Knowledge
การรู้เท่าทันสื่อในยุคดราม่าล้นฟีด
2 years ago 6457จิราพร เณรธรณี
สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และหลากหลายรูปแบบทำให้หลายคนเพลิดเพลินกับการ “ไถฟีด” เพื่อติดตามเนื้อหาต่าง ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า ใคร ๆ ก็เป็นผู้สร้างเนื้อหาต่าง ๆ ขึ้นมา แล้วใครคือผู้สร้างเนื้อหานั้น นี่เป็นเพียงหนึ่งในคำถามที่จะช่วยเรียก “สติ” ให้รู้เท่าทันสิ่งที่กำลังอ่านอยู่ในขณะนั้น ก่อนที่จะกดแชร์ แสดงความเห็น เป็นต้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมาทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม ดังนั้น การฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นทักษะที่สำคัญที่ครูช่วยให้ตนเองและผู้เรียนไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อออนไลน์
ก่อนเท่าทันสื่อ ต้องเท่าทันตัวเองก่อน
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจขอบเขตของคำว่า “media” กันก่อน สื่อเป็นช่องทางของการสื่อสารซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของสิ่งพิมพ์และดิจิทัลบนโลกออนไลน์ เช่น ป้ายโฆษณา วิดีโอเกม วิดีโอ รูปภาพ ข้อความ ฯลฯ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่เข้าถึงผู้คนได้อย่างครอบคลุมเนื้อหาและรวดเร็ว แต่ด้วยผลประโยชน์ดังกล่าวนี้ก็ได้สร้างปัญหาได้อย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาล้วนเกิดจากการขาดวิจารณญาณในการรับและส่งข้อมูล เป็นผลให้เกิดความเชื่อที่ผิดเพี้ยน ความเข้าใจผิด การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (cyberbullying) การปลุกปั่นทางความคิด เป็นต้น ทำให้ไม่ใช่แค่การไถฟีด รับข้อมูล และส่งต่อเท่านั้น แต่ยังมีหลักการคิดเข้ามาเป็นเบื้องหลังของการกระทำเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนเป็น “ทักษะ” ได้
ทักษะสำคัญที่ควรมีและควรฝึกฝน คือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) เพราะความคิดเป็นพื้นฐานสำคัญของการสื่อสาร ไม่ว่าจะฟัง พูด อ่าน หรือเขียน ล้วนต้องใช้ความคิด และการคิดอย่างมีวิจารณญาณก็เป็นหนึ่งในทักษะของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 แล้วคิดอย่างไรจึงจะมีวิจารณญาณ คำตอบคือ คิดอย่างมีเหตุผลและถี่ถ้วน การรู้เท่าทันสื่อคือการที่ผู้เรียนรู้จักธรรมชาติและหลักการทำงานของสื่อแต่ละประเภท โดยมีหลักในการวิเคราะห์สื่อผ่านการถามคำถามกับตัวเอง 5 คำถาม ดังนี้
1. ใครเป็นผู้สร้างเนื้อหานั้น
2. ทำไมเนื้อหาจากสื่อนั้นดึงดูดความสนใจตัวเราได้
3. เราตีความเนื้อหาเหล่านั้นว่าอย่างไร
4. เนื้อหาเหล่านั้นมี หรือแสดงคุณค่าอะไรต่อตัวเรา
5. ทำไมเนื้อหาเหล่านั้นจึงถูกสร้างขึ้น สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ใครได้ผลประโยชน์
นอกจากนี้ การคิดประเมินค่าสื่อก็สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการรับข้อมูล หรือเนื้อหาโดยเฉพาะข้อมูลที่มีเนื้อหาจูงใจให้เชื่อ หรือให้ทำ ซึ่งแน่นอน ก่อนที่จะประเมินข้อมูล หรือเนื้อหา จำเป็นที่จะต้องรู้จักและเข้าใจข้อมูล หรือเนื้อหาเหล่านั้นก่อน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
ตัวอย่างการใช้คำถาม 5 ข้อพิจารณาสื่อออนไลน์
จากตัวอย่างโฆษณานี้สามารถนำข้อคำถาม 5 ข้อ มาประยุกต์ใช้ในการฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ได้ดังนี้
1. ใครเป็นผู้สร้างเนื้อหานั้น
เพจใน Facebook ชื่อ Beauty reviewer
2. ทำไมเนื้อหาจากสื่อนั้นดึงดูดความสนใจตัวเราได้
ต้องการให้ใบหน้าเรียวเล็ก สวย และอยากสมัครแอร์โฮสเตส และยังเห็นว่าได้ทั้งส่วนลดและของแถมดีกว่าไปทำศัลยกรรมที่หมดเงินมากกว่า
3. เราตีความเนื้อหาเหล่านั้นว่าอย่างไร
ต้องการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานความงาม โดยการนำเรื่องของ โอกาส การได้เปรียบ-เสียเปรียบมาเชื่อมโยง ทั้ง ๆ ที่ความสามารถเป็นตัวแปรหลักในการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น
4. เนื้อหาเหล่านั้นมี หรือแสดงคุณค่าอะไรต่อตัวเรา
