Knowledge

ไอเดียดีๆ สร้างการเรียนรู้ สู้ COVID-19

ไอเดียดีๆ สร้างการเรียนรู้ สู้ COVID-19

 4 years ago 10235

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ


          นอกจากไอเดียการสอนเรื่องการแพร่กระจายของไวรัส ผ่านเกมจำลองโรคระบาดบนเว็บไซต์ EDUCA ที่ทำให้เด็กๆ เห็นเป็นรูปธรรมว่า การแพร่กระจายของเชื้อโรคเกิดขึ้นได้ง่ายดายเพียงใด ทำไมเราจึงต้องระมัดระวังเรื่องการสัมผัส และดูแลสุขภาพอนามัยให้มากขึ้น ยังมีตัวอย่างการสอนที่น่าสนใจจากบทความ What Science Classes Are Teaching Students About Coronavirus โดย Stephen Noonoo มาให้คุณครูไว้เป็นไอเดียเตรียมการสอนในเทอมหน้า ที่อาจจะยังต้องปรับให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ หากสถานการณ์ไวรัสยังไม่ดีขึ้น

จากเกมที่คุ้นเคย สู่อันตรายที่คาดไม่ถึง
          คุณครู Witcher ที่สอนวิทยาศาสตร์ ประยุกต์เอาเกมที่เล่นในงานรับขวัญเด็กเกิดใหม่ มาใช้ในการสอนนักเรียนชั้น ม. 2 ให้เข้าใจเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 โดยใช้เกมที่ชื่อว่า “ห้ามพูดคำว่าเด็ก” มีกติกาให้ผู้เล่นติดเข็มกลัด และหากเผลอพูดคำว่า “เด็ก” ออกมา พวกเขาจะโดนยึดเข็มกลัดไป แต่ครูท่านนี้ปรับกติกาเป็นว่า ถ้าพูดคำว่า “เด็ก” พวกเด็กๆ ต้องเอาเข็มกลัดมาสัมผัสใบหน้าตัวเอง ซึ่งโดยปกติแล้วในช่วงที่มีการระบาดของโรค ผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจะไม่แนะนำให้ทำเรื่องเหล่านี้ เพราะการสัมผัสใบหน้าทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว แต่เด็กๆ มักจะลืมหรือไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้
          เห็นได้ว่า ครูพยายามจะเปลี่ยนสถานการณ์นี้ให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ในเรื่องของสุขอนามัยที่ดีของเด็กๆ เอง และการเล่นเกมก็ช่วยทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องสนุกและมีการปฏิบัติจริงเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ในช่วงที่มีข่าวเรื่องโรคไวรัส พร้อมๆ กับการปิดโรงเรียน ทำให้นักเรียนยิ่งสนใจในประเด็นนี้เป็นพิเศษ ผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีให้เห็นในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ เพราะครูเองก็ต้องรับมือกับคำถามต่างๆ ในเรื่องของสุขอนามัยและการติดต่อของโรค รวมทั้งสร้างความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ซึ่งอยู่เบื้องหลังการติดต่อของเชื้อไวรัสและการแพร่กระจายของโรคระบาดมากยิ่งขึ้นด้วย

สอนวิทยาศาสตร์จากประสบการณ์ตรง และสถานการณ์ใกล้ตัว
          วิธีการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในช่วงไม่กี่ปีนี้มีมาตรฐานใหม่ๆ และส่งเสริมให้มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดประสบการณ์ตรง มีความเชื่อมโยงกับตัวนักเรียน ทำให้บทเรียนมีความหมายต่อตัวเด็กมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สังเกตได้จากทั้งเรื่องของไวรัสและประเด็นอื่นๆ ว่ามีความแตกต่างไปจากการเรียนการสอนแบบบรรยายเมื่อตอนเธอยังเรียนอยู่มาก ด้วยวิธีการสอนที่แตกต่างออกไป ทำให้นักเรียนมีความสงสัย อยากรู้มากขึ้นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เด็กๆ อยากเข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น อยากรู้ว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นได้

ระวังข้อมูลที่มากไป และแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้
          Christine Royce จาก (National Science Teaching Association หรือ NSTA) ซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะครุศาสตร์ที่ Shippensburg University of Pennsylvania กล่าวว่า ครูควรจะเตรียมรับมือกับประเด็นเรื่องไวรัสในชั้นเรียน เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในข่าวสารทุกๆ วันและเด็กๆ เองก็จะต้องมีความสงสัยในสิ่งที่พวกเขาได้ฟังมาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ที่มาของข่าวสารที่คุณครูนำมาแบ่งปันให้กับนักเรียนของตน มีความน่าเชื่อถือมากเพียงใด
          ที่สำคัญควรฝึกให้เด็กคิดว่า คุณภาพของข้อมูลและการมีข้อมูลมากๆ จะช่วยให้เราได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้อย่างไร สิ่งที่น่ากลัวเกี่ยวกับไวรัสโควิด 19 คือการที่เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวไวรัส หรือมีแต่ข้อมูลที่ไม่มีคุณภาพ ตรงกันข้ามหากเรามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากขึ้นเท่าไร สถานการณ์ยืดเยื้อแค่ไหน เราก็จะยิ่งเข้าใจมันได้ดีขึ้นและได้คำตอบที่ชัดเจนได้มากขึ้นนั่นเอง

