Knowledge
SLC เปลี่ยนโฉมครูสู่พัฒนาเด็ก ปรับโรงเรียนสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้
3 years ago 4774 SLC คืออะไร มาทำความรู้จักแนวคิด “SLC (School as Learning Community)” หรือ โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ แนวคิดจากศ.มานาบุ ซาโต และคณะฝึกหัดครูในมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งนำมาใช้ทางการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี และมีการนำมาใช้ในโรงเรียนไทย เพื่อให้เกิดการปฏิรูปโรงเรียน โดยเริ่มจากการพัฒนาครู เพราะคุณภาพของเด็ก เป็นผลสะท้อนจากคุณภาพของครู
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน EDUCA Online Festival 2021 งานเทศกาลมหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 14 ในหัวข้อ SLC Forum | สร้างโรงเรียนแห่งความหวังด้วย SLC ว่า คณะครุศาสตร์ ทำงานร่วมกับโรงเรียนวัดหัวลำโพงและ โรงเรียนพุทธจักรวิทยา ในการนำแนวคิด SLC มาประยุกต์ใช้เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ซึ่งการทำงานโดยใช้แนวคิด SLC จะเป็นพัฒนาครู เน้นการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมพลังตามสภาพจริง และติดตามสัมผัสรับรู้ได้
“หลักการทำงานแนวคิด SLC จะอยู่บนโจทย์ให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่พัฒนาการเรียนรู้ เป็นพื้นที่เปิด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เคารพการอยู่ร่วมกัน รับฟังเสียงของทุกคน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและไม่ทอดทิ้งใครให้อยู่ลำพังในชั้นเรียน ทุกคนต้องได้รับการยอมรับ ซึ่งเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความเก่ง มีสิทธิพัฒนาตามศักยภาพของตนเอง โดยครูต้องเข้าใจว่าเด็กทุกคนแตกต่าง มุ่งสู่ความเป็นเลิศที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่จำเป็นต้องมองให้ไกล เพื่อพัฒนาศักยภาพแห่งการเรียนรู้ทั้งครูและผู้เรียน” ผศ. อรรถพล กล่าว
“SLC” จะพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทุกคนผ่านกระบวนการพัฒนาครูโดยใช้ชั้นเรียนและโรงเรียนเป็นฐาน เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล สู่การเรียนรู้ร่วมกันของคุณครู PLC และสร้างวัฒนธรรมใหม่ การเรียนรู้ร่วมกันของทุกคน ซึ่งจะเป็นการสร้างมิติให้ห้องเรียนไม่โดดเดี่ยว กระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ของครูสู่การเรียนรู้ของเด็ก ๆ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของครูให้เข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับชั้นเรียน โรงเรียน และหน่วยงานภายนอก ทำให้เด็กฟังครู และครูฟังเด็ก
“การเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ ครูให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการเรียนรู้และ ความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนเป็นรายบุคคล วัฒนธรรมการเรียนรู้ของครูและนักเรียนผ่านการเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมพลัง และความเป็นเพื่อนร่วมงานของครูที่สนับสนุนเกื้อกูลกันผ่านวง PLC ในโรงเรียน และกระบวนการ LS ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ มีระบบ Buddy System ที่ทำให้ครูไม่โดดเดี่ยว เกิดการเปลี่ยนผ่านส่งต่อการทำงานของผู้บริหาร ครู และการเชื่อมโยงกับชุมชนทางการศึกษาภายนอก” ผศ.ดร.อรรถพล กล่าว
ตลอด 4 ปี คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้เข้าไปร่วมงานกับโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะครู และผู้บริหารโรงเรียน นายธีรวัฒน์ เลื่อนฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธจักรวิทยา กล่าวว่าการขับเคลื่อนโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ตามแนวคิด SLC ทำให้เห็นถึงความร่วมมือกันของครูทุกคนในการดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึงและรายบุคคล ที่สำคัญทำให้เห็นศักยภาพเด็ก และการเรียนรู้ของเด็กที่ดีขึ้น ส่วนฝ่ายบริหารทำให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ่งมากขึ้นถึงความต้องการของครู และช่วยเด็กแก้ปัญหาให้บรรลุการเรียนการสอนได้ เป็นการทำงานเป็นทีม
