Knowledge

ความเครียดของคนเป็นครู ส่งผลต่อเด็ก มาพร้อมวิธีลดความเครียด

ความเครียดของคนเป็นครู ส่งผลต่อเด็ก มาพร้อมวิธีลดความเครียด

 2 years ago 5991

เอกปวีร์ สีฟ้า

         ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิสซูรีในปี 2018 พบว่า 93% ของครูที่ถูกสำรวจว่ามีความเครียดในระดับที่สูงนั้น ส่งผลให้นักเรียนของพวกเขามีผลการเรียนที่ต่ำและมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว นักการศึกษาหลายคนเชื่อว่าความเครียดของครูส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้และความเป็นอยู่ของนักเรียน ดังเช่นในปัจจุบัน ที่เราเห็นข่าวสารตามฟีดในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ว่า ครูเผชิญกับปัญหาความเครียดสะสมอย่างต่อเนื่อง แล้วนำความรู้สึกที่เกิดขึ้นไประบายกับนักเรียน เช่น การดุด่าด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม การทำร้ายร่างกายทั้งที่เล็กน้อยจนไปถึงขั้นที่รุนแรง บทความนี้จะมาชวนผู้อ่านไปทำความเข้าใจสาเหตุของความเครียดต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยให้เรารับมือกับงานได้ดียิ่งขึ้น

ความเครียดของครูเกิดจากอะไรได้บ้าง

สาเหตุความเครียดของครูโดยทั่วไปนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านที่เกี่ยวกับตนเอง โดยทั่วไปทุกคนก็จะพบเจอปัญหาในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มมาสำหรับคนเป็นครู คือ การคาดหวังผลลัพธ์ที่โดดเด่นจากนักเรียน เนื่องจากทุกโรงเรียนจำเป็นต้องทำการทดสอบมาตรฐาน หากไม่ผ่านเกณฑ์ โรงเรียนนั้นอาจจะถูกลดงบประมาณหรือเกิดผลกระทบเชิงลบอื่นตามมา ถือเป็นการเพิ่มความกดดันให้ครู ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงอารมณ์ของครู และครูเองก็ไม่ได้มีทักษะการจัดการอารมณ์ที่ดี และรับมือกับเรื่องราวหรือปัญหาที่หนักหนาได้เท่ากัน ทำให้ครูหลายคนไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่พบเจอได้ ย่อมเกิดความเครียดเป็นปกติ
2. ด้านที่เกี่ยวกับงาน สิ่งที่ครูต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ นักเรียน หากมีนักเรียนคนใดที่ไม่สนใจเนื้อหาหรือไม่ทำงานส่ง ครูก็จะเกิดความกังวลใจ เมื่อมีนักเรียนที่มีการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก็อาจจะส่งผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้โดยรวมของห้องเรียนนั้น นอกจากครูจะต้องประสานงานภายในองค์กรแล้ว บางครั้งครูอาจจะต้องไปฝึกอบรมหรือทำงานร่วมกันกับผู้ปกครอง ทำให้ครูมีเวลาพักผ่อนน้อยลง นั่นก็เป็นสาเหตุหลักของความเครียดเช่นกัน
3. ด้านที่เกี่ยวกับบุคคลที่ต้องติดต่อด้วย ในแต่ละโรงเรียนย่อมมีบรรยากาศในการทำงานที่ต่างกัน เนื่องมาจากวัฒนธรรมขององค์กร ความช่วยเหลือกันและกันระหว่างบุคลากรภายในโรงเรียน หากครูมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักกับผู้บริหาร เพื่อนครู หรือนักเรียน สิ่งนี้สามารถเพิ่มความเครียดให้กับครู และยังส่งผลให้ความพึงพอใจในการทำงานของครูลดลงอีกด้วย นอกจากครูจะต้องทำงานกับนักเรียนแล้ว ครูยังต้องรับมือกับผู้ปกครองของนักเรียนที่เรียกได้ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ไม่อาจคาดเดาได้ ยิ่งคนเยอะ เรื่องก็เยอะตาม สิ่งนี้อาจจะทำให้ครูเครียดและเสี่ยงต่อสภาวะซึมเศร้าได้

