Knowledge

ภาพเหมือนทรงพลัง ครูรู้ นักเรียนรู้ “Who we are”

ภาพเหมือนทรงพลัง ครูรู้ นักเรียนรู้ “Who we are”

 3 years ago 2917

เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี

          บางครั้งการเรียนการสอนออนไลน์ที่ครูต้องพบเจอกับภาพนิ่ง 2 มิติบนหน้าจอโน้ตบุ๊ก (notebook) คอมพิวเตอร์ (computer) หรือแท็บเล็ต (tablet computer) อาจทำให้รู้สึกเหมือนกำลังพูดกับหน้าจอ เพียงลำพัง ส่งผลให้ขาดความไว้วางใจในการเรียนการสอน เนื่องจากครูไม่สามารถวัดและประเมินผลนักเรียนในช่วงที่กำลังสอนได้โดยตรง

          แม้ว่าการระบุตัวตนจะเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ แต่ก็มีนักเรียนหลายคนที่ไม่พร้อมจะแสดงตนออกมา เนื่องด้วยหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ไม่มั่นใจในบุคลิกภาพของตัวเอง ขาดสมาธิ เมื่อต้องมาพบเพื่อน ๆ ในหน้าจอ ดังนั้น เรามีวิธีวัดและประเมินผลนักเรียนเบื้องต้น มาฝากครูทุกท่านกันค่ะ นั่นก็คือ “การสร้างภาพเหมือนประจำตัว” โดยให้นักเรียนวาดหรือออกแบบภาพ ที่แสดงความเป็นตัวเอง เพื่อใช้เป็นโพรไฟล์ (profile) ในหน้าจอสำหรับการเรียนออนไลน์ นอกจากวิธีนี้จะช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าใจอัตลักษณ์ของตัวเองได้แล้ว ครูเองก็สามารถรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งอัตลักษณ์ของนักเรียนได้ด้วย อีกทั้งเป็นการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น เนื่องจากนักเรียนมีอิสระในการสร้างภาพเหมือนที่ต้องการนำมาเป็นตัวแทนตัวตนที่แท้จริง อาทิ เพศทางเลือก (LGBTQ) ที่มีความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ทางเพศ กล่าวคือ รูปลักษณ์ภายนอก หรือสภาพร่างกายอาจไม่ตรงกับจิตใจที่อยากเป็น

          ในสถานการณ์ปกติ ครูสามารถใช้การออกแบบภาพเหมือนสำรวจนักเรียนได้ โดยให้นักเรียนทุกคนวาดภาพตนเองลงบนกระดาษที่ครูแจก แล้วนำผลงานตนเองไปติดบนฝาผนังห้องเรียน เพื่อที่ครูจะวัดและประเมินผลอารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งอัตลักษณ์ของนักเรียนแต่ละคนผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพวาด แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังคงรุนแรงอยู่นั้น การเรียนการสอนจึงเป็นแบบผสมผสาน ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่เน้นการเรียนการสอนออนไลน์ เราจึงเสนอให้นักเรียนออกแบบภาพเหมือนแล้วตั้งเป็นโพรไฟล์แทน กิจกรรมนี้จะช่วยให้นักเรียนรู้คุณค่าของตัวเองจากการตระหนักว่าตัวเขาเองก็มีตัวตนและเป็นนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดมุมมองของนักเรียนในห้องเรียนนั้น ๆ ด้วย เช่น เพื่อนนักเรียนบางคนที่ปกติร่าเริงแจ่มใส แต่จะมีใครรู้ว่า เขาอาจจะเก็บซ่อนความทุกข์ไว้ข้างใน ไม่กล้าเปิดเผยให้เพื่อนรับรู้ ศิลปะจากภาพเหมือน ก็สามารถสะท้อนให้เห็นบางมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อนได้เช่นกัน

          อย่างไรก็ตามภาพเหมือนของนักเรียนอาจมีบางสิ่งที่ไม่สามารถสะท้อนผ่านการรับรู้ทางสายตาของครูได้ เพราะสิ่งนั้นอาจถูกซ่อนลึกอยู่ภายในจิตใจ เช่น ความอิจฉาริษยาเพื่อนในห้องเรียนที่เก่ง หรือได้คะแนนดีกว่าตน การมีอคติ บางภาพก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงภาวะซึมเศร้าของนักเรียนบางคนได้ ครูสามารถใช้วิธีการพูดคุยถึงแรงบันดาลใจ หรือลักษณะพิเศษในการสร้างภาพเหมือนของนักเรียนแต่ละคน เพื่อช่วยให้ครูสามารถวัดและประเมินผลนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น อาทิ บางภาพเป็นภาพยิ้ม หน้าตาสดใส แต่ใช้โทนสีที่หม่น

          “ทุกคนล้วนมีความแตกต่างกัน” เราควรใช้ความแตกต่างนั้นเป็นจุดแข็งที่ทำให้ห้องเรียนมีความท้าทายและมีความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากมีการเปิดรับความหลากหลาย และเรียนรู้ที่จะปรับตัว เพื่อให้เกิดความลงตัวท่ามกลางความหลากหลายเหล่านั้น หากการเรียนการสอนปัจจุบันที่นักเรียนบางคนไม่อาจเปิดเผยตัวตนได้ ภาพเหมือนก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ทรงพลัง ช่วยสะท้อนและแสดงให้เห็นอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับนักเรียนของคุณครูได้ และอาจเป็นผลดีต่อการออกแบบการเรียนรู้ หรือการวัดและประเมินผลผ่านระบบออนไลน์ที่เหมาะสมด้วย

แหล่งอ้างอิง
Shana V. White. Creating a Learning Environment Where All Kids Feel Valued. (2019). [online]. from https://www.edutopia.org/article/creating-learning-environment-where-all-kids-feel-valued (retrieve July 8, 2021)

YouTube. (2021, June 25). Exploring Perceptions About Identity Through Self-Portraits [Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=yNm3xM4B00s&t=3s


TAG: #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #การวัดและประเมินผล #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่ #ทักษะศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่21 #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #ทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ #Social Emotional Learning #Social Learning #Emotional Learning #SEL