Knowledge

วิกฤติการณ์สะท้อนปัญหา...เมื่อระบบการศึกษาต้องการความร่วมมือจากครอบครัว

วิกฤติการณ์สะท้อนปัญหา...เมื่อระบบการศึกษาต้องการความร่วมมือจากครอบครัว

 4 years ago 2941

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ในสภาวะวิกฤติหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันขึ้นในโรงเรียน หรือระบบการศึกษาก็ตาม นอกจากบทบาทของครู ผู้บริหารและบุคลากรในโรงเรียนที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วนั้น บทบาทชองผู้ปกครอง หรือ ครอบครัวของนักเรียนเองต่างก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วม และสนับสนุนแนวทางการจัดการของโรงเรียนและครู ความร่วมมือ ความช่วยเหลือ และการสนับสนุนตามแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกัน เพื่อส่งเสริมผลักดันศักยภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างเต็มที่ เป็นพลังขับเคลื่อนระบบการศึกษาในการพัฒนานักเรียนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

“เมื่อโรงเรียนเป็นมากกว่าโรงเรียน...ความร่วมมือระหว่างกันช่วยลดปัญหาความไม่พร้อมของครอบครัวได้”
          ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวในยุคปัจจุบันนั้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนักเรียนและผู้ปกครองบางกลุ่มโดยตรง โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์หรือการเรียนทางไกล ความขาดแคลนด้านทุนทรัพย์ ความรู้และเทคโนโลยี ประกอบกับความต้องการให้โรงเรียนกลับมาเปิดทำการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงนั้น ยิ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญของโรงเรียนในฐานะที่เป็นมากกว่าโรงเรียน มากกว่าสถานที่ที่ให้ความรู้ และให้การอบรมสั่งสอนเยาวชนให้เป็นคนดีมีความรู้ แต่โรงเรียนยังเปรียบเสมือนสถานที่ที่ผู้ปกครองหรือครอบครัวของนักเรียนไว้วางใจได้ว่า บุตรหลานของพวกเขาจะมีอาหารกลางวันทานอย่างเพียงพอ จะได้รับการศึกษาและการอบรมสั่งสอนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพโดยตรงจากครูผู้เชี่ยวชาญ
          ดังนั้น บทบาทของครู ผู้บริหารโรงเรียนจึงถูกยกให้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านวิชาการความรู้และการดำรงชีวิตของนักเรียนต่อกลุ่มนักเรียน และผู้ปกครองที่ขาดความพร้อมในการเรียนทางไกล ขาดเทคโนโลยี ขาดโอกาส และขาดการสนับสนุนที่เพียงพอในการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะจากครอบครัว

          จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น การที่โรงเรียนและครอบครัวจะร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ก็ต่อเมื่อต่างทดแทนจุดอ่อนหรือความไม่พร้อมระหว่างกัน อีกทั้งสร้างเสริมจุดแข็งที่มีร่วมกันให้ดียิ่งขึ้นได้ การจะสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงนั้น นอกจากต้องคำนึงถึงศักยภาพ ปัจจัยความพร้อมในด้านต่างๆ ของโรงเรียนในการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างเต็มที่แล้วนั้น แน่นอนว่าจะต้องคำนึงถึงศักยภาพ และปัจจัยความพร้อมของครอบครัว ทั้งด้านกายภาพ และด้านจิตใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้อง และส่งผลต่อความสามารถและความตั้งใจในการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งสิ้น

“ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและครอบครัว คือรากฐานของการศึกษาที่แข็งแกร่ง”
          การสร้างความร่วมมือระหว่างครู และครอบครัวให้เกิดขึ้นได้นั้น สิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นอย่างแรก คือ การสร้างความตระหนักในบทบาทของผู้ปกครองที่มีผลโดยตรงต่อพัฒนาการของนักเรียน การเชิญผู้ปกครองเข้าร่วมอบรมวิธีการหรือแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้นักเรียนที่ผู้ปกครองสามารถนำไปปฏิบัติตามความพร้อม และความเหมาะสมของบริบท รวมทั้งการสื่อสารเพื่อนำเสนอ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญที่บทบาทของครอบครัวมีต่อการเรียนรู้ของบุตรหลานจึงเป็นส่วนพื้นฐานที่สำคัญในการเริ่มต้น
          ทั้งนี้ แน่นอนว่าความพร้อม และศักยภาพของผู้ปกครองแต่ละคนในการดูแลส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ย่อมแตกต่างกันไป การทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางสังคม และลักษณะครอบครัวของนักเรียน จะช่วยให้การสร้างแนวทางการทำหน้าที่สนับสนุนนักเรียนร่วมกันระหว่างครู และผู้ปกครองให้เป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแนวทางที่ออกแบบขึ้นมาโดยการเก็บรวบรวม และไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน จากมุมมองของครอบครัว ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร และสภาพสังคมที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผลต่อความเชื่อ และรูปแบบการดำเนินชีวิตของนักเรียนนั้น ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็ง และจุดอ่อนของสภาพครอบครัวของนักเรียนโดยรวม นำมาใช้พิจารณาแนวทางการรับมือและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในระบบการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
          การที่ผู้ปกครองตระหนักในบทบาทของตนเองมากยิ่งขึ้น อีกทั้งปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการศึกษา ว่าไม่ได้เป็นหน้าที่ของครู และโรงเรียนเพียงอย่างเดียว ตนเองในฐานะผู้ปกครองก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และการศึกษาของบุตรหลาน สามารถเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการติดตามพัฒนาการของบุตรหลานตนเองอย่างสม่ำเสมอ เมื่อทัศนคติของผู้ปกครองเปลี่ยนแปลงไป ย่อมมีผลต่อการวางแนวทางสร้างความร่วมมือที่เหมาะสมตามศักยภาพระหว่างครู และผู้ปกครองในลำดับต่อไป

“พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส...โรงเรียน ครอบครัวร่วมมือร่วมใจรับมือยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง”
          จากประสบการณ์การเรียนออนไลน์หรือการเรียนทางไกลในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาท่ามกลางสถานการณ์ความจำเป็นที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดทำการได้ตามกำหนดเวลานั้น ยิ่งสะท้อนให้ผู้ปกครองเห็นและตระหนักได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นถึง ความสำคัญของบทบาทครอบครัวที่มีผลต่อการส่งเสริม และพัฒนาการการเรียนรู้ การศึกษาของบุตรหลาน
          แม้ว่าบทบาทของโรงเรียน และครูจะมีความสำคัญและมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้มากแค่ไหน แต่หากครอบครัว และผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดูแลใส่ใจติดตามพัฒนาการของบุตรหลานน้อยเกินไปหรือไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร ศักยภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนก็ไม่อาจพัฒนาได้อย่างเต็มที่อย่างแน่นอน ดังนั้น การพลิกวิกฤติการณ์หรือสถานการณ์ที่ผู้ปกครองต่างมีประสบการณ์ได้รับผลกระทบร่วมกันให้เป็นโอกาส การเชิญชวนโน้มน้าวให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกับการติดตาม สนับสนุนการเรียนรู้ และพัฒนาการของนักเรียนให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้ปกครองเองได้อย่างถูกวิธี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนในท้ายที่สุด

          การสร้างความร่วมมือร่วมใจระหว่างครอบครัว และโรงเรียนในการส่งเสริม สนับสนุน ใส่ใจการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียนทั้งที่บ้านและโรงเรียนควบคู่สอดคล้องกันอย่างสม่ำเสมอ โรงเรียนและผู้ปกครองมีความเข้าใจและตระหนักในบทบาทของตนเอง สามารถแลกเปลี่ยนและสนับสนุนแนวทางการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างสอดคล้องบนพื้นฐานความพร้อมที่ตนเองมี ประสานให้ความช่วยเหลือแก่ครูในทิศทางเดียวกันอย่างต่อเนื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วนั้น ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ อันกระทบต่อการปิดหรือเปิดโรงเรียน นักเรียนจะยังสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องโดยอาศัยบทบาทของผู้ปกครองและครอบครัวที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการเรียนรู้บุตรหลานของตนซึ่งสอดคล้องไปตามแนวทางที่สร้างขึ้นอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

อ้างอิง:
Specialty, S. (2020, March 31). The Importance of Family Engagement in Education. Retrieved June 22, 2020, from https://blog.schoolspecialty.com/importance-family-involvement-education

Children’s Bureau (2016, September). BULLETIN FOR PROFESSIONALS. Retrieved June 22, 2020, from https://www.childwelfare.gov/pubPDFs/f_fam_engagement.pdf


TAG: #การบริหารจัดการโรงเรียน #โรงเรียนและชุมชน