Knowledge
จะเชื่อได้ไหม เชื่อได้หรือเปล่า การรู้เท่าทันสื่อและข้อมูล ทักษะช่วยผู้เรียน ไม่หลงเชื่อโฆษณาชวนเชื่อ
3 years ago 7181เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร
คุณครู รู้จักคำว่า โฆษณาชวนเชื่อหรือ Propaganda กันบ้างหรือเปล่า ทราบหรือไม่ว่าในปัจจุบันมีการสื่อสารในรูปแบบนี้มากมายที่ทั้งตัวเรา และลูกศิษย์ของเราได้รับจากสื่อต่าง ๆ รอบตัว EDUCA ชวนครูมาทำความรู้จักกับ Propaganda หรือ โฆษณาชวนเชื่อ กัน เพื่อจะได้รู้เท่าทัน และเข้าใจการสื่อสารแบบนี้
โฆษณาชวนเชื่อ เป็นการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อการชักจูงคน โดยเสนอมุมมองเพียงด้านเดียว เป็นรูปแบบการประชาสัมพันธ์ที่ไม่คำนึงถึงความถูกต้องของเนื้อหาข่าวสาร อีกทั้งยังบิดเบือนไปจากความเป็นจริงอีกด้วย มีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้ ผู้ดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อ ข้อความหรือข่าว กรรมวิธีการติดต่อสื่อสาร และบุคคลเป้าหมาย
หลักการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้เกิดการชักจูงผู้คน มีอยู่ 8 ข้อคือ
1) แนบเนียน จนไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ
2) มุ่งบุคคลสำคัญ
3) กลมกลืน สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
4) เล่าย้ำซ้ำทวน ไม่สร้างเรื่องขึ้นใหม่เพื่อป้องกันการถูกจับได้และทำให้เสียความน่าเชื่อถือ สังเกตได้จากโฆษณาชวนเชื่อจะนำเรื่องที่นำมาเป็นประเด็นมาย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้คนได้ยินเรื่องเหล่านี้ซ้ำ ๆ แล้วจะหลงเชื่อไปเอง
5) ปรับเปลี่ยนเสมอ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์
6) พยายามควบคุม ควบคุมข้อมูลผ่านสื่อและคัดเลือกเฉพาะข้อมูลที่เข้าข้างฝ่ายของตนเอง
7) ใช้สื่อกระจาย ด้วยวิธีปากต่อปาก ป้ายประกาศในพื้นที่
8) สร้างสมญานาม ที่ช่วยในการจดจำได้ง่าย
เมื่อรู้หลักการเหล่านี้วิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้ตัวเรา และส่งเสริมให้ลูกศิษย์ของเรามีความรู้ และทักษะในการแยกแยะข่าวจริง ข่าวเท็จ และความคิดเห็น ตลอดจนตัดสินใจได้ว่าจะไม่เชื่อในสิ่งโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ ทักษะในเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ Media Literacy จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คุณครูสามารถสร้างห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ในการรู้เท่าทันสื่อได้ ในขณะที่ Propaganda คือการชักชวนโน้มน้าวให้เชื่อในสิ่ง ๆ ที่โฆษณาหรือชักจูงเรียกว่าเป็นเชื้อโรคที่พร้อมแพร่ระบาดไปทั่วทุกสารทิศ Media Literacy คือ ทักษะที่จะช่วยป้องกันการหลงเชื่อ เปรียบเสมือนวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เชื้อโรคหรือ Propaganda มาชักจูงให้เราหลงเชื่อได้โดยง่าย
การรู้เท่าทันสื่อ ทักษะสำคัญในศตวรรษนี้ที่ทุกคนต้องมี คิด วิเคราะห์ แยกแยะต่อข่าวสารบนโลกอินเทอร์เน็ต คุณครูสามารถสร้างเสริมทักษะนี้แก่เด็ก ๆ ของเราได้ไม่ยาก โดยจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้น
