Knowledge
การเรียนรู้ที่อยู่ร่วมกับความแตกต่าง
4 years ago 36815แปลและเรียบเรียง: สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ
Content Developer Cohort 2 Alumni Teach For Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
ถ้าเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยมีความแตกต่าง และมีเอกลักษณ์ที่เป็นของตัวเอง อาทิ ไม่ว่าจะเป็นความชอบ ความถนัด ความสามารถในการเรียนรู้ ระบบการศึกษาที่ดีจึงควรคำนึงถึงความแตกต่างดังกล่าว และเอื้อให้กับการออกแบบรูปแบบการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนที่มีความหลากหลาย เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีพื้นที่ในการพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเป็นธรรมชาติ
หลายครั้งในห้องเรียน เราอาจสังเกตได้ว่าไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่มีความสนใจในเนื้อหาที่ครูสอน และมีความสนใจในเนื้อหาแต่ละรายวิชาในระดับที่แตกต่างกัน โดย Rick Wormeli นักการศึกษาชาวอเมริกัน กล่าวไว้ว่า “Fair isn’t always equal.” หรือให้ความหมายโดยนัยว่า “ความยุติธรรม อาจไม่ได้หมายถึงการที่ทุกคนได้ทุกๆ สิ่งเหมือนๆ กันเสมอไป”
“Differentiated Instruction” หรือ “วิธีการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล” เชื่อในการมีทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้เรียน โดยความเหมาะสมของการจัดการเรียนการสอนจะถูกพิจารณาจากทักษะ และความสามารถของผู้เรียนในแต่ละบุคคลเป็นหลัก ซึ่งสามารถสังเคราะห์ได้จากการสังเกตผู้เรียนในช่วงเวลาต่างๆ ผ่านการใช้ความคิดของครูผู้สอน ซึ่งแม้ว่าครูผู้สอนอาจมีชุดความคิด และความเชื่อของแต่ละบุคคล ครูทุกคนจะยังคงสามารถมองเห็นผลลัพธ์ที่แฝงอยู่ และแสดงออกมาอย่างชัดเจน ผ่านในกระบวนการเรียนรู้ที่ต่างกันได้ ซึ่ง Carol Tomlinson ผู้คิดค้น “วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล” ได้กำหนดองค์ประกอบไว้ 3 ส่วน ได้แก่
1. Content เนื้อหา
ครูผู้สอนควรคำนึงว่าอะไรคือวัตถุประสงค์หลักของการเรียนนี้ สิ่งใดคือสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ ซึ่งเราอาจจะต้องแยกเนื้อหากับวัตถุประสงค์ออกจากกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องการให้นักเรียนเขียนเรียงความ แน่นอนว่าวัตถุประสงค์หลักคือเรียนรู้วิธีการเขียนเรียงความ แต่เมื่อเรากำหนดเนื้อหาที่เฉพาะ ว่าจะต้องเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่ครูกำหนดเท่านั้น สิ่งนี้อาจจะทำให้นักเรียนบางคนขาดแรงจูงใจในการเขียน และไม่ได้นำมาสู่การเรียนรู้วิธีการเขียนเรียงความที่ดีขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ครูต้องทำคือสังเกตนักเรียนว่ามี ความชอบ ความถนัด หรือกำลังสนใจในเรื่องอะไร โดยในกรณีที่นักเรียนยังไม่สามารถระบุถึงสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง ครูสามารถวิเคราะห์ความน่าจะเป็นจากข้อมูลที่ได้สังเกตนักเรียนคนนั้นมา สื่อสารเพื่อสอบถาม และชวนนักเรียนสำรวจความสนใจของตัวเอง และรับฟัง เพื่อให้นักเรียนสามารถกำหนดเนื้อหาเรียงความที่มีความหมายกับตัวของพวกเขาได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงในที่จะพัฒนาทักษะดังกล่าวที่ชัดเจนขึ้น และได้เรียนรู้จากรูปแบบของเรียงความที่มีความหลากหลายมากขึ้น
2. Process กระบวนการ
