Knowledge

5 บทเรียนจากโรคระบาด สู่การเตรียมพร้อมรับวิกฤตในอนาคตของผู้นำทางการศึกษา

5 บทเรียนจากโรคระบาด สู่การเตรียมพร้อมรับวิกฤตในอนาคตของผู้นำทางการศึกษา

 4 years ago 2873

แปล: พิศวัสน์ สุวรรณมรรคา
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: นัชชา ชัยจิตรเฉลา

          วิกฤตไวรัส COVID-19 ระบาดคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบการศึกษาทั่วโลก แม้หลายๆ ประเทศจะไม่เคยวางแผนเพื่อรับมือกับวิกฤตระดับนี้มาก่อน แต่เหตุการณ์นี้กลับเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมแผนเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งใหม่ในอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ การปรับตัวอย่างรวดเร็ว วางแผนในเชิงกลยุทธ์ และการออกแบบระบบใหม่ คือแนวทางฝ่าวิกฤตของประเทศสหรัฐอเมริกา และนี่คือ 5 บทเรียนที่ผู้นำเขตพื้นที่การศึกษาหลายๆ แห่งของที่นี่ได้เรียนรู้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ และเป็นแนวทางสำหรับผู้นำการศึกษาในการนำมาปรับใช้กับประเทศของตน

          ทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้นก็ตาม หากสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นต้องปิดโรงเรียน สิ่งที่โรงเรียนไม่ควรมองข้ามคือ การสร้างความเท่าเทียมให้แก่นักเรียน ทั้งโอกาสในการเรียนรู้และสุขภาวะที่ดี ซึ่งมีอยู่ 3 ประเด็นด้วยกันคือ

1. บทเรียนออนไลน์ การจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์คือทางเลือกที่มีประโยชน์มากๆ ในสถานการณ์นี้ เขตพื้นที่การศึกษาต้องลุกขึ้นมาปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้เร็วที่สุด โดยจัดเตรียมอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตไว้ให้พร้อมสำหรับนักเรียน ครูเองก็ต้องรู้วิธีจัดการเรียนรู้ออนไลน์ และมีบทเรียนพร้อมที่จะสอนต่อได้ทันที

2. อาหารกลางวัน สำหรับนักเรียนหลายคน อาหารกลางวันที่โรงเรียนอาจเป็นอาหารเพียงมื้อเดียวที่มีสารอาหารครบถ้วนที่พวกเขาจะได้รับตลอดทั้งวัน เมื่อโรงเรียนปิดผู้นำเขตพื้นที่การศึกษาจึงต้องเตรียมการเพื่อส่งอาหารให้กับนักเรียนที่ต้องการ เขตพื้นที่การศึกษาบางแห่งใช้วิธีตั้งศูนย์ไว้หลายๆ แห่งเพื่อให้ครอบครัวของนักเรียนสามารถเข้ามารับอาหารได้ เช่น โรงเรียน ห้องสมุด และย่านใกล้เคียง จากนั้นก็ปรับมาใช้รถโรงเรียนขับไปส่งอาหารยังพื้นที่ต่างๆ

3. บริการสำหรับนักเรียน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดเมื่อโรงเรียนปิดคือ นักเรียนที่ด้อยโอกาสจะยิ่งย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ในช่วงนี้เขตพื้นที่การศึกษาก็ยังคงมีหน้าที่ให้บริการนักเรียนที่ต้องการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษอยู่ แม้บริการเหล่านี้จะไม่สามารถทำได้ด้วยการพบปะกันเหมือนปกติ แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด เขตพื้นที่การศึกษาบางแห่งยังมีการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญให้ที่จะคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของทุกฝ่ายในสถานการณ์นี้

5 บทเรียนจากผู้นำเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อการศึกษาโลกเผชิญวิกฤต

1. การวางแผนมีความสำคัญ
การวางแผนคือการเตรียมรับมือกับวิกฤตที่ดีที่สุด แม้ทั่วโลกจะเผชิญกับการระบาดของไวรัสเหมือนๆ กัน แต่ทำไมเขตพื้นที่การศึกษาบางแห่งถึงสามารถปิดโรงเรียนได้อย่างรวดเร็ว และยังเปลี่ยนมาจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ได้ภายในระยะเวลาไม่นาน นั่นก็เพราะเขตพื้นที่การศึกษาเหล่านั้นมีการเตรียมแผนรับมือกับโรคระบาดไว้ล่วงหน้าถึง 10 ปี หากเราไม่เคยวางแผนสำหรับเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน ก็ไม่ต่างอะไรจากการที่เราต้องสร้างเครื่องบินขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่

2. การสื่อสารมีความสำคัญ
การปิดโรงเรียนย่อมสร้างความกังวลใจให้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง และนักเรียน เพราะเราไม่รู้ว่าการจัดการเรียนรู้จะดำเนินต่อไปอย่างไร เขตพื้นที่การศึกษาจำเป็นต้องสื่อสารถึงแผนการดำเนินงานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รู้ เช่น
- เปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้ว แทนการใช้ Google Classroom เนื่องจากใช้งานได้ง่ายกว่า อีกทั้งผู้ปกครองหลายคนก็ไม่คุ้นเคยกับ Google Classroom มาก่อน
- ส่งอีเมลถึงผู้ปกครองทุกสัปดาห์เพื่ออัปเดตว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง และมีแผนต่อไปอย่างไร
- มีแผนกช่วยเหลือ (Help desk) เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนหรือเทคโนโลยี เขตพื้นที่การศึกษาบางแห่งก็จัดให้มีแผนกช่วยเหลือในโรงเรียนแทนที่จะอยู่ในสำนักงานกลางของเขตเพียงอย่างเดียว เพราะผู้ปกครองมักจะโทรไปที่โรงเรียนมากกว่า

