Knowledge
ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและโรงเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียน
4 years ago 50327เรียบเรียง: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
จากการศึกษาประเด็นการมีส่วนร่วม และความร่วมมือระหว่างชุมชนและโรงเรียน พบว่าการมีส่วนร่วมของครอบครัวหรือสมาชิกในชุมชนล้วนมีความสำคัญ และมีอิทธิพลโดยตรงต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และนักเรียนอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเรียนรู้ การปฏิบัติตน และการประสบความสำเร็จในชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาเพิ่มเติมยังพบว่าปัจจัยบทบาทของชุมชนหรือสภาพแวดล้อมโดยรอบที่อยู่อาศัยของนักเรียนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งควรบูรณาการการทำงานควบคู่ไปพร้อมๆ กับบทบาทของโรงเรียนต่อการพัฒนานักเรียนอย่างยั่งยืน
“เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ”
จากที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชนและโรงเรียนในข้างต้นนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างครอบครัว โรงเรียนและชุมชนที่มีคุณภาพ ซึ่งก็เกิดข้อสงสัยและการตั้งคำถามเป็นอย่างมากว่าความร่วมมือที่ดีที่มีคุณภาพนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร อะไรคือตัวการสำคัญที่จะทำให้ความร่วมมือนั้นเกิดขึ้นอย่างประสบความสำเร็จได้ แนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และการประสานระหว่างส่วนต่างๆ ควรประกอบไปด้วยผู้อำนวยการหรือครูใหญ่ ผู้นำทางการบริหารของโรงเรียนที่เห็นชอบ และให้การสนับสนุนกับความร่วมมือ กลุ่มครูผู้สอนในโรงเรียนผู้มีความสนใจจำนวนหนึ่ง อีกทั้งสมาชิกครอบครัวของนักเรียน ตัวแทนกลุ่มนักเรียน และกลุ่มคนในชุมชนผู้สนใจ ยิ่งไปกว่านั้น ยังหมายรวมถึงการขอความร่วมมือจากโรงเรียน ผู้บริหาร ครู ครอบครัวของนักเรียน นักเรียน และหน่วยงานที่ให้ความสนใจในบริเวณพื้นที่ข้างเคียง เช่น กลุ่มผู้ทำงานเพื่อสังคม มูลนิธิ กลุ่มธุรกิจเพื่อชุมชนหรือหน่วยงานจากภาครัฐที่มีความสนใจในการทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เป็นต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพในความร่วมมือ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถขับเคลื่อนการปฏิบัติและสร้างความร่วมมือระหว่าง โรงเรียน ครอบครัวและชุมชนได้อย่างยั่งยืน
จากการศึกษาเรื่องแผนการหรือโครงการพัฒนาต่างๆ ในโรงเรียน พบว่า สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การสร้างเป้าหมายของการพัฒนาที่ชัดเจน ตรงประเด็น ตั้งอยู่บนความเป็นจริง และสามารถปฏิบัติได้ โดยส่วนใหญ่จะแบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 ด้านหลัก ๆ ที่มุ่งเน้น ดังนี้ ด้านวิชาการ ด้านพฤติกรรมและด้านสภาพแวดล้อมภายในภายนอกโรงเรียน เป็นต้น รวมทั้งกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในแต่ละช่วงเวลาของแผนงานที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการในการพัฒนาความร่วมมือ นอกจากนั้นยังต้องทำการติดตามผลการปฏิบัติงานและปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ ความเหมาะสมของบริบทชุมชนอยู่เสมอ ทั้งนี้รายละเอียด และข้อจำกัดของการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ชุมชนนั้นย่อมแตกต่างกันไป อีกทั้งประกอบไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่ควรคำนึงถึงในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือ อันได้แก่ การเข้าใจและยอมรับค่านิยม วัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งที่คนในชุมชนยึดถือเป็นสำคัญซึ่งแต่ละชุมชนก็มีลักษณะแตกต่างกันไป ไม่ควรตัดสินใจความต้องการหรือความคิดของคนในชุมชนจากมุมมองของผู้ปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการรู้จัก และเข้าใจกลุ่มคนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผู้ที่คนในชุมชนให้การนับถือและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งจะมีส่วนในการชี้นำและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างชุมชนและโรงเรียนให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น การทำความเข้าใจ การรู้จักคนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง และการทำงานเชิงรุกโดยการเข้าถึงพื้นที่ชุมชนให้มากยิ่งขึ้นจะช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นต่อการดำเนินงานในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
“ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน ประสานทรัพยากรในชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต”
