Knowledge

โรงเรียนเอกชนกับบททดสอบเตรียมตัวเข้ม ก่อนเปิดเรียน: โควิด-19

โรงเรียนเอกชนกับบททดสอบเตรียมตัวเข้ม ก่อนเปิดเรียน: โควิด-19

 3 years ago 4713

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

'42' เป็นตัวเลขที่กำลังทำให้ทุกโรงเรียนหวั่นใจ เพราะมันคือการระดมสรรพกำลังด้านเงิน และอื่นๆ เพื่อเตรียมการ 42 อย่างให้เสร็จก่อนจะเปิดโรงเรียนให้ได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้

42 มาตรการปรากฏในแบบประเมินตัวเองสำหรับป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ครอบคลุมเรื่องความสะอาดของสถานประกอบการทั้งห้องเรียน และอุปกรณ์การเรียน นโยบายของโรงเรียน การปฏิบัติตัวของครู การเตรียมอาหารกลางวัน และคนทำความสะอาด ถึงแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะประกาศว่าให้โรงเรียนเปิดได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม และรัฐบาลจะประกาศมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 แต่ทุกโรงเรียนจะเปิดได้ต้องปฏิบัติตามกฏของกระทรวงสาธารณสุข โดยต้องเตรียมการให้เสร็จพร้อมตรวจสอบอย่างน้อย 2 อาทิตย์ก่อนเปิดเรียน

ใน 42 ข้อ ข้อแรกก็ทำให้บรรดาเจ้าของโรงเรียนปวดหัวแล้ว นั่นคือการกำหนดให้โรงเรียนวัดพื้นที่ว่างที่ไม่รวมพื้นที่ในอาคาร และพื้นที่จอดรถ พร้อมทั้งกำหนดให้ต้องมีที่ว่างอย่างน้อย 10 ตารางเมตรต่อครูหรือนักเรียน 1 คน พื้นที่ภายในห้องเรียน และห้องพักครูต้องอย่างน้อย 5 ตรม.ต่อคน แน่นอนว่าโรงเรียนใหญ่ๆในเมืองที่มีจำนวนนักเรียนเยอะๆ ไม่น่าจะมีพื้นที่เพียงพอ ถ้าบังคับใช้เกณฑ์นี้อย่างจริงจัง จำนวนโรงเรียนที่เปิดได้คงมีน้อยมาก

เกณฑ์ข้ออื่นปฏิบัติตามได้ง่ายกว่า เพราะทำตามกฎ social distancing ที่ทุกคนคุ้นเคย จะต่างที่ความเข้มข้นกว่า เช่น ในห้องเรียน โต๊ะนักเรียนต้องห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร ระยะห่างในจุดอื่นๆ เช่น จุดวัดอุณหภูมิ เข้าแถวหน้าโรงเรียน ห้องน้ำ แถวรอรับอาหาร ที่ล้างมือ และบริเวณนั่งรอคืออย่างน้อย 1-2 เมตร เหล่านี้โรงเรียนต้องทำเครื่องหมายให้ชัดเจนทุกจุด ซึ่งนั่นคือแทบจะทั่วทั้งบริเวณโรงเรียน

เกณฑ์ที่เข้มอีกข้อคือการเตรียมเจลแอลกอฮอล์ และสบู่ล้างมือ รวมถึงการทำความสะอาดสถานที่บ่อยๆ เช่นทำความสะอาดห้องน้ำทุก 2 ชั่วโมง ภายในห้องเรียน (โต๊ะ เก้าอี้ ของเล่น ลูกบิดประตู และหน้าต่าง) ซึ่งนั่นหมายถึงการสั่งซื้อเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ สบู่ และน้ำยาทำความสะอาดจำนวนมาก นอกจากหน้ากากอนามัยแล้ว คนงานทำความสะอาดยังต้องใส่รองเท้าบู้ท และถุงมือ

คณะกรรมการบริหารโรงเรียนต้องกำหนดนโยบายป้องกันการระบาด และประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรับทราบนโยบาย และปฏิบัติตาม บางโรงเรียนอาจต้องเหลื่อมเวลาทำการสอน และการทานอาหารกลางวัน เพราะคงไม่มีโรงเรียนไหนที่จะมีโรงอาหารกว้างพอให้นักเรียนนั่งได้ในคราวเดียวกัน ในภาวะที่ต้องมีระยะห่าง

สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ปกครองต้องปฏิบัติตามนโยบายเพื่อความปลอดภัยของทุกคน โดยต้องเช็กภาวะสุขภาพของลูกหลานทุกวัน ใครป่วยต้องหยุดอยู่กับบ้าน มิฉะนั้นแล้วอาจจะเอาเชื้อมาปล่อยให้เพื่อน ครู และคนอื่นๆ เพราะลำพังหน้ากากอนามัย และการทำความสะอาดโรงเรียน คงฆ่าเชื้อโรคได้ไม่หมด ทั้งหมดต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากทั้งที่เป็นเงิน และแรงงาน โรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวน 400 คน ครูอีก 30 คน พนักงานในห้องครัว 3 คน และพนักงานทำความสะอาด 3 คน บนพื้นที่ 4 ไร่ ทั้งกระบวนการการเตรียมเปิดโรงเรียน อาจต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ พร้อมทั้งงบประมาณ 30,000 บาท ยังไม่นับค่าซื้อเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์ สบู่ และน้ำยาทำความสะอาดมาเก็บไว้ เพราะยังไม่ทราบอัตราการสิ้นเปลือง ค่าใช้จ่ายอาจดูไม่สูงแต่มันมาเกิดช่วงที่โรงเรียนไม่มีรายได้อะไรเลย แต่กลับต้องมีค่าใช้จ่ายมากมาย

ขณะที่โรงเรียนรัฐสามารถผันงบประมาณจากโครงการที่ไม่เร่งด่วนมาใช้ได้ แต่สำหรับโรงเรียนเอกชน ต้องแบกรับภาระเหล่านี้เอง ในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน และกินเวลานาน ถึงสามเดือนครึ่งโดยที่ไม่มีรายได้ใดๆ ไม่น่าแปลกใจที่สำนักงานการศึกษาเอกชนต้องเสนอโครงการให้เงินกู้ โดยแต่ละโรงเรียน สามารถกู้ได้ถึง 500,000 บาท

ตั้งแต่มีคำสั่งปิดโรงเรียน วันที่ 18 มีนาคม โรงเรียนเอกชนต่างอยู่ไม่สุข มีกฎมากมายให้ศึกษา และปฏิบัติตามมากมาย เริ่มตั้งแต่เมื่อมีนโยบายให้โรงเรียนรัฐทำการเรียนการสอนทางออนไลน์ เริ่มจากวันที่ 18 พฤษภาคม สำหรับโรงเรียนเอกชนก็ต้องทำตามเช่นเดียวกัน และบางที่ต้องเริ่มก่อนหนึ่งอาทิตย์ แต่ก่อนหน้านั้นต้องสำรวจความพร้อมของผู้ปกครองนักเรียนแต่ละคนว่า มีความพร้อมในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อผลสำรวจออกมา สำหรับนักการศึกษาที่จบมาจากต่างประเทศคงเซ็งเมื่อรู้ว่านักเรียนโดยเฉพาะในระดับอนุบาล และประถมศึกษากว่าครึ่งไม่พร้อมทั้งด้านอุปกรณ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต (โดยเฉพาะในต่างจังหวัด) รวมถึงเด็กหลายคนอยู่กับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถจะแนะนำเด็กในการเข้าถึงข้อมูลในการเรียนได้ ไม่วาจะผ่านทางโทรทัศน์หรือช่องทางอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการทดลองเรียนตามระบบของกระทรวงศึกษาธิการของโรงเรียน ผ่านการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมหรือที่เรียกว่า DLTV กลับไม่เป็นที่สนใจของเด็กนักเรียนเท่าไหร่นัก แต่กลับพบว่า การให้เด็กใช้เวลากับการเรียนผ่านแอพพลิเคชัน LINE และ Facebook กลายเป็นช่องทางที่สะดวกมากที่สุดในการรับส่งใบงานออนไลน์ (สำหรับเด็กที่ครอบครัวมีอุปกรณ์) แต่อะไรก็ไม่ดีเท่าการไปหานักเรียนที่บ้านเพื่อรับส่งใบงาน และอธิบาย ซึ่งโรงเรียน และครูต้องทำแม้จะกลัวการติดต่อโรคโควิด-19 ในกระบวนการนี้ต้องมีการพิมพ์ใบงานจำนวนมาก ค่าน้ำมันรถ และค่าเบี้ยเลี้ยงให้ครูที่ออกเยี่ยม (เพิ่งมีประกาศออกมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายนว่าสามารถนำเงินจากงบเรียนฟรี 15 ปีมาใช้ตรงนี้ได้)

