Knowledge
ฝึกเด็กให้รู้เท่าทันสื่อ เริ่มต้นที่รู้เท่าทันตนเอง
4 years ago 5995ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง การเสพสื่อของเรากลายเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส แค่เลื่อนฟีด Facebook ไถหน้า Twitter เช็กข้อความ Line ผ่านโทรศัพท์มือถือ คลื่นข่าวสารมากมายก็ไหลผ่านหน้าจอมือถือเรา แต่เมื่อเราอ่านข่าวนั้นแล้ว เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า รู้สึกอย่างไรต่อข่าวนั้น สุดท้ายแล้ว เราตอบสนองต่อข่าวนั้นอย่างไร แสดงออกในแง่บวกหรือลบ ซึ่งกระบวนการตั้งคำถาม และการวิเคราะห์ข่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด MIDL (Media Information and Digital Literacy) หรือการรู้เท่าทันสื่อ คืออีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นของเด็กในศตวรรษที่ 21 ที่ครูและผู้ปกครองต้องช่วยฝึกฝนให้พวกเขา
อ่านแล้วต้องหยุดคิด ขั้นแรกของการฝึกให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ
ทุกครั้งที่เด็กอ่านข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากสื่อใด ให้ลองวิเคราะห์ว่า ข่าวนั้นถูกเขียนขึ้นอย่างไร ใครเป็นคนเขียน ใช้สำนวนแบบไหน ใช้ภาพแบบใด เล่าเรื่องอะไร ต่อต้านความคิดใด หรือเห็นด้วยกับความคิดใด เสร็จแล้วลองแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ว่า รู้สึกอย่างไรกับข่าวนั้น
เมื่อเด็กสามารถวิเคราะห์ข่าวเบื้องต้นได้แล้ว ประเด็นต่อมาที่เด็กต้องเรียนรู้คือ ข่าวนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว (Private) หรือสาธารณะ (Public) โดยให้จัดประเภทข่าวว่า ข่าวนั้นอยู่ในประเภทใดใน 4 ประเภทนี้ แล้วสนทนาแลกเปลี่ยนกันว่า อะไรเป็นเกณฑ์บ่งชี้ว่า ข่าวไหนเป็น Private หรือ Public
- บุคคล: Public / ประเด็น: Private
- บุคคล: Private / ประเด็น: Private
- บุคคล: Private / ประเด็น: Public
- บุคคล: Public / ประเด็น: Public
ก่อนรู้เท่าทันสื่อ ต้องรู้เท่าทันตนเอง
ข่าวสารต่างๆ ถูกเขียนขึ้นเพื่อหวังผลทางใดทางหนึ่งเสมอ เด็กๆ จึงจำเป็นต้องแยกแยะให้ออกว่า ข่าวไหนจัดเป็น Freedom of Speech – เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือ Hate Speech – คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง แน่นอนว่า ประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคนก็มีส่วนทำให้เราจัดประเภทข่าวต่างกัน
ข่าวหนึ่งอาจเป็นได้ทั้ง Freedom of Speech และ Hate Speech เมื่อเราเสพข่าวที่เป็น Hate Speech เด็กต้องวิเคราะห์ให้ลึกลงไปให้มากกว่าแค่เนื้อหาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูองค์ประกอบทั้งหมด สิ่งสำคัญคือ เราไม่ได้แค่รู้เท่าทันสื่ออย่างเดียว แต่รู้เท่าทันตัวเองว่า วิธีคิดเบื้องหลังที่เรากำลังจะตัดสิน เราคิดอยู่บนเบื้องหลังแบบใด คุณค่าแบบใดที่เราให้ ที่สุดแล้ว เราตอบกลับสื่อนั้นอย่างไร เราตอบกลับอย่างเหมาะสม เป็น Freedom of Speech หรือเราผลิตซ้ำ Hate Speech ขึ้นมา
การรู้เท่าทันสื่อจึงไม่ใช่แค่การรู้เท่าทันสื่อเท่านั้น แต่เป็นการรับรู้ของตนเองที่นำไปสู่การแสดงออกที่เหมาะสม เพราะสุดท้ายแล้ว พฤติกรรมการเลือกรับสื่อของเราจะทำให้สื่อเหล่านั้นดำรงอยู่ได้ แล้วสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความคิดไปทางนั้น
จากหัวข้อ การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
โดย ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1
ครูปราศรัย เจตสันติ์ โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม และคณะ
ในงาน EDUCA 2019
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