เนื้อหาดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงค่านิยมทางความงามกับโอกาส ซึ่งคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเรานั้นยังไม่เห็นเด่นชัด เนื่องจากสิ่งที่โฆษณานั้นไม่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจนทางการแพทย์ว่า เพียงสายรัดจะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระดูกของใบหน้าได้
5. ทำไมเนื้อหาเหล่านั้นจึงถูกสร้างขึ้น สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร ใครได้ผลประโยชน์
เจ้าของแบรนด์ รวมทั้งแอดมิน (administrator) ที่สร้างเว็บเพจนี้ เนื่องจากเป็นเพจรีวิวความงาม การได้รีวิวของซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นด้านดีมากกว่าด้านเสีย ซึ่งทางเพจก็จะได้ค่าโฆษณาจากแบรนด์ดังกล่าว ที่เอื่อพื้นที่ตลาดออนไลน์ในการโฆษณา หรือแนะนำสินค้าให้
จากการวิเคราะห์ดังกล่าว จะมีน้ำหนักมากขึ้นถ้ามีการหาข้อมูลประกอบทางการแพทย์ หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาสนับสนุนความคิดของผู้วิพากษ์ ซึ่งแม้จะเพียงตัวอย่างโฆษณา แต่ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ โดยเฉพาะผู้เรียนในปัจจุบันที่รักสวยรักงาม ดังนั้นการตัดสินใจไปก่อน โดยไม่คิดอย่างมีวิจารณญาณอาจจะส่งผลเสียตามมาทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้าง
แนวทางการสอนเพื่อให้ผู้เรียนรู้เท่าทันสื่อ
การรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ไม่ใช่ “วิชา” แต่เป็น “ทักษะ” ดังนั้นการให้ความรู้เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญคือการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ และการสอนทักษะที่สำคัญ คือ ครูควรสาธิต หรือยกตัวอย่างสื่อต่าง ๆ แล้วสอนหลักการคิดผ่านเหตุการณ์จริงที่ยกมาเป็นกรณีศึกษา (case study) จะช่วยให้ผู้เรียนเห็นภาพของการนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและสามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตได้จริง
ทั้งนี้การเลือกกรณีศึกษาควรเลือกให้เหมาะสมกับช่วงวัยของผู้เรียน เพราะแต่ละช่วงวัยมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันและควรเป็นกรณีศึกษาที่ใกล้ตัวผู้เรียน จะทำให้สามารถเชื่อมโยงทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่ได้เรียนรู้กับการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ ครูควรสอนให้ผู้เรียนรู้จักอุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่ใช้ผลิตสื่อด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจวิธีการสร้างสื่อเหล่านั้นขึ้นมา รวมถึงเทคนิคการสร้างสื่อเหล่านั้นให้เป็นที่นิยม เพราะการเรียนรู้เบื้องหน้าอย่างเดียวยังไม่ลึกซึ้งพอ การเรียนรู้เบื้องหลังจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการและเทคนิคการสร้างสื่อได้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตามการสอนให้ผู้เรียนรู้เท่าทันสื่อก็ยังไม่สำคัญเท่ากับสอนให้ผู้เรียนรู้เท่าทันตนเอง คือการสอนให้ผู้เรียนระลึกรู้ตัวอยู่เสมอว่าตนเองกำลังคิดและทำอะไรอยู่ ณ ขณะนั้น สิ่งนั้นคือ “สติ” ซึ่งการใช้คำถามถามตนเองอยู่เสมอจะช่วยเรียกสติให้รู้ตัวและให้เราคิดอยู่เสมอ หากเกิดความพลาดพลั้งจากการขาดสติในการเสพสื่อ สิ่งสำคัญคือ การรู้จักรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำและเป็นบทเรียนในครั้งหน้า เพราะความผิดพลาดคือการเปิดโอกาสของการเรียนรู้ ดังนั้นจึงอยากย้ำว่า “เราไม่ได้เรียนรู้เพื่อรู้เท่าทันสื่อเท่านั้น แต่เรากำลังเรียนรู้เพื่อรู้เท่าทันความคิดของตนเองด้วย”
รายการอ้างอิง
McNulty, N. (2021, November 24). Why is internet and social media literacy so important?. Niall McNulty Learning by Design. https://www.niallmcnulty.com/2021/03/internet-literacy-social-media-literacy/
Weinberg, A. (2022, March 10). Helping students find the truth in social media. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/helping-students-find-truth-social-media
EDUCA. (ม.ป.ป.). ฝึกเด็กให้รู้เท่าทันสื่อ เริ่มต้นที่รู้เท่าทันตนเอง. https://www.educathai.com/knowledge/articles/192
ทีมงาน Research Café. (2562, 16 เมษายน). รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ผ่านการออกแบบการเรียนการสอน. Research Café. https://researchcafe.org/digital-media-education/