Knowledge
ปิดเทอมแล้วก็ยังไม่หายเหนื่อย คุณครูลอง Retreat ดูไหม?
2 years ago 4325จิราเจต วิเศษดอนหวาย
ปิดเทอมทั้งทีคุณครูหลายคนคงวางแผนเที่ยวให้สุดเหวี่ยง หรือบางคนตั้งใจจะพักอยู่บ้านอย่างสงบ แต่เคยไหมเมื่อกลับจากท่องเที่ยวหรือพักผ่อนกลับรู้สึกไม่ผ่อนคลายอย่างที่หวัง แถมยังไม่อยากกลับมาเผชิญหน้ากับความจริงว่างานหนักในปีการศึกษาหน้ากำลังรอคุณครูอยู่ เรียกได้ว่าคนเป็นครูเองก็ลำบากเหมือนกันนะ แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะมีกิจกรรมที่คุณครูจะได้ฟื้นฟู เยียวยาจิตใจ เติมไฟ เติมพลังให้กลับมาเป็นคุณครูคนเดิมผู้สดใสเหมือนเพิ่งเข้ารับตำแหน่งวันแรก เราขอนำเสนอวิธีการรีทรีต (Retreat) ของคุณครูและบุคลากรการศึกษาจากหลายพื้นที่พร้อมรวบรวมเป็นไอเดียสำหรับปิดเทอมนี้
รีทรีตคืออะไร ทำไมครูไทยต้องไปรีทรีต
การรีทรีตเป็นกิจกรรมที่จะเข้ามาช่วยเหลือคุณครูจัดการกับความเครียดสะสมที่อาจพอกพูนขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ทั้งการต้องอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดกับเพื่อนร่วมงาน การข่มอารมณ์ขุ่นมัวจากชีวิตส่วนตัวเพื่อเข้าห้องเรียนด้วยอารมณ์สดใส การต้องแข่งกับเวลาในการเตรียมสอน จนบางครั้งไม่มีเวลาแม้แต่จะกินข้าว ความเครียดทางกายและใจเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่รอโอกาสเหมาะที่จะกลายร่าง เป็นอาการหมดไฟ อาการเจ็บป่วยทางกาย หรืออาการเสพติดอะไรบางอย่าง เช่น ของหวาน เมื่อถึงจุดนี้แล้วเราจะไม่สามารถบอกสาเหตุของความเครียดและความท้อแท้ในการทำงานอย่างแน่ชัดได้เลย
แม้การรีทรีตจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาจิตวิญญาณของพุทธศาสนานิกายเซน แต่ต่อมาวงการจิตวิทยาได้นำมาปรับประยุกต์ให้เหมาะกับการบำบัดความเครียดสำหรับคนทั่วไป กิจกรรมส่วนใหญ่ของการรีทรีตคือการไปอยู่ในสถานที่สงบเงียบ เป็นธรรมชาติเพื่อให้ได้มีเวลาที่เป็นส่วนตัวและได้ดูแลฟื้นฟูตนเอง (self-care) แบบองค์รวมได้แก่ การฟื้นฟูร่างกาย การฟื้นฟูจิตใจ การฟื้นฟูปัญญา โดยส่วนใหญ่การรีทรีตจะมีผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำหรือเป็นผู้อำนวยการ (Facilitator) ในการดำเนินกิจกรรมทั้งหมด
แนวทางการรีทรีตที่คุณครูทำได้
กิจกรรมฟื้นฟูร่างกายสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนวด การอบสมุนไพร การอาบแดดยามเช้า การสัมผัสธรรมชาติ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การฝึกการหายใจ การแช่น้ำร้อน ส่วนการการฟื้นฟูจิตใจจะมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมรีทรีตได้ผ่อนคลายอารมณ์และคลี่คลายความรู้สึกกังวล เช่น เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำสมาธิ ปลดปล่อยอารมณ์ไปตามธรรมชาติ และ พูดคุยแบบเปิดอกกับนักจิตวิทยา
กิจกรรมสำคัญที่ทำให้รีทรีตแตกต่างจากการท่องเที่ยวทั่วไปคือการฟื้นฟูปัญญา (Contemplative Practices) กิจกรรมการฟื้นฟูปัญญา นี้มักจะทำในช่วงท้ายของกิจกรรมรีทรีตหลังร่างกายและจิตใจได้รับการเยียวยาและผ่อนคลายอย่างเต็มที่ กิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้รีทรีตได้กลับมาทบทวนเป้าหมายในชีวิต ความภาคภูมิใจ และพิจารณาสิ่งที่ลดทอนพลังชีวิตและสิ่งที่เติมเต็มพลังชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพื่อให้ผู้รีทรีตได้ตั้งต้นออกแบบการใช้ชีวิต นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายในการทำงานปีต่อไป
กิจกรรมรีทรีตเป็นเสมือนการเก็บกวาดบ้านครั้งใหญ่ในรอบปีจึงอาจใช้เวลานานสักหน่อย โดยอาจยาว 7 – 15 วัน โดยผู้เข้าร่วมต้องให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูองค์รวมทั้ง 3 ด้านอย่างเป็นกิจวัตร และเมื่อกลับมาจากรีทรีตแล้วคุณครูสามารถดูแลตนเอง (self-care) อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเครียดสะสมด้วยการเลือกกิจกรรมที่ดีต่อใจ ต่อร่างกาย และต่อสติปัญญา ของตนเองมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน เช่น งดดูมือถือก่อนนอน ขยับร่างกาย อ่านหนังสือ ฟังพ็อดแคสต์ที่ชอบ ดูแลความสะอาดที่อยู่อาศัย หรือปลดปล่อยอารมณ์ผ่านการร้องไห้ก็นับว่าเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้คุณครูมีสุขภาวะที่ดีขึ้นในระหว่างเทอม
สำหรับไอเดียการจัดกิจกรรมรีทรีตที่นำมาฝาก หากคุณครูสนใจอาจจะชวนเพื่อนครูด้วยกันลองไปกันสักครั้ง หรือแชร์ต่อลงไลน์โรงเรียนเผื่อสะดุดตาผู้อำนวยการโรงเรียน ที่อาจทำให้ทริปปิดเทอมครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกปีและเป็นของขวัญวันปิดเทอมให้คุณครูหายเหนื่อยได้อย่างแท้จริง
อ้างอิง
รัน ธีรัญญ์. (2558, 21 มิถุนายน). รันกระบวนการ งานกระบวนกร : RUN WISDOM PROCESS. https://www.runwisdom.com/2016/06/run-wisdom-process/
สันต์ ใจยอดศิลป์. (2560, 20 สิงหาคม). Spirituality คืออะไร Retreat คืออะไร. drsant.com. https://drsant.com/2017/08/spirituality-retreat.html
AVID open Access. (n.d.). “R” you ready to recharge? Tips for teacher self-care. https://avidopenaccess.org/resource/r-you-ready-to-recharge-tips-for-teacher-self-care/
Crowe, A. (2021, December 14). The importance of self care for teachers & 15 ways to help. Prodigy. https://www.prodigygame.com/main-en/blog/teacher-self-care/