บริบทของชุมชนที่รายล้อมโรงเรียนและที่อยู่อาศัยของนักเรียน ล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งสิ้น ข้อจำกัด ความท้าทาย และลักษณะสภาพแวดล้อมของชุมชนต่างก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ลักษณะนิสัย รวมทั้งแบบแผนการดำเนินชีวิตอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าภายในชุมชนเต็มไปด้วยคนว่างงาน มีการใช้ความรุนแรง และถ้อยคำหยาบคายเป็นประจำ เด็กนักเรียนก็มีแนวโน้มจะเลียนแบบและนำเอาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นมาปรับใช้จนกลายเป็นนิสัยได้ ดังนั้น ความพยายามในการจัดการปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่ซับซ้อน รวมทั้งการปรับสภาพแวดล้อมหรือชุมชนซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงต่อเด็ก เยาวชน และนักเรียน จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนและพัฒนาศักยภาพทางการศึกษาของนักเรียนในระยะยาวได้ เช่น การจัดสรรพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือห้องสมุดชุมชนโดยได้รับหนังสือจากโรงเรียนและผู้สนับสนุนในท้องที่ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามาอ่านหนังสือ ทำการบ้านและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น
ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นของความร่วมมือมักจะประสบกับอุปสรรค และการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ก็มีลักษณะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ซึ่งใช้เวลาไปกับการศึกษาบริบทพื้นที่และสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างความร่วมมือจากคนในชุมชน การเรียนรู้ การสื่อสารและทำความเข้าใจบริบทของพื้นที่ชุมชนจะช่วยให้การประสานความร่วมมือเต็มไปด้วยข้อมูลและประชาชนในชุมชนเข้าใจความสำคัญของความร่วมมือ อาจก่อให้เกิดแรงสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย ดังตัวอย่างความสำเร็จจากการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ครอบครัวและโรงเรียน เกิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน” หรือ Community Learning Centers (CLCs) ซึ่งแต่ละศูนย์การเรียนรู้นั้นก็มีลักษณะพิเศษหรือจุดมุ่งเน้นที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของชุมชนและโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ ในบางพื้นที่ความร่วมมือนั้นก่อให้เกิดโครงการที่มีประโยชน์ ลดค่าใช้จ่ายทับซ้อนและลดอุปสรรคที่ขัดขวางการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมากมาย เช่น โครงการอาหารกลางวันฟรีหรือโครงการอาหารกลางวันราคาถูก โดยเป็นการสร้างงานให้แก่สมาชิกชุมชนและช่วยให้นักเรียนเข้าถึงอาหารของโรงเรียนได้ทั่วกันและได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสมในราคาที่ถูกลง หรือ โครงการกิจกรรมสร้างสรรค์หลังเลิกเรียน ที่ซึ่งสมาชิกชุมชน ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสอนการบ้าน เล่นกีฬาและทำงานศิลปะฝึกอาชีพร่วมกันในช่วงหลังเลิกเรียนให้แก่นักเรียนที่อาศัยอยู่ในชุมชนข้างเคียง โดยใช้สถานที่บางส่วนของโรงเรียนในการจัดกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเกิดสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในชุมชน และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดและฝึกทักษะการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนต่างวัยได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อความหลากหลายภายในสังคมและสมาชิกในชุมชน ผู้สูงอายุก็จะได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์และรู้สึกมีคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น ด้วยผลลัพธ์ความสำเร็จอันเกิดจากความร่วมมือของชุมชน ครอบครัวและนักเรียนที่กล่าวมาในข้างต้น จะกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดผลในระยะยาวอย่างแท้จริงมากยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักในความสำคัญและเป้าหมายของความร่วมมือภายใต้บริบททางสังคมและเศรษฐกิจของตน ทั้งมีความเข้าใจในความต้องการของครอบครัว ชุมชนและโรงเรียนนำข้อมูลที่ได้มาประกอบเข้าด้วยกันผ่านการสื่อสาร การพูดคุยทำความเข้าใจซึ่งกันและกันโดยสิ่งสำคัญคือจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ผู้มีส่วนร่วมนั้นมีร่วมกันให้ได้ อีกทั้งเป้าหมายร่วมดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับบริบทและจุดแข็งซึ่งแต่ละชุมชนมีอยู่เป็นทุนเดิมพื้นฐาน เมื่อมีเป้าหมาย มีมุมมองที่เห็นพ้องกัน มีแรงผลักดัน และเกิดความใฝ่ฝันที่จะพัฒนาแล้วนั้น การสร้างความร่วมมือให้สำเร็จนั้นจะทำได้ง่ายขึ้น ลักษณะความร่วมมือจะเป็นไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน เนื่องจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเกิดความตระหนักและดำเนินการขับเคลื่อนความร่วมมือจากความต้องการของพวกเขาเอง ไม่ใช่การทำตามคำสั่งหรือการบังคับอย่างผิวเผิน ไม่เกิดการเรียนรู้พัฒนาหรือปรับปรุงหาแนวทางแก้ไขข้อผิดพลาดเดิม ๆ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดียิ่งขึ้น
ที่มา
Anne Obrien. (2012). The Importance of Community Involvement in Schools. วันที่เข้าถึงข้อมูล 15 สิงหาคม 2563 จาก Edutopia: https://www.edutopia.org/blog/community-parent-involvement-essential-anne-obrien
Dennis Van Roekel, NEA President. Parent, Family, Community Involvement in Education. วันที่เข้าถึงข้อมูล 15 สิงหาคม 2563 จาก NEA Education Policy and Practice Department | Center for Great Public Schools: http://www.nea.org/assets/docs/PB11_ParentInvolvement08.pdf