แนวทางในการช่วยลดความเครียดให้ครู

          แม้ครูจะเป็นผู้ประสบภัยความเครียด แต่ก็ใช่ว่าจะต้องเป็นฝ่ายรับมือหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว ยังมีผู้บริหารโรงเรียนและเพื่อนครู ที่สามารถบรรเทาความเครียดให้ครูได้ ผ่านการใช้แนวทางดังต่อไปนี้
1. สำรวจครูโดยใช้แบบสอบถาม และรับฟัง
เมื่อครูทำงานไประยะหนึ่ง ย่อมพบเจอกับปัญหาต่างๆ หรืออยากได้รับความช่วยเหลือเพื่อช่วยให้การทำงานในแต่ละวันนั้นง่ายขึ้น การสำรวจ ความต้องการของครูเพื่อฟังความเห็นว่าพวกเขาต้องการให้ช่วยเหลือในเรื่องใดก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ
2. ให้เวลาพัก (จริง ๆ) กับครู
แนวคิด tap-in/tap-out จากโรงเรียนประถมศึกษาในแนชวิลล์ เป็นวิธีการทำงานที่ให้ครูโทรหาเพื่อนครูด้วยกัน เมื่อพบเจอกับสถานการณ์ที่ยากจะรับมือได้ หรืออยากออกจากห้องเรียนเพื่อไปตั้งสติก่อน ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ตอกย้ำให้เห็นว่าครูสามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน ไม่จำเป็นต้องฝืนทั้ง ๆ ที่ตัวเองรู้สึกไม่โอเค เพราะครูก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ใช่ ‘ฮีโร่’
3. ยืดหยุ่นในการติดตามการทำงาน
การทำงานที่มีการติดตาม ลงเวลาเข้า-ออกโรงเรียนนั้นนำมาซึ่งความรู้สึกกดดัน โรงเรียนควรจะหันมาโฟกัสกับงานที่ครูทำน่าจะช่วยลดปัญหาได้ ถ้าครูทำงานสำคัญเสร็จตามที่ได้รับมอบหมายและมีการเตรียมพร้อมเพื่อสอนนักเรียน นั่นก็น่าจะถือว่าครูได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว และหากมีเรื่องไหนที่สามารถอะลุ่มอล่วยได้ก็ควรที่จะยืดหยุ่น เช่น การฝึกอบรมออนไลน์ ควรอนุญาตให้ครูสามารถประชุมที่บ้านและแต่งกายด้วยชุดสบาย ๆ ได้
4. รูปแบบและการสนับสนุนด้านสุขภาพ
Katy Farber ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวิชาชีพครู กล่าวว่า “ระดับความเครียดของครูนั้นใกล้เคียงกับแพทย์หรือพยาบาลในห้องฉุกเฉิน” ผู้บริหารโรงเรียนต้องเป็นแบบอย่างของการมีสุขภาพที่ดีและการดูแลตนเอง (Self-care) ทั้งควรจะมีบทบาทในการกระตุ้นให้ครูได้หยุดพักจากการทำงาน เช่น การงดตอบอีเมลหลัง 6 โมงเย็น และบอกให้ครูรู้ว่าจะไม่รบกวนหรือคาดหวังให้ตอบอีเมลในช่วงวันหยุด

          ความเครียดของครูถือเป็นเรื่องที่โรงเรียนควรให้ความสำคัญ ไม่แพ้ไปกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เนื่องจากครูมีอิทธิพลต่อนักเรียนเป็นอย่างมาก หากครูมีความสุขกับการทำงาน ก็ย่อมเป็นผลดีกับตัวของนักเรียนที่จะมีครูคอยสนับสนุนและผลักดันพวกเขาอย่างเต็มที่

แหล่งอ้างอิง
Gonser, S. (2021, February 11). Schools, not teachers, must reduce stress and burnout—Here’s how. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/schools-not-teachers-must-reduce-stress-and-burnout-heres-how

Greenberg, M., Brown, J. & Abenavoli, R. (2016, September 1). Teacher stress and health. Robert Wood Johnson Foundation. https://www.rwjf.org/en/library/research/2016/07/teacher-stress-and-health.html

Herman, K. (2018, April 24). More than 9 in 10 elementary school teachers feel highly stressed, MU study finds. MU News Bureau. https://munewsarchives.missouri.edu/news-releases/2018/0424-more-than-9-in-10-elementary-school-teachers-feel-highly-stressed-mu-study-finds/

Learning Liftoff. (2018, May 23). Top 3 causes of teacher stress and how it affects students. https://www.learningliftoff.com/how-teacher-stress-affects-students/


TAG: #ความเครียด #วิธีลดความเครียด #ความเครียดของครู #Social Emotional Learning #SEL #จิตวิทยาแนะแนว #Self-care