Knowledge
SLC - School as Learning Community โรงเรียนในฐานะชุมชมแห่งการเรียนรู้ คืออะไร พร้อมภาพประกอบ Infographic
3 years ago 35514SLC (School as Learning Community) โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ แล้ว SLC หรือ School as Learning Community คืออะไร
SLC เป็นแนวทางของการปฏิรูปการศึกษา โดยการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ร่วมกัน เด็กทุกคนได้รับสิทธิในการเรียนรู้ ความเสมอภาค และคุณภาพการเรียนรู้สูงขึ้น และการเตรียมพร้อมสังคมสำหรับระบอบประชาธิปไตย ทุกคนต่างเป็นศูนย์กลางในโรงเรียน ยึด 3 ปรัชญาสำคัญ ปรัชญาแห่งความเป็นสาธารณะ ปรัชญาความเป็นประชาธิปไตย และ ปรัชญาแห่งความเป็นเลิศ โดยใช้ระบบกิจกรรม เพื่อช่วยฝึกฝนครูและนักเรียนให้มีการเรียนรู้แบบร่วมมือรวมพลังในห้องเรียน
เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น โดย Prof. Manabu Sato, Ph.D. ปัจจุบันขยายออกเป็นวงกว้างในเอเชีย ผ่านเครือข่ายนานาชาติ เป็นเครื่องมือนำสู่การพัฒนาโรงเรียนแห่งศตวรรษที่ 21
การรวมกลุ่มเครือข่ายครู ผู้บริหารโรงเรียน นักครุศึกษา และนักการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้และการพัฒนาครู โดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ในการเรียนรู้ร่วมกันของ "ทุกคน" ในโรงเรียน มีนักเรียน ครู ผู้บริหาร เป็นตัวละครหลัก และมีนักครุศึกษา นักการศึกษา นักวิชาการ เครือข่ายผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ๆ มาเรียนรู้ร่วมกัน โดยเรียกนวัตกรรมนี้ว่า School as Learning Community หรือ SLC โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้
โครงสร้างสนับสนุนการเรียนรู้ของครู มีชั้นเรียนเป็นศูนย์กลางของทุกกลไกที่เกี่ยวข้อง พื้นที่สำคัญและ กำลังหลัก ในการพัฒนาเชิงวิชาชีพ
SLC: School as Learning Community (โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้) แตกต่างจากแนวทางปฏิรูปโรงเรียนอื่นๆ อย่างไร
1. SLC มีชุดปรัชญา วิสัยทัศน์ และระบบกิจกรรม
ไม่ใช่สูตรสำเร็จ หรือเทคนิควิธีในการปฏิรูป
2. SLC การบูรณาการแนวปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก การเรียนรู้แบบร่วมมือร่วมพลัง การ
เรียนรู้ที่ส่งเสริมการไตร่ตรอง ไม่ใช่แนวคิดโดดเดี่ยว เป็นกระบวนการศึกษาบทเรียนที่ยึดการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ การสร้างความเป็นเพื่อนร่วมงานมืออาชีพ ส่งเสริมความเป็นอิสระของโรงเรียน และกระบวนการประชาธิปไตยในการกำหนดนโยบายของโรงเรียน เพื่อสร้างความตระหนักในการเคารพสิทธิมนุษยชนในการเรียนรู้ของนักเรียน และการเติบโตในเชิงวิชาชีพของครูทุกคน
3. ความสัมพันธ์ในการรับฟัง
พื้นฐานสำคัญที่ SLC ตั้งอยู่คือความสัมพันธ์ในการรับฟัง (Listening Relationship) การรับฟังเสียงของผู้อื่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ความสัมพันธ์ในการรับฟังช่วยสร้างการสื่อสารสองทาง การพูดคุยถกเถียง ส่งเสริมให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดด้วยความร่วมมือกับเพื่อนร่วมทาง
4. ครูทุกคน โรงเรียนทุกแห่ง และทุกเครือข่ายล้วนเป็น “ศูนย์กลาง”
SLC ไม่ใช่แค่ “การเคลื่อนไหวทางสังคม” แต่เป็น “การถักทอเครือข่าย” เป็นการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ไม่มีใครเป็น “ศูนย์รวมอำนาจ” ครูทุกคน โรงเรียนทุกแห่ง และทุกเครือข่ายล้วนเป็น “ศูนย์กลาง”
5. ความเป็นเพื่อนร่วมงานตามวิถีประชาธิปไตย (Democratic Collegiality)
เราไม่มีใครเป็น “เจ้านาย” เครือข่ายการทำงานของเราไม่มีใครเป็น “ศูนย์กลาง” เพียงคนเดียว เพราะทุกคนต่างเป็นศูนย์กลาง ชั้นเรียนของเราทุกคนต่างเป็นศูนย์กลาง
SLC โรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ ยึด 3 ปรัชญาสำคัญ
ปรัชญาว่าด้วยส่วนรวมและความเป็นสาธารณะ (Public Philosophy)
ปรัชญาว่าด้วยประชาธิปไตย (Democracy Philosophy)
และ ปรัชญาว่าด้วยความเป็นเลิศ (Excellence Philosophy)
การสร้างคุณภาพการเรียนรู้ ตามแนวทาง SLC (School as Learning Community) ต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญเหล่านี้
ที่มา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯ
ชุดหนังสือเพื่อครู
การปฏิรูปโรงเรียน : แนวความคิด “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” กับการนำทฤษฎีมาปฏิบัติจริง
พัฒนาบทเรียนร่วมกัน เพื่อชุมชนแห่งการเรียนรู้ : คู่มือการปฏิรูปโรงเรียนที่ยั่งยืน
Manabu Sato (2019). “School as Learning Community: Global Dissemination and Progress”. Public Lecture Presentation at Faculty of Education, Chulalongkorn University on the 23rd February 2019 (แปลและเรียบเรียง โดย อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)