Knowledge

เปลี่ยน “ผู้เรียน” ให้เป็น “ผู้เล่น” ด้วยการใช้สื่อเกมออนไลน์สร้างแรงจูงใจ

เปลี่ยน “ผู้เรียน” ให้เป็น “ผู้เล่น” ด้วยการใช้สื่อเกมออนไลน์สร้างแรงจูงใจ

 1 year ago 8438

จิราพร เณรธรณี

          ในปัจจุบันที่เป็นยุคของการเสพเนื้อหาออนไลน์ส่งผลให้การเรียนรู้เปิดกว้างและรวดเร็วยิ่งขึ้น ครูจึงไม่ได้มีบทบาทในการสอนความรู้และเนื้อหาให้กับผู้เรียนอีกต่อไป แต่เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในการเรียนรู้ของผู้เรียน สิ่งที่ท้าทาย คือทำอย่างไรให้การเรียนรู้ในห้องเรียนมีความพิเศษมากกว่าการที่ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองจากเนื้อหาออนไลน์ทั่วไป คำตอบคือ “การสร้างแรงจูงใจ” ให้ผู้เรียนมีความรักและสนุกในการเรียนรู้ นำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้แบบ game-based learning ขึ้นมา

5 สื่อเกมออนไลน์สำหรับการเรียนการสอนมีอะไรบ้าง
1. Wordwall เป็นเว็บไซต์ที่สามารถสร้างเกมการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบ เช่น เกมหาคู่ เกมเปิดกล่อง เกมล้อสุ่ม เกมไล่ล่าเขาวงกต ฯลฯ และในแต่ละรูปแบบของการสร้างเกมก็สามารถเลือก theme ได้หลากหลายอีกด้วย แต่ก็มีการจำกัดเรื่องจำนวนการสร้างเกม หากไม่ได้สมัครเป็นระบบสมาชิกรายเดือน จุดเด่น มีรูปแบบของเกมให้เลือกหลากหลาย สามารถสั่งพิมพ์เป็นใบงานได้ และยังสามารถใส่รูปภาพประกอบข้อคำถามแต่ละข้อได้ ข้อจำกัด ระบบการพิมพ์ภาษาไทย ในกรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกรายเดือน เนื่องจากมีการรวนของระบบพิมพ์ส่งผลให้การสื่อสารข้อความไม่ตรงตามที่ต้องการ


2. Educandy เป็นเว็บไซต์สำหรับสร้างเกมที่เกี่ยวกับคำศัพท์และยังทำเป็นแบบทดสอบได้ด้วย ครูสามารถนำไปประยุกต์ได้ในทุกวิชาที่อาจมีคำศัพท์เฉพาะสำหรับการเรียนรู้ หรือสร้างเกมตอบคำถามทั่วไป การสร้างเกมเพียงพิมพ์คำศัพท์และอาจจะเพิ่มความหมาย หรือคำตอบลงไป จากนั้นจะมีรูปแบบของเกมที่หลากหลายให้เลือก เช่น Matching pairs, Multiple choices, Crosswords ครูสามารถมอบหมายให้เป็นการบ้านได้ด้วย หรือจะส่งลิงก์ให้ผู้เรียนได้เล่นในห้องเรียน โดยการคัดลอกลิงก์เกม หรือส่งรหัสให้ผู้เรียนได้ใช้ในการเข้าเล่นเกม หากสนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาการใช้งานได้ที่นี่ นอกจากในเว็บไซต์แล้วสามารถติดตั้งเป็นแอปพลิเคชันชื่อว่า Educandy Studio ได้ด้วย

จุดเด่น ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการสร้างคำศัพท์เพื่อการเรียนรู้ ดังนั้น รูปแบบเกมจะมีความเฉพาะสำหรับการเรียนรู้คำศัพท์
จุดด้อย ไม่สามารถเพิ่มรูปภาพประกอบไปได้ ส่งผลให้ผู้เรียนอาจจะไม่เห็นภาพ หรือไม่เข้าใจคำศัพท์นั้น อย่างถ่องแท้

3. Blooket เป็นเว็บไซต์สำหรับสร้างเกมการเรียนรู้ที่คล้ายคลึงกับแอปพลิเคชัน Kahoot หรือ Quizizz แต่ที่พิเศษคือ เมื่อสร้างแบบทดสอบเกมขึ้นมาสามารถเลือกรูปแบบของเกมได้ โดยมีทั้งการเล่นทั้งแบบเดี่ยวและทีม หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาจากคู่มือการใช้งานได้ที่นี่

จุดเด่น รูปแบบของเกมให้เลือกที่หลากหลายทำให้ผู้เรียนรู้สึกตื่นเต้นกับความแปลกใหม่ บางรูปแบบครูสามารถออกแบบให้เป็นการบ้านได้ด้วย (กรณีเรียนออนไลน์)
จุดด้อย การใช้ความเร็วในการตอบคำถามเพื่อให้ได้คะแนนมากอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากผู้เรียนอาจไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน ซึ่งมักเกิดข้อผิดพลาดในการเลือกคำตอบผิด นำไปสู่การขาดกำลังใจในการเรียนรู้

