Knowledge
“ครูใหญ่” สะท้อนการเรียนการสอน ประเมินอย่างไร ? ให้ตรงใจผู้เรียน
3 years ago 3448 ทั่วโลกต่างมุ่งสู่การเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ ไม่ใช่องค์ความรู้เพียงอย่างเดียว เพราะในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิต การทำงาน รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด อย่างโรคระบาดโควิด-19 ล้วนเป็นสิ่งเร้าและผลกระทบที่ทำให้ระบบการศึกษา ซึ่งเป็นหลักในการพัฒนาคนของประเทศต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น และมีสมรรถนะที่จำเป็น
“ฟอรั่มครูใหญ่ : ประเมินอย่างไรตรงใจผู้เรียน ตอบโจทย์สังคมไทยและสังคมโลก” อีกหนึ่งงานเสวนา ในงาน “EDUCA Online Festival 2021 งานเทศกาลมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 14” ระหว่างวันที่ 18-22 ต.ค.2564 จัดโดยบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Thailand Principal Forum) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เริ่มด้วย รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าระบบการศึกษาในปัจจุบัน ผู้เรียนคือคนที่สำคัญที่สุด ฉะนั้น การประเมินผลการเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นการประเมินการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานความรู้ เน้นการตัดสินผล โดย หัวใจการประเมินยุคก่อนๆ คือพยายามวัดให้แม่นยำมากที่สุด เวลาครูออกข้อสอบจะออกให้ยากกว่าที่สอน เด็กต้องมานั่งติวนั่งเรียน และเดาใจครู วัดดวง เด็กจึงฟัง จด ท่อง สอบ และลืม
“โลกเก่าของการประเมินเป็นวัฎจักรการเรียนรู้ที่เด็กไทยจะฟังครูให้มาก แต่การประเมินยุคใหม่จะเป็นไปเพื่อการเรียนรู้ที่เน้นสมรรถนะ การเรียนรู้ที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนทำบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายกับชีวิตของพวกเขา เป็นการบูรณาการทั้งความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นทางจิตวิทยา และครูจะประเมินอะไรก็แจ้งเด็ก เพื่อให้เขาได้เตรียมตัว” ” รศ.ดร.ศิริเดช กล่าว
การประเมินจะวัดได้ทั้งก่อนเรียน ระหว่างเรียน และประเมินหลังเรียน ข้อมูลการประเมินจะไม่ใช่เรื่องคะแนน และเด็กจะสามารถปรับปรุงตนเองได้ โดยครูจะช่วยให้เป้าหมายข้อบกพร่องการเรียนรู้
รศ.ดร.ศิริเดช เล่าต่อว่าการประเมินจะไม่มีอะไรเป็นกล่องดำที่ต้องให้ทุกคนนั่งเดา ทุกอย่างจะตรงไปตรงมา จะเกิดนิสัยให้เด็กไว้วางใจในการเรียนรู้ และเด็กได้รับผลการเรียนรู้ตามที่ตั้งไว้ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข ไม่มีการแบ่งแยก เด็กทุกคนเท่าเทียมกันหมด
ขณะที่ ดร.ศราวุฒิ สุตะวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เล่าว่าโรงเรียนได้นำโมเดล แนวทาง Thinking school based classroom มาเปลี่ยนการเรียนรู้ที่ห้องเรียน โดยขณะนี้มีทั้งหมด 19 หลักสูตร ทุกหลักสูตรจะตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก เพราะเด็กทุกคนมีความเก่งแต่เก่งไม่เหมือนกัน การเรียนหนังสือเพื่ออาชีพ การมีงานทำ เป็นคนดีอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ฉะนั้น การศึกษาต้องจัดเพื่อเด็ก ถอดศักยภาพของผู้เรียน โรงเรียนแห่งนี้จึงไม่ใช่โรงเรียนทางเลือก แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้โอกาสกับนักเรียนทุกคนได้ค้นหาศักยภาพของตนและประสบความสำเร็จ
“โรงเรียนได้ยกเลิกจัดอันดับเด็กเก่งในโรงเรียน ไม่กดดันในการสอบ เลิกสอบกลางภาค/ปลายภาค สอนอะไรก็วัดผลแบบนั้น และให้ครูสร้างสรรค์การสอนใหม่ ศูนย์เทรนครูพัฒนารูปแบบการสอนให้สนุกสนานยิ่งขึ้น และครูเรียนรู้การสอนรูปแบบออนไลน์ ออนดีมาน 60% โดยการวัดประเมินต้องตรงใจเด็ก ครูต้องสอนอะไร เพื่ออะไร ใช้วิธีสอนอย่างไร มีวิธีและประเมินผลอย่างไร สอนแล้วผลเป็นอ่างไร และถ้าเด็กไม่บรรจุตามแผนนั้น ๆ จะมีวิธีการช่วยเหลือหรือแก้ไขอย่างไร”ดร.ศราวุฒิ กล่าว
