Knowledge

สร้าง SEL (Social Emotional Learning) ในห้องเรียนออนไลน์

สร้าง SEL (Social Emotional Learning) ในห้องเรียนออนไลน์

 3 years ago 8078

เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี

          การเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอ เป็นสิ่งที่ท้าทายและยากลำบากของครูและนักเรียน เพราะขณะที่ทุกคนกำลังนั่งอยู่หน้าจอ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงความรู้สึกที่อยู่ข้างในจิตใจของแต่ละคน ครูอาจไม่รู้เลยว่าเด็ก ๆ กำลังกังวลใจ เศร้า หวาดกลัว หรือรู้สึกทุกข์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ครูวัดและประเมินความชอกช้ำทางอารมณ์ของผู้เรียนได้ยากกว่าการเรียนในห้องแบบต่อหน้า ดังนั้น การเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ หรือ Social Emotional Learning (SEL) จึงเป็นหลักการหนึ่งในการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมแก่ผู้เรียนผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ได้ เพราะเด็กจะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี จำเป็นต้องมีทั้งความรู้ความสามารถ และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์และสังคมที่ดีด้วย ซึ่งครูอาจลองสอดแทรกวิธีสร้าง SEL แก่นักเรียนผ่าน 5 ทักษะ ดังนี้

1. Self-Awareness การตระหนักรู้ในตัวเอง
          การเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของตนเอง คือทักษะสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนประเมินตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงรู้จักควบคุมอารมณ์ ความประพฤติของตัวเองได้ด้วย ซึ่งครูสามารถกระตุ้นนักเรียนให้ตระหนักรู้ในเองผ่านกระบวนการสอนที่มีการคิดเชื่อมโยงมากขึ้นได้ โดยการยกสถานการณ์ตัวอย่างมาให้นักเรียนฝึกฝนการรับรู้ความคิด ความรู้สึก และการกระทำว่าเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสทบทวนความรู้สึกนึกคิดของตนเอง

2. Self-Management การบริหารจัดการตัวเอง
          ครูสามารถส่งเสริมทักษะการบริหารจัดการตัวเองให้ผู้เรียนได้ง่าย ๆ เช่น ครูกำหนดการส่งงานและการสอบย่อยออนไลน์ในชั่วโมงเรียนเดียวกัน เพื่อให้นักเรียนฝึกบริหารเวลาและจัดการตัวเอง ว่าควรเตรียมตัวหรือทำอย่างไรให้ส่งงานได้ตามกำหนดและสอบย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ซึ่งครูมีโอกาสช่วยกระตุ้นนักเรียนได้น้อยกว่าการเรียนในห้องเรียน ถือเป็นช่วงเวลาในการฝึกฝนทักษะดังกล่าวได้มากกว่าปกติ ซึ่งไม่เพียงส่งผลดีต่อผู้เรียนในด้านการบริหารงานที่ต้องรับผิดชอบเท่านั้น แต่ผู้เรียนยังสามารถจัดการความรู้สึก ความประพฤติ และรู้จักลำดับความสำคัญในชีวิตได้ด้วยตนเอง

3. Responsible Decision-Making ความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเลือก
          ความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเลือก เป็นทักษะที่เกิดจากนักเรียนต้องรู้จักและมีความสามารถพิจารณามาตรฐานทางจริยธรรมในสิ่งที่ตนเองเลือกกระทำ อาจเรียกได้ว่า รู้จักยอมรับความจริงหรือผลที่มีเหตุมาจากตัวนักเรียนเอง เช่น ในคลาสเรียนออนไลน์ หากนักเรียนเลือกสอบเก็บคะแนน 100 % แทนการส่งงาน ดังนั้น หากนักเรียนสอบได้คะแนนไม่ดี เพราะไม่ได้อ่านหนังสืออย่างเพียงพอ นักเรียนควรยอมรับและรับผิดชอบในการกระทำของตนอย่างเข้าใจ โดยครูต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนมีสิทธิ์เลือกอย่างเสรี และเท่าเทียมกันด้วย

4. Relationship Skills ทักษะด้านความสัมพันธ์
          การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน หรือนักเรียนกับผู้ปกครอง ฯลฯ ล้วนมีการสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยอวัจนภาษาและวัจนภาษา โดยเฉพาะการเรียนผ่านออนไลน์ จำเป็นต้องอาศัยความกระตือรือร้นและตื่นตัวด้วยกันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ครูอาจกำหนดให้นักเรียนสลับคู่กันทำงานที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนคนอื่น ๆ รู้จักการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่ไม่คุ้นเคย และกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น

5. Social Awareness การตระหนักรู้ทางสังคม
          ถือเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้นักเรียนมีความสามารถที่จะเข้าอกเข้าใจ (empathy) ความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์หรือในห้องเรียน ย่อมแวดล้อมไปด้วยผู้เรียนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความสามารถ ชีวิตความเป็นอยู่ บุคลิกภาพและลักษณะนิสัย อย่างกรณีนักเรียนคนหนึ่งมีอุปกรณ์การเรียนที่ไม่ครบพร้อม ทำให้ช่วยเพื่อนนำเสนองานในรูปแบบออนไลน์ได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้เพื่อน ๆ ไม่พอใจนักเรียนคนนั้น ครูจึงต้องชี้แนะให้นักเรียนรู้ซึ้งถึงอารมณ์และความรู้สึกของเพื่อน โดยครูอาจถามว่า “ถ้าหนูเป็นเพื่อนที่ขาดอุปกรณ์การเรียน หนูจะรู้สึกอย่างไร และหนูช่วยเพื่อนได้หรือไม่ ?” คำถามนี้จะช่วยกระตุ้นจิตสำนึกให้นักเรียนมีจินตนาการนึกถึงผู้อื่น และเกิดความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

          ทั้งนี้ ครูผู้สอนจะต้องมีทักษะทางอารมณ์และสังคม (SEL) ด้วย จึงจะสามารถถ่ายทอดทักษะดังกล่าวไปสู่เด็กนักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ และเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง

แหล่งอ้างอิง
ณิชากร ศรีเพชรดี. SOCIAL AWARENESS ฝึกเด็กๆ เข้าไปถึงใจคนอื่นด้วยคำถาม “ถ้าเป็นเรา-เราจะรู้สึกยังไง”. (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก https://thepotential.org/knowledge/social-awareness/ (สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2564)

Everydayspeech. A Guide To Social-Emotional Learning. (n.d.). [online]. From https://everydayspeech.com/guide-to-sel/ (retrieve June 2, 2021)

Roger Weissberg. Why Social and Emotional Learning Is Essential for Students. (2016). [online]. From https://www.edutopia.org/blog/why-sel-essential-for-students-weissberg-durlak-domitrovich-gullotta (retrieve June 2, 2021)


TAG: #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #ทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ #Social Emotional Learning #Social Learning #Emotional Learning #SEL #ทักษะศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่21 #โรคระบาดใหญ่ #โควิด19 #COVID19 #SEL คืออะไร