นอกจากค่าใช้จ่าย โรงเรียนยังต้องมีการดำเนินการแบบไม่ปกติอีกหลายอย่าง
เช่นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม โรงเรียนต้องแจ้งจำนวนนักเรียนให้กับคนส่งนมในโครงการนมโรงเรียนเนื่องจากรัฐบาลกลัวว่า นักเรียน (โดยเฉพาะที่มีฐานะยากจน) จะไม่ได้ดื่มนมนานเกินไป ต้องมีการส่งนมกล่องให้ก่อนแม้จะยังไม่เปิดเทอม แต่จำนวนเด็กเป็นอะไรที่ไม่แน่นอน เพราะสภาพเศรษฐกิจอาจจะบังคับให้พ่อแม่บางคนมาลาออกให้ลูกใกล้ๆ วันเปิดเทอม ทำให้นักเรียนคนนั้นไม่อยู่ในระบบโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุน แต่เมื่อเด็กได้รับนมไปแล้วก่อนเปิดเทอม ใครจะรับผิดชอบตรงนี้
หลังจากโรงเรียนเปิดเทอม โครงการอาหารกลางวันอาจจะเป็นอีกเรื่องที่ต้องกังวลโดยเฉพาะกับโรงเรียนที่มีนักเรียนจำนวนมาก และต้องให้นักเรียนสลับมาเรียนเนื่องจากต้องเว้นระยะห่าง มีข้อเสนอว่าโรงเรียนที่ได้รับอุดหนุนค่าอาหารต้องส่งเงินนั้นให้กับเด็กตามจำนวนวันที่เด็กไม่ได้มาโรงเรียน นั่นหมายถึงต้องมีการให้ผู้ปกครองเซ็นรับเงินเพิ่มที่โรงเรียนจะต้องเก็บใบเสร็จไว้รอตรวจ เพราะนี่คือการใช้เงินงบประมาณ

ก่อนหน้านี้ในช่วงโรงเรียนปิดเทอม โรงเรียนเอกชนได้รับข้อเสนอมากมายในการนำระบบการเรียนออนไลน์มาใช้ มีการประชุมผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom มากมายกับเจ้าของระบบ นอกเหนือจากการประชุมกับหน่วยงานที่สังกัด แน่นอนว่าเกณฑ์การเตรียมตัวเปิดโรงเรียน 42 ข้อ มันยาก เพราะมันเพิ่มขึ้นมาจากกฎที่มีมาและกำลังจะมี นอกจากนี้ยังต้องรอดูอีกว่า เมื่อคณะกรรมการที่สำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชน ประเมินโรงเรียนแล้ว ผลการประเมินจะผ่านหรือไม่ หรือต้องปรับปรุงอะไร ขณะที่ทั้งโลกยังไม่สามารถค้นหาวัคซีนโควิด-19 การเฝ้าระวัง และการทำงานหนักของครู ผู้ปกครอง ก็ยังต้องดำเนินต่อไป

โรงเรียนเอกชนนอกจากต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แล้ว ตัวเลขจำนวนของโรงเรียนเอกชนในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ที่ต้องปิดตัวไป เมื่อปี 2562 มีจำนวนถึง 66 แห่ง จากจำนวนโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศมี 3,937 แห่ง ส่วนมากเปิดสอนระดับอนุบาลซึ่งเจอปัญหาศูนย์เด็กเล็กของหน่วยงานท้องถิ่นแย่งเด็กอายุ 3 ขวบ ซึ่งไม่รู้ว่าหลังสถานการณ์การระบาดของโควิดสงบลง จะเหลือโรงเรียนเอกชนเท่าไหร่

อย่างไรก็ดี ทุกโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน ก็มีความพร้อมมากๆ ที่จะทำตามเกณฑ์ ตามกำลังของตน เพราะการได้เปิดโรงเรียนอีกครั้งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกับผู้ที่ยังอยากทำกิจการนี้ต่อไป


TAG: #การบริหารจัดการโรงเรียน #โควิด19 #โรคระบาดใหญ่ #COVID19