566, 2 มีนาคม). Active Learning การเรียนรู้แบบลงมือทำคืออะไร และทางโรงเรียนมีวิธีการส่งเสริมอย่างไร. https://www.dprep.ac.th/th/what-is-active-learning/
ณัฐนรี บัวขม. (2566, 19 สิงหาคม). Inquiry-Based Learning: สนใจ – สงสัย – สืบเสาะ กระบวนการเรียนรู้ที่เปิดให้ผู้เรียนค้นคว้าคำตอบได้ด้วยตนเอง. Mappa Learning. https://mappalearning.co/inquiry-based-learning/
นฤมล ทับปาน. (2564, 5 มกราคม). วิธีสมุดบันทึก: การเรียนรู้บนสมุดไร้เส้น ชวนเด็กคิด อ่าน เขียนอย่างอิสระกับครูใหญ่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ ‘มกุฏ อรฤดี’. The Potential. https://thepotential.org/creative-learning/diary-thinking-reading-writing-skills/
นิภาพร กุลสมบูรณ์ และสุวิมล ว่องวานิช. (2565). Active Learning: จากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สู่ปรัชญาและทฤษฎีรากฐาน ตั้งทิศให้ถูก เพื่อไม่ทิ้งครูให้หลงทางอีกต่อไป. คุุรุุสภาวิทยาจารย์, 3(2), 1-17. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. (ม.ป.ป.). การเรียนการสอนแบบ Active Learning. https://edu.yru.ac.th/knowledge/files/Ex_CoP1.pdf
ลีอาห์ เหงียน. (2566, 29 กันยายน). การเรียนรู้ด้วยการถามคำถาม | 5 เคล็ดลับที่เป็นนวัตกรรมเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน. Ahaslide. https://ahaslides.com/th/blog/inquiry-based-learning/