“โรงเรียนแม่คือวิทยา” มีการกำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้แต่ละช่วงชั้น โดยป.1-ป.3 อ่าน เขียน และคิดคำนวณได้ ป.4-ป.6 ค้นพบความถนัด พหุปัญญา และ ม.1-3 จะมุ่งเน้นให้เกิดแรงบันดาลใจในอาชีพ นายสุริยน สุริโยดร ผู้อำนวยการโรงเรียนแม่คือวิทยา จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ในส่วนของการวัดและประเมินผล โรงเรียนจะเน้นเพื่อการพัฒนา โดยจะให้น้ำหนักที่การประเมินระหว่างภาคปีเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญกับการค้นหาความรู้ กระบวนการลงมือทำมากกว่าการจดจำความรู้ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สรุปความรู้ในรูปแบบที่ตนเองถนัด และผู้ประเมิน ตนเอง เพื่อน ครู ร่วมกันสะท้อนคิด
“ตอนนี้โลกของการเรียนรู้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งโลกมีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ โลกใบใหม่ของเด็กที่เปลี่ยนไป โลกของอาชีพเปลี่ยนไป โลกคนสำเร็จเขาคุยกันแต่เรื่องทักษะ ส่วนโรงเรียนคุยเรื่องอื่น สมดุลการเรียนรู้ K S Aของยุคสมัยเปลี่ยนไป และเด็กไม่มีที่ยืนความสำเร็จในแบบฉบับของตนเอง การศึกษาและการประเมินรูปแบบใหม่ต้องทำให้เด็กไม่เป็นอย่างที่ผ่านมา”นายสุริยน กล่าว
ด้านโรงเรียนในกลุ่มสาธิต อย่าง ดร.ภัทรภร เจนสุทธิเวชกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการหลักสูตรและการสอน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เล่าว่าการวัดและประเมินผล จะวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และประเมินการอ่านคิดวิเคราะห์ และเขียนได้ โดยครูมีการกำหนดเกณฑ์การวัดและประเมินผล และมีการแจ้งประมวลรายวิชาให้แก่นักเรียนได้รับทราบ ซึ่งครูและนักเรียนร่วมกันปรับปรุงเกณฑ์การวัดและประเมินผลให้เหมาะสม มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นนักเรียน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา เล่าว่าโรงเรียนสาธิตพัฒนา ได้ปรับการเรียนการสอน อาทิ กลุ่มเด็กอนุบาลจะจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างกระตือรือร้น/เชิงรุก(Active Learning) เรียนรู้ผ่านการลงมือปฎิบัติ กิจกรรม การเล่น เรียนรู้เป็นทีม และเรียนรู้อย่างมีความสุข ขณะที่เด็กประถม ได้จัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ เน้นความรู้และทักษะ ให้นักเรียนได้เรียนตามความชอบ ความถนัดอย่างสนุกสนาน ค้นหาตัวเองผ่านการจัดการเรียนรู้ ฉะนั้นการประเมินจะเป็นไปตามลักษณะกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ต้องลดความเครียดของนักเรียน และลดภาระผู้ปกครอง ต้องประเมินให้จบภายในห้องเรียน วิเคราะห์เนื้อหาสาระและตัวชี้วัดที่เด็กต้องรู้ควรวัด
ด้าน ดร.วิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เล่าว่านโยบายด้านการทดสอบและประเมินผลได้มีการปลดล็อกในหลายเรื่อง โดยจุดเน้นขณะนี้คือ ลดภาระที่เกิดจากการประเมิน ยึดหลักการประเมินให้ยืดหยุ่นตามบริบทและสถานการณ์ ใช้ประเมินแนวใหม่ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้บริการเครื่องมือมาตรการและคลังข้อสอบ และใช้เครื่องมือประเมินที่ส่งเสริมการคิดและเครื่องมือแบบเขียนตอบ อย่างไรก็ตาม การจะปรับเปลี่ยนที่ดีที่สุด คือ การเปลี่ยน mindset ของผู้บริหารและครู ซึ่งทุกโรงเรียนสามารถนำการประเมินแบบใหม่ไปใช้ได้
ตบท้ายด้วย รศ.ดร.พิมพันธ์ เดชะคุปต์ ข้าราชการบำนาญคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า หัวใจการประเมินผลแนวใหม่จะเน้นเรื่องฐานสมรรถนะ ซึ่งหัวใจการเป็นผู้ประเมินของครูและเด็กจะเป็นไปในเชิงบวก และเมื่อทางนโยบายการประเมินที่มีความยืดหยุ่นบริบทของโรงเรียน จะทำให้โรงเรียนมีอิสระในการคิดหลักสูตร ให้เด็กมาร่วมทำหลักสูตร ทุกคนจะมีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้และการประเมิน อย่างไรก็ตาม โลกนี้หากพยากรณ์ไม่ได้ ต้องการคนที่ปรับเปลี่ยนและปรับตัว อยากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องปรับเปลี่ยนเพื่อความปังในการเรียนการสอนไปสู่เรื่องการประเมิน