1) สังเกตและตั้งคำถาม มีตัวอย่างข่าวสารที่หลากหลาย เมื่อเจอข่าวสารเหล่านี้ นักเรียนจะสังเกตเห็นในความไม่น่าเชื่อถือและตั้งคำถามอะไรได้บ้าง มีเกณฑ์อะไรที่ใช้ตัดสินใจว่าควรเชื่อหรือไม่เชื่ออย่างไร เพราะอะไร
2) แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ของนักเรียนภายในห้องเรียน ให้นักเรียนนั้นฝึกทักษะการฟัง การแสดงความคิดเห็นของเพื่อนร่วมชั้นเรียน และแลกเปลี่ยนระหว่างกันเพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย และส่งเสริมให้นักเรียนเปิดใจ ยอมรับความแตกต่างในเรื่องของความคิดเห็น
3) ยืนยันด้วยเหตุผล ไม่ตัดสินถูกผิด ยืนยันข้อสรุปของนักเรียน โดยให้นักเรียนบอกเหตุที่ตัวเองเลือกเห็นด้วยกับสื่อนั้นหรือไม่เห็นด้วยกับสื่อนั้นเพราะอะไร ฝึกให้นักเรียนเรียบเรียง และอธิบายประกอบเหตุผลของตัวเองโดยไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิด
4) ประเมินร่วมกัน ร่วมกันประเมิน คุณค่าของสื่อ และเจตนาของข่าวสารต่าง ๆ ที่นำมาเรียนรู้ภายในชั้นเรียน วิธีการประเมินคือนักเรียนสามารถเข้าใจในสิ่งที่สื่อเสนอหรือไม่ ว่าต้องการสื่ออะไร ต้องการคาดหวังหรือโน้มน้าวของผู้รับสื่ออย่างไร และสื่อนี้มีคุณค่าอย่างไร หากนักเรียนสามารถอธิบายและตีความออกมาได้ ถือว่านักเรียนมีความเข้าใจ และมีภูมิคุ้มกันในการรู้เท่าทันสื่อแล้ว
จะเห็นได้ว่า Propaganda มีหลักการ และกลวิธีมากมายที่ทำให้เราคล้อยตาม หรือหลงเชื่อได้โดยง่าย เปรียบเสมือนเชื้อโรคที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ที่เมื่อเราสัมผัสก็พร้อมที่จะเข้าสู่ร่างกายเราได้ทุกเมื่อ และกลไกสำคัญที่ช่วยให้เราปลอดภัยจากเชื้อโรคเหล่านี้คือ ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกิดจากวัคซีนที่เรียกว่า Media Literacy ที่ช่วยให้นักเรียนของเราไม่ถูกเชื้อโรคเหล่านี้ทำร้ายร่างกายด้วยหลักการสังเกตพร้อมตั้งคำถาม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การใช้เหตุผลโดยไม่ตัดสินถูกหรือผิด และประเมินผลสื่อที่ได้รับ วัคซีนเหล่านี้สามารถช่วยให้นักเรียนของเราใช้สื่อได้อย่างปลอดภัย และห่างไกลจากโฆษณาชวนเชื่อพร้อมรับข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในการใช้สื่อในทุก ๆ วัน
แหล่งอ้างอิง
Propaganda. (2564). บทที่ 4 การโฆษณาชวนเชื่อ. 20 มีนาคม 2564, จาก http://www.geocities.ws/cgscsos/psyop-4.pdf
กรุงเทพธุรกิจ. (2563). โฆษณาชวนเชื่อยุคใหม่ ผ่านโซเชียลมีเดีย. 20 มีนาคม 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/897997
Nutthapat Mingmalairak. (2562). อะไรเล่าคือเบ้าของความขัดแย้ง(2) — Propaganda vs Media Literacy. 20 มีนาคม 2564, จากhttps://medium.com/@nutthapatmingmalairak
Patcharee Bonkham. (2560). สอนเด็ก ๆ อย่างไรให้เท่าทันสื่อ. 20 มีนาคม 2564, จาก https://bit.ly/3uqE4Bm
ณิชากร ศรีเพชรดี. (2561). MEDIA LITERACY: หยุดแชร์ข่าวปลอม ด้วยวิชา ‘เท่าทันสื่อ’. 22 มีนาคม 2564, จาก https://thepotential.org/knowledge/media-literacy/