Knowledge
SLC Researcher Diary – Log #03 – “ทำงานกลุ่ม” แบบไหนให้เกิดการเรียนรู้
7 months ago 3317วรเชษฐ แซ่เจีย
หัวใจสำคัญของการสร้างโรงเรียนตามแนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community: SLC) คือการสร้างระบบกิจกรรม (activity system) ที่เข้มแข็งและปฏิบัติกันโดยทั่วไปในโรงเรียน ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ (1) การเรียนรู้ในกลุ่มเล็ก ๆ ไม่เกิน 4 คน หรือที่เรียกว่า Gang of Four (2) การสร้างโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้จากกันและกัน และ (3) การเพิ่มเติมศักยภาพของผู้เรียนให้สูงขึ้น
ความสนใจในเรื่องนี้พุ่งสูงเริ่มต้นมาจากการนำเสนอในงานบรรยายสาธารณะในประเทศไทยของผู้พัฒนาแนวคิดนี้อย่าง ศ. มานาบุ ซาโต และครูใหญ่ผู้ปฏิบัติจริงอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ อ. มาซาอากิ ซาโต เมื่อ พ.ศ. 2562 โดยหากพิจารณาเฉพาะเรื่องของงานกลุ่มนั้น จะพบว่าค่อนข้างสอดคล้องและใกล้เคียงกับแนวคิดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่คุณครูน่าจะคุ้นเคยมาก่อน นั่นคือ “เพื่อนช่วยเพื่อน” และ “การเรียนรู้แบบร่วมมือรวมพลัง” (collaborative learning) ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสร้างการเรียนรู้จากการร่วมกันคิดและลงมือปฏิบัติในการทำงานในชั้นเรียน
ว่าด้วยงานกลุ่มในห้องเรียนไทย (เท่าที่สังเกต)
อย่างไรก็ดี ในการนำหลักการกำหนดจำนวนผู้เรียนในลักษณะนี้อาจเป็นไปได้ยาก เพราะด้วยลักษณะทางกายภาพที่ไม่เอื้ออำนวย หรือปัจจัยด้านการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ประกอบกับความไม่คุ้นเคย ทำให้ในห้องเรียนไทยยังคุ้นเคยกับการทำงาน “กลุ่ม” ที่มีขนาดใหญ่ที่อาจมากถึง 8 คน/กลุ่ม โดยเฉพาะในห้องเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมาก เมื่อมีจำนวนกลุ่มน้อยลง ย่อมทำให้การดูแลนักเรียนให้ทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้นง่ายขึ้น
ในแง่ของลักษณะงานกลุ่มจากการสังเกตชั้นเรียนในห้องเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่หน้างานของผู้เขียน พบว่าลักษณะร่วมกันหลายประการ เช่น กำหนดให้นักเรียนแบ่งกันทำงานตามหน้าที่แตกต่างกัน (เป็นต้นว่า ผู้นำ ผู้บันทึก ผู้นำเสนอ ผู้อำนวยความสะดวก) การให้ชุดกิจกรรมหรือใบงาน 1 ชุด/กลุ่ม หรือการจัดกิจกรรมการแข่งขันเป็นกลุ่มในลักษณะของการเรียนรู้แบบร่วมมือ (cooperative learning) ที่มีความสนุกสนาน และให้บรรยากาศการแข่งขันระหว่างกลุ่ม ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะบอกว่าเป็นวิธีการที่ไม่ควรใช้ หรือเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ เพราะรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเป็นดังเครื่องมือในลิ้นชักที่คุณครูสามารถเลือกใช้และหยิบจับมาปรับปรุงและพัฒนาสอดคล้องกับลักษณะเนื้อหาที่สอนในคาบนั้น ๆ และบริบทเชิงกายภาพและบรรยากาศการเรียนรู้ ณ ขณะนั้นด้วย บทความนี้จึงต้องการนำเสนอความเหมือน-แตกต่างกันของลักษณะการเรียนรู้ทั้งสองแบบที่ชัดเจนขึ้น
งานกลุ่มแบบ Cooperative Learning vs Collaborative Learning
จากประสบการณ์การลงพื้นที่ของผู้เขียนร่วมกับ ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และการนำเสนอของ อ. โยชิโกะ คิทาดะ (Yoshiko Kitada) ในการประชุมนานาชาติ โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ครั้งที่ 10 เมื่อ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ผู้เขียนพบว่าในแง่กระบวนการนั้นทั้งสองรูปแบบของงานกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การพัฒนาการเรียนรู้เชิงวิชาการ การส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์และการเรียนรู้ทางสังคม (social learning) และการมุ่งสร้างความรับผิดชอบของนักเรียน
