Knowledge
สร้างโรงเรียนนวัตกรรมด้วยมือครูและผู้บริหารโรงเรียน ตามมุมมองของ อ. พิม และ ผอ. สมจิต
1 year ago 1534บันทึกโดย นางสาววัลลภาภรณ์ พานทอง
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จากการเข้าร่วมฟังหัวข้อ การสร้างสรรค์นวัตกรรมในโรงเรียนสำหรับบทบาทของผู้นำ จะเห็นได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเราเอง และต่อยอดไปยังภายในโรงเรียนจนนำไปสู่ความยั่งยืนได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่เสมอไป ขอเพียงแค่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีจากเดิมเพียงเล็กน้อย ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง การจะเป็น ผอ. นั้น จะต้องรู้จักปรับตัวอยู่เสมอ อย่าคิดว่าเป็น ผอ. แล้วถือตนไม่ลงมือปฏิบัติเอง ออกคำสั่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ รวมทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นของภาคีเครือข่ายและคนรอบข้างด้วยการไม่ถือเอาความคิดของตนเองเป็นใหญ่ โดยภาคีฯ ของกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำหรือ TPF จะเน้นการระเบิดจากข้างในด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเหล่าผู้อำนวยการจะมารวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันให้สามารถพัฒนาโรงเรียนและคุณภาพของผู้เรียนทุกคน ในคติที่ว่า "สร้างเด็กดีและเด็กเก่ง"
ส่วนตัวแล้วชอบ "โมเดลกัลยาณิวัฒนาสร้างสุข" ที่มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตก่อนแล้วจึงพัฒนาความรู้ทางวิชาการต่อ เนื่องจากถ้ามีชีวิตที่ดีพร้อมแล้วการศึกษาจะดีตามมาด้วย และโมเดลโรงเรียนแห่งนวัตกรรมที่ใช้ 6Qs of School (6 คุณภาพแห่งสถานศึกษา) และ 6I of School (6 นวัตกรรมแห่งสถานศึกษา) ซึ่งใช้ได้ผลเป็นอย่างดี เนื่องจาก Quality ต้องมาพร้อมกับ Innovative จึงจะถือเป็นโรงเรียนแห่งนวัตกรรมอย่างแท้จริง เพื่อสร้างเด็กให้เป็นนวัตกรในการสร้างนวัตกรรม และตัวครูเองก็เป็นนวัตกรในการสร้างนวัตกรรมของการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ
อีกเรื่องที่รู้สึกประทับใจมากคือ เรื่องเล่าของ ท่าน ผอ. สมจิต ตาคำแสง ที่ต้องการแก้นิสัยเด็กในโรงเรียนเรื่องการรู้จักแบ่งปัน จึงใช้กิจกรรม "ของดีมีไว้ให้เพื่อน" ในอาทิตย์แรกปรากฏว่าแทบไม่เหลืออาหารให้เพื่อนคนหลัง ๆ เลย ครูในโรงเรียนต่างบอกให้ท่าน ผอ. สมจิตหยุดทำกิจกรรมนี้ แต่ด้วยความอดทนทำให้ระยะเวลาหนึ่งเดือน เด็กคนหลัง ๆ เริ่มได้กินอาหารและเริ่มมีนิสัยแบ่งปันเพื่อนคนอื่นมากขึ้น จากเรื่องเล่านี้ ทำให้รู้ว่า การเป็นผู้อำนวยการ จะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและมีความอดทน อย่าทำงานด้วยตนเองแต่ทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยหัวใจหลักที่สำคัญก็คือเด็ก
แต่ทักษะการเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะสำหรับคนเป็น ผอ. แต่ครูเองก็จำเป็นต้องมีภาวะของผู้นำเช่นกัน และได้คำแนะนำสำหรับการสร้างนวัตกรรมของโรงเรียนบนพื้นที่สูงด้วยการเน้นเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสร้างบรรยากาศภายในห้องเรียนให้เหมือนกับนอกห้องเรียน เพื่อร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งเป็นพลังสำคัญของการทำชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (PLC) ข้อคิดที่ได้อีกเรื่องคือการทำงานของครูจะต้องทำงานด้วยการไม่คาดหวัง ทำให้เต็มที่ ส่วนผลพลอยได้จะตามมาทีหลังเอง