3. ภาวะผู้นำของครูมีความสำคัญ
แม้ว่าการปิดโรงเรียนจะมาพร้อมกับภาระงานใหม่ๆ ที่ท้าทายสำหรับครู แต่สถานการณ์นี้ทำให้เราเห็นถึงศักยภาพอันแข็งแกร่งของครูทุกคน เมื่อพวกเขาต้องรับบทบาทในฐานะผู้นำที่ต้องวางแผน พัฒนาบทเรียน และรักษาความต่อเนื่องของการเรียนรู้ โรงเรียนที่มีชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ที่เข้มแข็งจะยังคงทำงานเชิงรุก และร่วมมือรวมพลังกันเป็นอย่างดี

4. ความท้าทายที่ยังคงมีอยู่
แน่นอนว่าการปรับการจัดการเรียนรู้ให้เป็นออนไลน์อย่างปัจจุบันทันด่วนนั้น ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างราบรื่น ทุกคนยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายๆ ด้าน เช่น
4.1) ความเหลื่อมล้ำของทรัพยากร การระบาดของ COVID-19 ยิ่งขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่จะมีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือสถานที่เงียบๆ ในบ้านของตน ผลที่เกิดขึ้นคือ การจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์จะยิ่งทำให้ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่ขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ตกต่ำลงเรื่อยๆ สิ่งที่ผู้นำเขตพื้นที่การศึกษาต้องทำเป็นอย่างแรก คือการสำรวจความพร้อมของผู้ปกครองว่าที่บ้านของนักเรียนมีสิ่งจำเป็นเหล่านี้หรือไม่ หากไม่มีทางเขตจะได้วางแผนจัดเตรียมอุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ตไว้ให้ หรือใช้วิธีการมอบหมายชิ้นงานให้ทำแทน
4.2) บริการสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ แม้ว่าในบางกรณีการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์จะเอื้อประโยชน์แก่นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ เช่น การควบคุมเสียงหรือฟอนต์ ที่จะช่วยพวกเขาในการอ่านและสื่อสาร แต่เมื่อโรงเรียนปิด ผู้นำเขตพื้นที่การศึกษาก็มีความกังวลว่าจะไม่สามารถติดตามโปรแกรมการศึกษารายบุคคล (Individual Education Programs-IEPs) สำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ วิกฤตนี้จะกระทบต่อการศึกษาของนักเรียนกลุ่มนี้หลายล้านคน เขตพื้นที่การศึกษาจึงต้องปรับแผนการทำงานโดยระดมพลให้บุคลากรเร่งให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษแบบตัวต่อตัว
4.3) ระบบการให้เกรดที่ยุติธรรม ระบบการให้คะแนนนักเรียนตามปกติอาจไม่ยุติธรรมสำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออน์ไลน์ได้ เขตพื้นที่การศึกษาบางแห่งเปลี่ยนไปใช้ระบบผ่าน-ตกสำหรับงานออนไลน์ บางแห่งก็ใช้แนวทางผสมผสาน หากนักเรียนได้เกรดดีขึ้นเมื่อเรียนออนไลน์ พวกเขาก็จะได้เกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้นในปีนั้น แต่ถ้าเกรดลดลง เกรดที่ต่ำลงนั้นก็จะไม่ถูกนับ

5. ไม่กลับไปที่เดิม
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ต่างๆ ของการเรียนรู้ในอนาคตที่จะไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิม สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ นักเรียนจำนวนมากอาจเลือกออกจากระบบโรงเรียน บางส่วนเลือกที่จะเรียนแบบโฮมสคูลแทน หรือไม่ก็ลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนเสมือนจริง วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นกำลังฝึกทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับอนาคตให้แก่ทุกฝ่าย เปิดโอกาสให้เราได้สร้างนิยามใหม่ของการจัดการศึกษา

แม้ทุกประเทศต่างก็มีบริบทการทางศึกษาที่ไม่เหมือนกัน แต่เมื่อโลกเผชิญกับวิกฤตเดียวกัน สิ่งที่ผู้นำทางการศึกษาทำได้ตอนนี้คือ การเรียนรู้จากประเทศอื่นให้มาก ปรับตัวให้ไว และใช้โอกาสนี้เตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้ในอนาคตไว้ให้มากที่สุด เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าวิกฤตครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อไร

อ้างอิง
Rothman, R. (2020). The Mother of Reinvention: How System Leaders Respond in a Crisis. Retrieved September 17, 2020, from https://ncee.org/wp-content/uploads/2020/06/Mother-of-Reinvention-Whitepaper-6.pdf


TAG: #โควิด19 #การจัดการโรงเรียน #โรคระบาดใหญ่ #การบริหารจัดการโรงเรียน #COVID19