Knowledge
COVID-19 กับความท้าทายที่แท้จริงที่โรงเรียนต้องเผชิญ
4 years ago 2881แปล: พิศวัสน์ สุวรรณมรรคา
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่งคงเจริญกิจ
เป็นเวลากว่าครึ่งปีแล้วที่คนหลายล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับโรคระบาดจากเชื้อ COVID-19 ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อทุกแวดวงธุรกิจ สำหรับแวดวงการศึกษาเอง คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นนักเรียนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนทางไกล หรือการเรียนรู้แบบออนไลน์ได้ สถานการณ์นี้กลับยิ่งขยายช่องว่างทางการศึกษาระหว่างนักเรียนที่ยากจน และนักเรียนที่ร่ำรวยมากยิ่งขึ้น แล้วโรงเรียนจะมีบทบาทอย่างไรในการเยียวยาสถานการณ์ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนไปชั่วชีวิต
ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดมีข้อมูลว่า นักเรียนจำนวนมากที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำต้องออกจากระดับชั้น ป.4 เนื่องจากมีปัญหาด้านการเขียนสะกดคำ รวมถึงการทำความเข้าใจประโยคง่ายๆ สถิติระบุไว้ว่า โอกาสที่นักเรียนเหล่านี้จะเรียนตามเพื่อนๆ ได้ทันนั้นแทบจะเป็นศูนย์ ในแต่ละระดับชั้น คำศัพท์ที่ครูหรือหนังสือใช้เต็มไปด้วยคำศัพท์ที่นักเรียนอ่านแล้วไม่เข้าใจ ยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับนักเรียนที่จะเรียนตามพื่อนๆ ได้ทัน จากการสำรวจของ NAEP (National Assessment of Educational Progress) พบว่า 10% ของนักเรียนชั้น ป.4 ที่ได้คะแนนต่ำสุดมีความล่าช้าทางการเรียนรู้เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ได้คะแนนสูงสุด 10% ถึง 6 ระดับชั้น อธิบายง่ายๆ คือ นักเรียนที่เรียนตามเพื่อนไม่ทันอยู่แล้ว ยิ่งต้องดิ้นรนมากขึ้น และกลับยิ่งล้าหลังกว่าเพื่อนเมื่อขึ้นชั้นสูงขึ้น หลายคนต้องหยุดเรียนกลางคัน บางคนที่เรียนจบการศึกษาแล้วกลับอ่านหนังสือได้เท่ากับนักเรียนชั้น ป.6 หรืออาจจะต่ำกว่าด้วยซ้ำ พวกเขาไม่สามารถจะเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยชุมชนได้ และมีคุณสมบัติแค่พอจะทำงานที่มีรายได้ต่ำเท่านั้น
สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน นักเรียนต้องเรียนรู้หลักการต่างๆ ตามลำดับชั้น หากนักเรียนไม่เข้าใจสิ่งที่ครูสอนในชั้นนี้ เมื่อพวกเขาเลื่อนไปเรียนชั้นที่สูงขึ้นก็จะไม่สามารถเข้าใจหลักการที่ยากขึ้น ซึ่งอาศัยพื้นฐานจากชั้นก่อนหน้าได้ ยิ่งทำให้นักเรียนล้าหลังไม่ทันเพื่อนๆ มากขึ้นไปอีก
กลับมามองที่สถานการณ์การจัดการเรียนรู้ทั่วโลก เมื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์กลายเป็นทางออกสำคัญสำหรับประเทศที่ยังมีการระบาดหนัก แต่ในความเป็นจริงเราพบว่า แม้ว่าหลายครอบครัวจะมีอินเทอร์เน็ตใช้ที่บ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกบ้านจะมีคอมพิวเตอร์เพียงพอสำหรับลูกทุกคน บางบ้านอาจมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เพียงเครื่องเดียวเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าเด็กทุกคนจะต้องแบ่งกัน อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยจำนวนมากไม่ได้มีการศึกษาที่สูงนัก พวกเขาไม่มีประสบการณ์ในการทำงานออนไลน์มาก่อน และไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะสนับสนุนลูกๆ พวกเขาได้เหมือนกับคนที่มีการศึกษาสูงกว่า
ในสหรัฐอเมริกาพบว่า นักเรียนที่มาจากชุมชนที่มีรายได้น้อยมักจะได้คะแนนต่ำในการวัดผลสัมฤทธิ์ในช่วงฤดูร้อนมากกว่านักเรียนที่มาจากชานเมืองที่ร่ำรวยกว่า นี่คือช่วงเวลาเพียงสองเดือนครึ่งเท่านั้นหลังเกิดการระบาดของไวรัสในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนี้ต้องบวกเพิ่มอีก 4 เดือน และยังต้องคำนึงถึงอะไรก็ตามที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปีการศึกษา 2020-2021 ด้วย ถ้านักเรียนเหล่านี้ล้าหลังกว่าเพื่อนๆ ระดับหัวกะทิถึง 6 ระดับชั้น ก่อนไวรัสระบาดแล้วล่ะก็ ลองจินตนาการดูว่า นักเรียนเหล่านี้จะเรียนล้าหลังเพื่อนอีกกี่ระดับชั้นหลังจากวิกฤตนี้
มีการคาดการณ์กันว่า การระบาดของไวรัสจะทำให้มีนักเรียนการศึกษาพิเศษเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน อัตราการว่างงาน คนเจ็บป่วย คนไร้บ้านและผู้ต้องขังจะเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของ COVID-19 เครื่องจักรกลจะเข้ามาแย่งงานคนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและนักเรียนที่หยุดเรียนกลางคัน ซึ่งเป็นคนกลุ่มชนชั้นแรงงาน สิ่งที่จะเกิดขึ้นซึ่งเป็นผลพวงจากการระบาดของไวรัสคือ
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนที่เรียนอ่อนอยู่แล้วจะยิ่งตกต่ำลง
2. ปฏิกิริยาโต้ตอบของนายจ้างที่มีต่อเชื้อไวรัสจะเปลี่ยนไป คือนายจ้างจะหันมาใช้เครื่องจักรแทนคนมากขึ้น เพราะไม่ต้องจ่ายค่าแรง ไม่ต้องกังวลว่าจะติดเชื้อไวรัส
สองสิ่งนี้จะทำให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจจนผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกไม่สามารถหาเลี้ยงปากท้องตัวเองได้ สิ่งที่โลกเราต้องการเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน คือระบบการศึกษาแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าที่เราใช้กันอยู่ในตอนนี้
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปการศึกษากันใหม่ทั้งหมด ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ยังสาหัสในหลายๆ ประเทศ แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่บ้านเรารวมถึงอีกหลายประเทศพยายามทำกันมาโดยตลอดก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาด มองในอีกแง่วิกฤตในครั้งนี้อาจเป็นโอกาสในการปฏิรูปสิ่งเก่าๆ ให้ดีขึ้น เพื่อให้เรามีความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายในอนาคตที่คาดเดาไม่ได้
อ้างอิง:
Tucker, M. (2020, June 26). COVID-19 and Our Schools: The Real Challenge. Retrieved August 04, 2020, from https://ncee.org/2020/06/covid-19-and-our-schools-the-real-challenge