“ผอ.จะเข้าใจครู สภาพการพัฒนาเด็กในชั้นเรียนมากขึ้น ซึ่งครูจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเมื่อผู้บริหาร เพื่อนครูเข้าไปในชั้นเรียนจะเป็นเสมือนการเสริมพลัง ช่วยกันแก้ปัญหา และจัดการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียน ขณะเดียวกันชุมชนเกิดความร่วมมือร่วมพลังในการพัฒนาผู้เรียนร่วมด้วย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน คือ เด็กมีความสุข ทำให้ห้องเรียนกลายเป็นห้องเรียนแห่งความอบอุ่น มีการแก้ปัญหาตรงจุด และทุกฝ่ายช่วยกันสร้างโรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้” นายธีรวัฒน์ กล่าว
นายพงศกร อดุลพิทยาภร และนายพลเทพ ดำรงตระกูลกิจ ครูโรงเรียนพุทธจักรวิทยา ช่วยกันเล่าว่าการเปลี่ยนแปลงของครูที่เห็นชัด คือ ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าแสดงออก มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีการใช้คำถามกระตุ้นการคิด เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฎิบัติด้วยตนเอง ภายใต้บรรยากาศในชั้นเรียนที่มีฐานความคิดว่าห้องเรียนเป็นพื้นที่ของเด็ก มีความปลอดภัย จะเห็นได้ว่านักเรียนได้เคลื่อนไหว ลงมือปฎิบัติ มีความสุข และการที่ครูรู้จักเด็กเป็นรายบุคคล ทำให้ครูได้ออกแบบการเรียนรู้แบ่งหน้าที่ชัดเจนตามความสามารถของผู้เรียน จัดกลุ่มแบบหลายรูปแบบ
รวมถึงโรงเรียนได้จัดทำแผนซึ่งเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดการเรียนรู้ Active learning วิเคราะห์ตามความถนัดของนักเรียนเป็นรายบุคคล การใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน คุณครูพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพราะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในกลุ่มของครู และสะท้อนคิดโดยผู้อำนวยการโรงเรียน รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญคณาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
น.ส.อารีวรรณ เพชรเลิศ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหัวลำโพง กล่าวว่าโรงเรียนได้ขับเคลื่อนการพัฒนาการเรียนการสอนตามแนวคิด SLC อย่างเปิดใจ เข้าใจ ยอมรับ และปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนจากโรงเรียนแบบเดิมครูเป็นผู้สอน ครูเป็นผู้ให้และนักเรียนเป็นผู้รับสู่โรงเรียนที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ร่วมกันตลอดเวลา ซึ่งภาพสำเร็จที่จากการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กสูงขึ้น นักเรียนอ่านเขียนคล่อง มีระเบียบวินัย ครูพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยนำสื่อเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และนักเรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่
“ครูมีพลังในตัวเอง มีความตื่นตัว สนใจและใส่ใจในการสอนมุ่งไปที่ผู้เรียนมากขึ้น มีความละเอียดในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน และมีความหลากหลายในการนำเทคนิคการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ เหมาะสมกับผู้เรียนมาใช้ ครูจะพูดน้อยลงและฟังเด็กมากขึ้น ส่วนเด็กพวกเขามีความสุขในการเรียน กล้าทำกิจกรรม กล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น และยอมรับฟังเพื่อนในกลุ่ม ลดช่องว่างระหว่างครูกับเด็ก และผอ.เองก็มีการปรับตัวทำให้เป็นครูสอนเด็ก ครูอยู่กับครูไม่ใช่ผู้บริหาร” น.ส.อารีวรรณกล่าว
ตบท้ายด้วย นางวลีนุช จันมา และน.ส.จิรัสยา สัตตัง ครูโรงเรียนวัดหัวลำโพง เล่าเสริมว่าบรรยากาศในโรงเรียน ชั้นเรียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลายเป็นบรรยากาศเชิงบวกที่ครูทำงานร่วมกันมากขึ้น มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน รวมถึงผู้บริหารที่เข้ามามีส่วนร่วม ครูจะกล้านำเสนอแผนการเรียนการสอนของตนเอง และเมื่อครูได้สื่อสารกับมากขึ้น ทำให้การพัฒนาครูสู่การพัฒนาผู้เรียนไปในทิศทางเดียวกัน ออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน
“ผู้เรียนและครูเกิดสังคมแห่งการช่วยเหลือและแบ่งปัน เด็กเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติจริง เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ทุกคนได้เรียนรู้เท่าเทียมกัน ทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนมีความสุข ครูและเด็กเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นแนวคิดในการพัฒนาครูสู่การพัฒนาผู้เรียน เมื่อเด็กมีศักยภาพมากขึ้น ผู้ปกครอง ชุมชนก็เข้ามาร่วมส่งเสริมทำให้โรงเรียนกลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง” นางวลีนุช กล่าว