กระบวนการหมายถึงวิธีการที่จะสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ในห้องเรียน เช่น รูปแบบการถ่ายทอดเนื้อหา กิจกรรมต่างๆ รวมถึงการจัดกลุ่มผู้เรียน ซึ่งสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน โดยอาจแบ่งกลุ่มคนที่มีคุณลักษณะหรือความสามารถคล้ายกันมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หรือกลุ่มที่คละให้นักเรียนที่มีความแตกต่างได้มืทำงานร่วมกัน โดยจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ และรูปแบบของเนื้อหาที่เป็นเป้าหมายของคาบเรียนนั้นๆ และเลือกกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับจุดแข็งของการจัดกลุ่มในแต่ละรูปแบบ เช่นในกรณีที่เราต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการจัดการ การวางแผน และฝึกความสามัคคี เราอาจเลือกใช้กิจกรรมกีฬา เกมส์ หรือการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่มีพื้นที่ให้กับความสามารถที่หลากหลาย และนักเรียนจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้ทำงานร่วมกันและสื่อสารซึ่งกันและกัน
3. Product ผลลัพธ์
เมื่อกระบวนการทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งวัดได้จากหลักฐานการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งอาจเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ที่นักเรียนเป็นผู้ทำขึ้นมาโดยใช้ทักษะ และความรู้ที่พวกเขาได้เรียนไป ไปจนถึงการแสดงความคิดเห็นทั้งในระหว่าง และตอนที่สรุปกิจกรรมที่สะท้อนถึงการเติบโตทางความคิด และความเชื่อในตัวพวกเขา ซึ่งอาจถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่จะเป็นการเติบโตที่มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่ากัน และจะเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปต่อยอดในการออกแบบการเรียนรู้ครั้งต่อๆ ไปได้เพื่อให้ตอบโจทย์กับความแตกต่างของพวกเขามากขึ้น ดังนั้นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญมากๆ คือการมีพื้นที่ให้กับนักเรียนในการได้แสดงความคิดเห็น สะท้อนความรู้สึก และได้สรุปการเรียนรู้ของพวกเขาเอง
ผลลัพธ์ที่ดีเกิดจากกระบวนการการเรียนรู้ที่สนับสนุน และผลักดันผู้เรียน ให้พวกเขาได้ใช้ความเป็นธรรมชาติของพวกเขาในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ทั้งสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการสอนหรือทำกิจกรรมของเรา และสิ่งที่อาจจะมีความหมายมากกว่านั้นสำหรับพวกเขา การสนับสนุนที่ผู้สอนสามารถทำได้คือการเปิดใจ เปิดหู เปิดตา ชะลอการตัดสินของตัวเอง และสังเกตนักเรียนเพื่อรับรู้ถึงธรรมชาติของนักเรียน และเรียนรู้จากโลกใบเล็กๆ ที่จะค่อยๆ เปิดออกตรงหน้าเรา พร้อมๆ กับที่นักเรียนก็กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับโลกกว้างที่เราได้นำเข้าไปในห้องเรียนแห่งความแตกต่าง ที่กระหายการเรียนรู้ไม่ต่างกัน
อ้างอิง:
บทความการจัดการเรียนการสอนเพื่อความแตกต่าง, อาจารย์ ดร.สุดาพร ปัญญาพฤกษ์ June 10, 2015, retrieved on July 15, 2020, from http://sudaponpang.blogspot.com/2015/06/blog-post_66.html
Differentiating Instruction: It’s Not as Hard as You Think, Education Week, Sept 11, 2018, retrieved on July 15, 2020, from https://www.youtube.com/watch?v=h7-D3gi2lL8
Differentiating Instruction: How to Plan Your Lessons, Education Week, Feb 6, 2019, retrieved on July 15, 2020, from https://www.youtube.com/watch?v=rumHfC1XQtc
What Is Differentiated Instruction? by Carol Ann Tomlinson, retrieved on July 15, 2020, from https://www.readingrockets.org/article/what-differentiated-instruction