Knowledge
ห้องเรียนยุคใหม่ ก้าวทันภัยอินเทอร์เน็ต
4 years ago 5054ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี รวมทั้งอินเทอร์เน็ตที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการศึกษา กระบวนการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตประจำวันของนักเรียนในปัจจุบัน ประกอบกับสถิติ เวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีนั้นแสดงให้เห็นถึงความนิยมในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็กลับให้โทษแก่ผู้ใช้ได้เช่นกัน หากผู้ใช้ไม่มีความรู้ความเข้าใจรวมทั้งข้อควรระวังในการใช้งานเบื้องต้น เพื่อทำให้การท่องโลกอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์และปลอดภัย การอบรมเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยโดยเริ่มจากห้องเรียนควบคู่การจัดการเรียนรู้นั้นจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญสำหรับนักเรียน
“การสร้างชั้นเรียนเพื่อการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย”
การเตรียมการเพื่อการจัดการอบรมนั้น นอกจากเนื้อหาและข้อมูลที่ครูผู้สอนต้องเตรียมการมาเป็นอย่างดีแล้วนั้น การเตรียมอุปกรณ์และความพร้อมของนักเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง โดยการสร้างข้อตกลงเบื้องต้นที่รับรู้ร่วมกันในชั้นเรียนในหัวข้อที่เรียนรู้เป็นอย่างดีเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น ความซื่อสัตย์ของนักเรียนในการติดตามเนื้อหาที่อบรมโดยไม่แอบไปเข้าเว็บไซต์อื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม การเข้า (sign in) และออก(sign out) ระบบทุกครั้งเมื่อใช้งานอุปกรณ์สาธารณะ และรู้จักแยกแยะโฆษณาปกติกับโฆษณาที่เป็นอันตรายซึ่งมักพบเห็นได้ในอินเทอร์เน็ต การคัดเลือกโปรแกรมหรือเนื้อหาที่เหมาะสมแก่การใช้งานและการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นหลัก เป็นต้น
“สร้างกติกาในการใช้ Social media ที่ปลอดภัย”
ครูควรชี้แจ้งกติกาหรือข้อควรระวังเบื้องต้นที่นักเรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน หรือทุกครั้งที่เล่น social media โดยการเขียนสรุปเป็นข้อย่อยสั้นๆ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจรายละเอียดได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น ดังนี้
1). ไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของตนเองหรือผู้อื่นลงในช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เช่น รายละเอียดที่อยู่ การระบุตำแหน่งที่อยู่ของตนเอง และหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขที่เป็นความลับเฉพาะส่วนบุคคล เป็นต้น
2). พิจารณาให้รอบคอบถึงสิ่งที่จะเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพราะเมื่อทำการเผยแพร่ไปแล้ว สิ่งเหล่านั้นก็จะมีอยู่ตลอดไป
3). ไม่ควรเชื่อใจ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวกับคนที่รู้จักอย่างผิวเผินผ่านสื่อออนไลน์ เนื่องจากอาจเป็นมิจฉาชีพหรือผู้ที่ไม่หวังดีแฝงตัวมา
4). หากเกิดกรณีที่ไม่เหมาะสม เช่น การกลั่นแกล้งรังแกกัน การสร้างความเสื่อมเสียให้ผู้อื่นเกิดความอับอาย หรือพบการกระทำที่ผิดกฎหมาย ให้แจ้งกับผู้ใหญ่ ผู้ปกครองที่ตนเองไว้วางใจเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม
“เทคนิคการสอนใช้อินเทอร์เน็ต และสื่อออนไลน์อย่างปลอดภัยให้สนุกสมวัย”
การสอนหรืออบรมเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์นั้น ควรคำนึงถึงระดับความยากง่าย รวมทั้งความซับซ้อนในการจัดกระบวนการเรียนรู้และอธิบายข้อมูลรายละเอียดที่เหมาะสมให้แก่นักเรียนแต่ละช่วงวัยสามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้มากที่สุด ซึ่งแบ่งเทคนิคการสอนตามกลุ่มช่วงวัยได้ดังนี้