การเรียนรู้แบบ 3 มิติ...จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
          Scott Johnson ครูวิชาชีววิทยาที่ Century High School in Bismarck, N.D เองได้ใช้โอกาสนี้ทบทวนบทเรียนเรื่องไวรัสวิทยา สำหรับบทเรียนเรื่องของระบบการหายใจ ครูให้นักเรียนวิเคราะห์บทความจาก National Geographic ว่าด้วยผลกระทบของไวรัสโคโรนาที่มีต่อร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการวางแผนว่าจะใช้บทความจากนิตยสารวิทยาศาสตร์ในการเรียนการสอนด้วย เป้าหมายของครู Johnson ไม่ได้จำกัดอยู่กับการอภิปรายบทเรียนที่เขาสอนเท่านั้น แต่เขาอยากจะหาช่องทางในการสำรวจเนื้อหาดังกล่าวจากมุมมองที่กว้างขึ้น และส่งเสริมการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งด้วย
          ครู Johnson ให้นักเรียนประเมินที่มาของข้อมูลที่พวกเขาอ่าน และกระตุ้นให้นักเรียนได้ลองคิดว่าศาสตร์อื่นๆ อย่างชีววิทยา สังคมวิทยา จะเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร กล่าวคือพยายามทำให้นักเรียนได้คิดแบบนักวิทยาศาสตร์และพิจารณาลำดับของการตั้งคำถามที่จะต้องถาม และตอบคำถามเหล่านั้นตามลำดับ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัส Johnson ระบุว่า NSTA จะเรียกการเรียนรู้แบบนี้ว่า การเรียนรู้แบบ 3 มิติ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ทำงานอย่างไร ด้วยการต่อเติมหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปในการตอบคำถามถัดไป อย่างประเด็นของไวรัสโคโรนาที่ตรงกับมาตรฐานวิทยาศาสตร์ชีวิตโดยเฉพาะว่าด้วยเรื่องความแตกต่างระหว่างการติดเชื้อแบคทีเรียกับการติดเชื้อไวรัสนั้น จริงๆ แล้วก็ยังเป็นเรื่องที่ไปแตะชุดทักษะอื่นๆ ที่กว้างกว่าตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานข้างต้น ซึ่งเรียกว่าการปฏิบัติด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงการตั้งคำถามและการระบุปัญหา รวมถึงเรื่องความรู้เท่าทันสารสนเทศโดยทั่วไปและการสื่อสารความคิดที่ซับซ้อน ไวรัสโคโรนานี้กลายเป็นเรื่องที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับความคิดของพวกเราในหลายๆ สาขาวิชาหรือที่เรียกกันว่า Crosscutting Concepts แต่จะเป็นความคิดแบบกว้างๆ เช่น สาเหตุและผลกระทบ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราไม่ปิดปากเวลาไอ จะมีผลกับคนอื่นๆ อย่างไร นอกจากนี้ยังอาจจะหมายรวมถึงการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวกับขนาด สัดส่วนและปริมาณ เช่น ไวรัสแพร่กระจายอย่างไร และมีการแพร่กระจายในอัตราเท่าไร เป็นต้น

จัดการให้ได้กับคอนเซ็ปต์ที่คลาดเคลื่อน
          สำหรับ Jill Ronstadt ครูสอนชีววิทยา ที่ Orange Lutheran High School เมืองออเรนจ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย รู้สึกว่าสถานการณ์ของไวรัสโคโรนานี้ทำให้การรวบรวมเอาบทเรียนที่เกี่ยวข้องเข้ามาในการเรียนการสอนของเธอทำได้ยาก เพราะเรื่องของไวรัสเองก็จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในเนื้อหาเท่านั้น เธอจึงสละเวลา 2-3 ครั้ง ก่อนเริ่มสอนเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อมีนักเรียนเพียงไม่กี่คนของเธอที่เข้าใจว่า ไวรัสมีการทำงานอย่างไรในร่างกายของเรา หรือทำไมยาปฏิชีวนะจึงไม่สามารถใช้งานได้ นอกจากนี้เธอยังใช้เว็บไซต์ของ the Centers for Disease Control and Prevention และแผนที่แสดงการระบาดของไวรัสของ Johns Hopkins ซึ่งใช้ติดตามการระบาดของไวรัสประกอบด้วย ครูวิทยาศาสตร์ทั้งหลายควรถือเป็นโอกาสที่จะได้แบ่งปันบทเรียนว่าด้วยการประเมินข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลทางเทคนิคจากหลายๆ ที่มาและการรับมือกับความเข้าใจผิดต่างๆ เอาไว้ด้วย

          สถานการณ์ใกล้ตัวสามารถสร้างความรู้สึกร่วมที่น่าสนใจ เชื่อมโยงสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้เสมอ หากครูใส่ใจและสร้างสรรค์ เราจะใช้การจัดการเรียนรู้ เกม ข้อมูลทั้งถูกต้องเชื่อถือได้ สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แก่ลูกศิษย์ของเราได้

อ้างอิง
Stephen Noonoo. (2020). What Science Classes Are Teaching Students About Coronavirus, Retrieved March 30, 2020 from https://www.edsurge.com/news/2020-03-09-what-science-classes-are-teaching-students-about-coronavirus


TAG: #COVID19 #โควิด19 #การจัดการเรียนการสอน #บูรณาการ #วิทยาศาสตร์ #Media Literacy #ชีววิทยา #โรคระบาดใหญ่ #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะศตวรรษที่21 #การจัดการเรียนการสอนต่างประเทศ