แต่ส่วนแตกต่างสำคัญที่คุณครูอาจมองข้ามไปได้ ก็คือ บทบาทของตนเองในการสนับสนุนการเรียนรู้ในห้องเรียนที่มีระดับการเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนแตกต่างกัน แม้คุณครูจะเป็น facilitator สำคัญ แต่ด้วยธรรมชาติของการเรียนรู้แบบร่วมมือรวมพลังนั้นต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อในกันค่อนข้างมาก ทั้งระหว่างครูกับนักเรียน และนักเรียนด้วยกันเอง ทำให้คนเป็นครูต้องห้ามใจตัวเองไม่ให้รีบบอกคำตอบกับนักเรียนทันที แต่ต้องรอคอยให้นักเรียนได้มีบทสนทนาที่ลุ่มลึกและค้นพบคำตอบด้วยตนเอง
ประเด็น | Cooperative Learning | Collaborative Learning |
บทบาทนักเรียน | มีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานชิ้นนั้น ๆ ชัดเจนตั้งแต่ก่อนเริ่มกิจกรรม | ทุกคนมีส่วนร่วมและพึ่งพาในการทำงาน แต่ไม่กำหนดบทบาทชัดเจน |
สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรม | - ทุกคนมีงานหลักของตนเองตามที่ได้รับมอบหมาย จึงไม่เปิดโอกาสให้มีการช่วยเหลือกันมากนัก - ประเมินความสำเร็จของบทเรียนที่ความสำเร็จของงานเป็นรายบุคคล |
- มีปฏิสัมพันธ์และการช่วยเหลือกันมากกว่า เนื่องจากนักเรียนแต่ละคนต้องแบ่งงานกันเอง-สื่อสารกับเพื่อนตลอดเวลา - ประเมินความสำเร็จของบทเรียนที่การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการและผลลัพธ์ของกลุ่ม |
บทบาทครู | ครูมีบทบาทในการกำกับการทำงานของนักเรียนทุกคน และเข้าไปช่วยเหลือในการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็น | ครูมีบทบาทเป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ แม้จะกำกับติดตามการทำงานของแต่ละกลุ่ม แต่จะไม่เข้าไปแทรกการเรียนรู้ภายในกลุ่มของนักเรียน |
มองผ่านเครื่องมือ…ให้เห็นการเรียนรู้ในใจของนักเรียน
คุณครูหลายท่านต่างมีไอเดียเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่มที่หลากหลาย ไม่เฉพาะที่ผ่านการสั่งสมประสบการณ์ผ่านการปฏิบัติและทดลองใช้จริงเท่านั้น แต่ยังมีคลังความรู้ในโลกอินเทอร์เน็ตที่คุณครูได้กดไลก์-หัวใจ และกดแชร์ไว้ในสื่อสังคมออนไลน์ของแต่ละคนด้วย เครื่องมือและเทคนิคเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กระตุ้นให้นักเรียนสนใจและสนุกสนานไปกับกิจกรรมในชั้นเรียนได้
การเรียนรู้ในห้องเรียนนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากคุณครูยังไม่ได้มองทะลุไปยังการเรียนรู้ของนักเรียน และพิจารณาว่าพวกเขาได้รับความรู้ ทักษะ และเจตคติที่เพียงพอตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นแล้วหรือยัง
แหล่งอ้างอิง
Kitada, Y. (2023, March 3-5). Collaborative Learning for Creating Democratic Classrooms [Conference presentation]. The 10th International Conference of School as Learning Community (SLC), Tokyo, Japan.
Mahavongtrakul, M. (2019, December 2). Two Misconceptions about Group Work/Collaborative Learning. UCI Division of Teaching Excellence and Innovation. Division of Teaching Excellence and Innovation, UCI. https://dtei.uci.edu/two-misconceptions-about-group-work-collaborative-learning/
Yang, X. (2023). A Historical Review of Collaborative Learning and Cooperative Learning. Techtrends, 67(4), 718–728. https://doi.org/10.1007/s11528-022-00823-9