กลุ่มนักเรียนที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ควรมีการกำหนดข้อตกลงร่วมกันที่มองเห็นชัดเจนที่นักเรียนสามารถนำข้อตกลงเหล่านั้นไปใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตในห้องเรียนหรือที่บ้านก็ตาม เมื่อไม่มีครูหรือเพื่อนคอยสังเกตการณ์ก็ตาม นักเรียนก็สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงหรือข้อควรทำในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยได้อย่างเหมาะสมอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังสามารถจัดกิจกรรมที่ช่วยให้นักเรียนได้ตระหนักถึงการรักษาความเป็นส่วนตัว ข้อดีและข้อควรระวังในการคบหาติดต่อกับผู้คนแปลกหน้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยใช้วิธีการพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกันในกลุ่มเพื่อน การแสดงบทบาทสมมติซึ่งสะท้อนจากความคิดเห็นร่วมกันของนักเรียนและครู
กลุ่มนักเรียนที่อายุ 11 – 14 ปี นอกจากการกำหนดข้อตกลงร่วมกันเบื้องต้นของการเรียนรู้แล้วนั้น การจัดกิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุมีผลมากยิ่งขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ตนเองเคยมีประสบการณ์ร่วมกันในกลุ่มเพื่อน เช่น อาจจะจัดกิจกรรมการวิเคราะห์ข่าวและประเด็นที่น่าสนใจซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่น วิธีการสังเกต ตรวจสอบและแยกแยะความจริงความน่าเชื่อถือของข่าวที่นักเรียนพบเห็น รวมทั้งผลกระทบจากข้อมูลปลอม ข่าวปลอมที่มีต่อนักเรียนและผู้อื่น ทั้งนี้ครูทำหน้าที่คอยเสนอความถามชวนคิดหรือช่วยสรุปข้อมูลในบางประเด็นที่ค่อนข้างซับซ้อนให้นักเรียนได้คิดต่อ อย่างไรก็ตามบทบาทการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนจะยึดที่การแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระของนักเรียนเป็นหลัก
“ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน”
แนวทางในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยควรเกิดขึ้นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ควรสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันและกระจายความรู้ไปสู่คนรอบข้างได้อีกด้วย ทั้งนี้การติดตามผลของการอบรมต้องอาศัยบทบาทของครอบครัวในการสังเกตการณ์การใช้อินเทอร์เน็ตของนักเรียนว่าใช้อย่างปลอดภัยและมีความเหมาะสมหรือไม่ โดยวิธีการดังต่อไปนี้ ในกรณีเด็กเล็กต้องคอยระมัดระวังเรื่องการค้นหาหรือใช้เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การจำกัดเวลาของการใช้อินเทอร์เน็ต สังเกตและสอบถามเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่ลูกเข้าใช้บ่อยๆ ลูกมีพฤติกรรมเช่นไร มีการคุกคามผู้อื่นหรือถูกคุกคามหรือไม่ อย่างไรก็ตามในการพูดคุยกันนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองควรมีการสื่อสารใช้คำพูดที่เหมาะสม เป็นเหตุเป็นผล พยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเปิดใจไปพร้อมกัน ทำให้ลูกรับรู้และเชื่อว่าหากมีปัญหาจะสามารถนำมาปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครองได้เสมอ หลีกเลี่ยงคำว่ากล่าวติเตียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกต่อต้านและพยายามปิดบังไม่กล้าพูดคุยอย่างเปิดเผยเพราะกลัวจะถูกต่อว่า เป็นต้น
ที่มา
Internet Safety for Kids & Teens: Teaching Tips for Educators: Resilient Educator. (2020, May 21). Retrieved May 21, 2020, from https://resilienteducator.com/classroom-resources/exploring-the-internet-safely