Knowledge
“วันหนึ่งฉันจะเดินเข้าป่า” ชวนครูพาผู้เรียนเข้าสู่ห้องเรียนธรรมชาติ
2 years ago 1692จิราพร เณรธรณี
หากจะกล่าวถึงคำว่า “ห้องเรียน” ในภาพจำของใครหลายคนคงคิดถึงห้องสี่เหลี่ยมมีกระดานหน้าห้อง โต๊ะ เก้าอี้ และครูยืนอธิบายอยู่หน้าห้อง สภาพแวดล้อมเดิม ๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการรับข้อมูลของผู้เรียนลดลง การพาผู้เรียนไปเรียนรู้นอกสถานที่ โดยเฉพาะพื้นที่ป่า หรือเรียกว่า ห้องเรียนธรรมชาติ (Natural Classroom) จะทำให้การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น อีกทั้งธรรมชาติและมนุษย์มีความสัมพันธ์กัน การเรียนรู้จากธรรมชาติจึงไม่ได้ไกลตัวผู้เรียน
สิ่งที่น่าสนใจของ “ห้องเรียนธรรมชาติ”
1. การเรียนรู้อย่างอิสระของผู้เรียน เนื่องจากป่ามีพื้นที่กว้างกว่าห้องเรียนเอื้อผู้เรียนสามารถเดินไปเรียนในพื้นที่ที่สนใจได้ ดังนั้น ความรู้ที่ได้ไม่ได้เกิดจากการรับฟังคำพูดของครู มองเห็นสื่อการสอนที่ครูเตรียม แต่เกิดจากทั้งการฟัง การมองเห็น การได้กลิ่น และการสัมผัส จากประสบการณ์ตรงที่อยู่ตรงหน้า
2. ธรรมชาติที่หลากหลายกระตุ้นความอยากรู้ของผู้เรียน อาจจะเกิดจากการสังเกตโดยตรงของผู้เรียน หรือครูเป็นผู้สร้างคำถามขึ้นมา เพราะจะมีสิ่งเร้ามากมายมากระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสงสัยมากกว่าในห้องเรียนปกติ นอกจากนี้ สีสันของธรรมชาติทั้งดอกไม้ ใบไม้ ก้อนหิน นก และแม่น้ำ ฯลฯ ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและอยากรู้อยากเห็นได้ด้วย อันจะเป็นต้นเหตุของคำถาม 5W 1H และจะเข้าสู่กระบวนการหาคำตอบต่อไป
3. ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ หรือเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนภูมิใจในตนเองและมีความเคารพในตนเองมากขึ้น กล่าวคือ ทุกฝีก้าวที่ผู้เรียนก้าวไปเจอธรรมชาติที่หลากหลายจะเกิดการสังเกตผ่านประสาทสัมผัสการรับรู้ และทำให้เกิดการตั้งเป็นประเด็นของคำถามและสมมุติฐาน เพื่อนำไปค้นหาคำตอบ หรือถามเพื่อนและครู ครูจึงมีบทบาทเป็นเสมือนไกด์ตลอดการเดินทางการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน
4. การฝึกทักษะที่หลากหลาย โดยเฉพาะทักษะชีวิต (life skill) การเดินทางในป่า บางครั้งอาจเจอ ปัญหาหรืออุปสรรคเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น ผู้เรียนจะต้องรู้จักวิธีแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง เมื่อต้องเดินทางไกล จะทำอย่างไรให้สามารถเดินทางกลับมาจุดเริ่มต้นได้โดยไม่หลงทาง หรือหากหลงจากเพื่อน ควรทำอย่างไร ซึ่งการเรียนในห้องอาจจะเป็นการเรียนในเชิงทฤษฎี แต่การเผชิญปัญหาและแก้ไขด้วยตนเองในสถานการณ์จริงจะช่วยให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงและพัฒนาทักษะที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง
5. การฝึกสมาธิและความสงบ ป่าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเสียงของรถวิ่ง เสียงก่อสร้าง เสียงผู้คนเดินขวักไขว่ ทำให้ผู้เรียนมีสมาธิในการเรียนรู้และมีจิตใจที่สงบ การได้ยินเสียงธรรมชาติ เช่น น้ำไหล นกร้อง ลม ฯลฯ ทำให้เกิดความผ่อนคลายมากขึ้น และเมื่อจิตใจผ่อนคลาย สมองปลอดโปร่ง ก็จะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แนวทางการนำการเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติ
1. การบูรณาการกับวิชาต่าง ๆ โดยใช้พื้นที่ป่าเป็นห้องเรียน เป็นกิจกรรมที่นำมาบูรณาการกับวิชาต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ในแต่ละวิชากับธรรมชาติรอบตัว ยกตัวอย่าง การบูรณาการกับวิชาศิลปะ พื้นที่ป่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดไอเดีย หรือมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น นอกจากนี้ผู้เรียนยังสามารถสังเกตต้นไม้ หรือใบไม้ที่มีรูปร่างและรูปทรงหลากหลายนี้นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานทางศิลปะที่โดดเด่นได้ด้วย
2. การจัดเป็นกิจกรรมนอกหลักสูตรประจำสัปดาห์ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อฝึกทักษะชีวิต ให้กับผู้เรียน ในแต่ละสัปดาห์ครูสามารถออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อตอบรับกับทักษะชีวิตที่สำคัญในยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่าง กิจกรรม “ต้นนี้กินได้” ให้ผู้เรียนเดินหาพืชที่สามารถกินได้ พร้อมทั้งระบุสรรพคุณต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคนและสัตว์ กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกัน การค้นหาข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งการคิดวิจารณญาณในการกลั่นกรองข้อมูลด้วย
3. การจัดเป็นโปรแกรมตามฤดูกาล เป็นโปรแกรมที่จัดขึ้นเพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ซึ่งจะคล้ายกับการเข้าค่ายโดยในแต่ละภาคเรียนมี 1 ครั้ง ผู้เรียนก็จะได้มองเห็นสิ่งแวดล้อมที่อาจไม่เคยสังเกตมาก่อน เรียนรู้ถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น รวมทั้งได้เห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริง และอาจนำไปสู่การร่วมเรียนรู้เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไปได้
การออกแบบกิจกรรม หรือการเรียนการสอนของครูควรคำนึงถึงระดับช่วงวัยของผู้เรียน ข้อจำกัดของผู้เรียนแต่ละคน รวมทั้งความปลอดภัยด้วย ผู้เขียนเชื่อว่า คนและธรรมชาติมีความสัมพันธ์กัน การเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติจึงทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต การเอาชีวิตรอดและยังช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติและชีวิตของตนเองมากขึ้นด้วย
อ้างอิง
มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน. (ม.ป.ป.). ห้องเรียนธรรมชาติ (NATURAL CLASSROOM). Feed. http://www.feedthailand.org/our-charities/role-model/
Azim Premji University. (2022, June 20). Nature as a classroom: A space where teachers and students observe, learn, and wonder together. https://azimpremjiuniversity.edu.in/news/2022/linking-learning-with-the-natural-world
Forest School Association. (n.d.). What is Forest School?. https://forestschoolassociation.org/what-is-forest-school/