Knowledge
หรือโรงเรียนไทยยังไปไม่ถึง New Normal? : สถานการณ์ Learning Loss ไทยในทรรศนะ ผศ.อรรถพล
1 year ago 1471เรียบเรียงโดย วรเชษฐ แซ่เจีย
คุณครูและผู้ปกครองทั่วไทยคงสามารถสัมผัสได้ว่า หลังจากการเรียนรู้ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ไม่อาจถมช่องว่างการเรียนรู้ที่ขาดหายไปได้ และเกิดเป็นปัญหาการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียนในหลายระดับ ทั้งการอ่านออกเขียนได้ (literacy) ทักษะการทำงานร่วมกัน พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงสุขภาวะของนักเรียนในองค์รวมก็เช่นกัน ซ้ำร้ายปรากฏการณ์ดังกล่าวยิ่งหนักขึ้นในกลุ่มนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษด้วย
การถดถอยทางการเรียนรู้ส่งผลกระทบในวงกว้างกว่าที่คาด
ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาจากที่กล่าวไว้ เมื่อกลับมาเปิดเรียนตามปกติในปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมานั้น โรงเรียนก็ยังคาดหวังให้ครูกลับมา “ทำงานตามปกติ” เช่นกัน นั่นคือ ยังคงมีงานใหญ่ งานรอง งานจิปาถะกลับมาดำเนินการด้วย พร้อม ๆ กับที่ครูต้องเตรียมการสอนในลักษณะเดิม ท่ามกลางต้นทุนการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม และนักเรียนที่เปลี่ยนไปราวกับเป็นคนละคน
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนเสียงของคุณครูในห้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการทำการบ้านของนักเรียนว่า “เด็กรับผิดชอบงานน้อยลง” ทั้งนี้อาจเพราะนักเรียน (และบางกรณีก็คือผู้ปกครอง) เชื่อว่า แม้ไม่ส่งงานให้ครบก็สามารถเรียนจบในวิชานั้น ๆ ไปได้ เพราะช่วงที่มีการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้มีหลายกรณีที่ครูช่วยเหลือ และมองข้ามไปไม่ได้นำมาคิดคะแนน จนอาจกลายเป็นการเข้าใจผิด และเป็นรูปแบบการทำงานแบบใหม่ที่ไม่เหมาะสม มิหนำซ้ำยังส่งผลต่อแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ของนักเรียนที่ในภาพรวมก็ลดลง กลายเป็นเสียงที่คุณครูพยายามจะสื่อสารก็ส่งไปไม่ถึง
ผศ.อรรถพล ยังได้ชี้ให้เห็นเฉพาะกรณีของโรงเรียนที่ดำเนินการตามแนวคิด SLC ว่า วิธีการจัดการเรียนรู้ของครูเองก็ถูกบีบด้วยสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลายตัว ทำให้ยังไม่ค่อยเห็นการทำงานเป็นกลุ่มเท่าใดนัก “พอไม่ได้ทำต่อเนื่องจริงจังแบบช่วงก่อนโควิด เด็กก็เริ่มเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องทำงานเป็นทีมเป็นกลุ่มก็ได้”
ปรากฏการณ์นี้กระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากทีเดียว ด้วยความผันผวนเช่นนี้จึงยิ่งสูบพลังกายและใจของครูอย่างไม่หยุดยั้ง กลายเป็นว่าโรงเรียนประสบปัญหาปัญหาจากทั้งสองทาง เพราะไม่เพียงปัญหานักเรียนที่ว่าแก้ยากแล้ว ยังมาเจอกับวิกฤตการณ์ครูหมดไฟซ้อนทับเข้าไปอีก กลายเป็นคำที่ ผศ.อรรถพล เรียกว่า “Hard Classroom”
บางห้องเป็น ‘Hard Classroom’ ของโรงเรียน คือเต็มไปด้วยนักเรียนที่มีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้น้อยมาก ๆ…โรงเรียนก็สาละวนกับการกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิมให้ได้ แต่เด็กถูกทิ้งไว้กลางทาง ครูเองก็หมดไฟกันเยอะมาก ๆ…สอนออนไลน์ 2 ปีก็หนัก พอกลับมาออนไซต์ก็เจอโจทย์เรื่องเด็กที่หนักขึ้นกว่าเดิม
การเดินหน้าสร้างวัฒนธรรม SLC เป็นทางหนึ่งที่ช่วยได้
อย่างไรก็ดี ในวงสนทนาวันนั้น ผศ.อรรถพล ย้ำว่า แม้วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบ SLC จะช่วยให้โรงเรียนและคุณครูมีต้นทุนในการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างบุคลากรที่แน่นแฟ้น แต่การที่บริบทของผู้เรียนเปลี่ยนแปลงไป และคุณครูเองก็อาจไม่ได้ใกล้ชิดกับนักเรียนมากนักในช่วงที่ผ่านนั้น ทำให้กว่าคุณครูจะสามารถระบุปัญหาที่แท้จริง ค้นหาวิธีการที่เหมาะสม และดำเนินการจนเสร็จสิ้นคงใช้ระยะเวลาอีกยาวนานกว่าจะฟื้นฟูการเรียนรู้ให้กลับมาเป็นดังเดิม แต่ส่วนสำคัญคือการมีต้นทุนความรู้เกี่ยวกับนักเรียนที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นจึงจะเป็นฐานสำคัญที่จะฟื้นฟูการเรียนรู้ในอนาคตข้างหน้า
“การทำ Learning Recovery [การฟื้นฟูการเรียนรู้] ไม่ได้เป็น ‘ยาวิเศษ’ ว่าใช้แผนการสอนวิเศษมาแก้ปัญหา copy วิธีการจากโรงเรียนนั้นโรงเรียนนี้มาใช้แก้ปัญหาได้ แต่จะเป็นการแก้ปัญหาซึมลึกมาก ๆ ที่ต้องคอยปรับจูนกันใหม่ และปรับพัฒนาการกันให้เหมาะสมตามช่วงเวลาที่เขาควรจะได้พัฒนาการนั้น”
ติดตามการสนทนาฉบับเต็มหัวข้อ "ฮาวทู "ฟื้นฟู" การเรียนรู้ด้วยแนวคิด SLC" ร่วมทบทวนปัญหา Learning Loss ผ่านแนวคิด SLC กับ ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯ
ทาง Facebook: https://fb.watch/iL2tllflk6/
YouTube: https://www.youtube.com/watch?v=W0eY75-ZJBY