4. classcraft มีลักษณะคล้ายเกมบทบาทสมมติ (Role Playing Game; RPG) ทั้งครูและผู้เรียนจะได้สวมบทบาทต่าง ๆ โดยมีครูเป็นผู้ควบคุมเกม หรือ game master ที่สามารถแทรกบทเรียนในรูปแบบของสไลด์นำเสนอ งาน และกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในภารกิจ (quest) เพื่อทดสอบผู้เรียนในแต่ละด่าน โดยผู้เรียนจะเป็นตัวละครสมมติในเกม ซึ่งมีหน้าที่ต้องทำภารกิจในแต่ละด่านที่ครูสร้างขึ้น ซึ่งผู้เรียนจะได้คะแนนสะสมที่เพิ่มขึ้น และอาจมีคะแนนลดลงหากไม่ได้ทำตามกฎที่ครูได้ตั้งขึ้นในแต่ละด่าน (การหักคะแนนขึ้นอยู่กับการตั้งกฎของครูแต่ละคน) หากสนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ โปรแกรมดังกล่าวสามารถติดตั้งได้ทั้งโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ โดยมีทั้งแบบฟรีและจ่ายเงินเป็นแพ็กเกจสำหรับโรงเรียน

จุดเด่น เป็นรูปแบบการเรียนที่น่าสนใจในรูปแบบของห้องเรียนเสมือนจริงที่ครูสามารถนำบทเรียน ใบงาน กิจกรรมทดสอบต่าง ๆ โดยการเชื่อมโยงไปยังหน้าเพจอื่น ๆ ได้
จุดด้อย คะแนนเริ่มต้นของแต่ตัวละครไม่เท่ากัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมตั้งแต่เริ่มเล่น นอกจากนี้ ยังติดประเด็นเรื่องความเป็นส่วนบุคคลของตัวละคร โดยเฉพาะการแสดงผลคะแนน เนื่องจากมีจำนวนผู้เรียนไม่น้อยที่ไม่ต้องการแสดงผลคะแนน  ให้เพื่อน ๆ ทราบ

5. Minecraft Education Edition เปรียบเสมือนโรงเรียนออนไลน์ที่มีการบรรจุรายวิชาต่าง ๆ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ และยังมีการรวบรวมแหล่งความรู้ต่าง ๆ ไว้ในห้องสมุดอีกด้วย ซึ่งการเล่นเกมก็จะคล้ายกับ Minecraft ทั่วไป แต่จะมีฟีเจอร์ใหม่ที่ออกแบบมาสำหรับการเรียนการสอนโดยเฉพาะ ทำให้การเรียนรู้มีความแปลกใหม่ในการเรียนรู้ว่าเรียนรู้ในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น หากสนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

จุดเด่น การออกแบบแอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์สำหรับการนำมาใช้ในการเรียนการสอนโดยเฉพาะ
จุดด้อย รูปแบบการใช้งานค่อนข้างซับซ้อน กรณีครูผู้ใช้ไม่เคยเล่นเกม Minecraft มาก่อนอาจจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ ซึ่งอาจเป็นเพราะมีฟีเจอร์สำหรับการเรียนการสอนเพิ่มเข้ามาด้วย

          สื่อสร้างเกมออนไลน์ข้างต้นครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบทเรียนในแต่ละวิชาได้อย่างหลากหลาย game-based learning สามารถจูงใจผู้เรียนโดยการเปลี่ยน “ผู้เรียน” ให้กลายเป็น “ผู้เล่น” ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนไม่ตึงเครียดและทำให้ผู้เรียน “เรียนรู้” ผ่านการ “เล่น” ได้อย่างสนุกสนานและจดจำความรู้ได้อย่างรวดเร็วและคงทนยาวนาน การใช้สื่อออนไลน์จึงเป็นตัวช่วยสำคัญให้การสร้างเกมการเรียนรู้ของครูง่ายขึ้นและสนุกยิ่งขึ้นด้วย สุดท้ายจึงอยากฝากครูผู้อ่านทุกท่านว่า “สิ่งแรกคือ การเปิดใจให้กว้าง แล้วจึงเริ่มเปิดรับสิ่งใหม่”  ถึงแม้ครูจะไม่เคยเล่นเกมมาก่อน แต่อย่าลืมว่าการเรียนรู้ไม่ได้ถูกขีดเส้นคั่นด้วยช่วงวัยที่ต่างกัน

รายการอ้างอิง
Luke E. (2022, 24 May). What is Blooket and how does it work? Tips &Tricks. TECH&LEARNING. https://www.techlearning.com/how-to/what-is-blooket-and-how-does-it-work-tips-and-tricks

Mos Noppadol Rattanawisadrat. (2565, 24 กุมภาพันธ์). Minecraft Education Edition ? ทำอะไรได้ ? ซื้อยังไง ?. Medium. https://medium.com/mseduth/minecraft-education-edition-ทำอะไรได้-ซื้อยังไง-788b3a2a22f2

TEACHDENT SHARED. (2564, 20 มีนาคม). 5 เกมสุดสนุกที่ทำให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ. YouTube. https://youtu.be/K8kaYXHTmjw

ครูอาชีพดอทคอม. (2563, 19 พฤษภาคม). แนะนำเว็บไซต์ Wordwall สร้างสื่อการสอนรูปแบบเกม หรือพิมพ์ใบงาน สร้างง่ายแค่คลิก รองรับภาษาไทย. Kruachieve. https://www.kruachieve.com/เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา/แนะนำเว็บไซต์-wordwall-สร้างสื่/

ฉัตรพงศ์ ชูแสงนิล. (2562, 26 ธันวาคม). Classcraft เกมจัดการชั้นเรียน. SciMath. https://www.scimath.org/article-technology/item/10968-classcraft


TAG: #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #เกมส์ในชั้นเรียน #การใช้เกมส์ในห้องเรียน #สื่อการสอน #สื่อออนไลน์ #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #Game-based learning #สิทธิส่วนบุคคล #Learning Facilitator #Facilitator