Knowledge
เฮ่ฮัลเล ฮัลเลวองก้า ๆ นักเรียนจ๊ะ นักเรียนจ๋าออกมา เปิดกล้องมาเรียนออนไลน์กัน !
3 years ago 3891เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี
หนึ่งในปัญหาที่ครูหลายท่านต้องเผชิญกับการเรียนการสอนออนไลน์ คือ การสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) ผ่านภาพโพรไฟล์ (Profile) ที่มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นภาพการ์ตูน ภาพดาราเกาหลี ภาพตัวอักษรภาษาอังกฤษ ฯลฯ จนบางครั้งก็เหมือนครูนั่งพูดคนเดียวไปเรื่อย ๆ จนจบคาบเรียน ในเมื่อเราไม่สามารถบังคับนักเรียนให้เปิดกล้องได้ แล้วจะมีวิธีไหนบ้างที่จะสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนเปิดใจและพร้อมเปิดกล้องในขณะเรียนออนไลน์
การที่นักเรียนเปิดกล้องขณะที่ครูกำลังสอน ทำให้ครูสามารถประเมินการสอนได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้น เรามีวิธีที่จะมาช่วยคุณครูแก้ปัญหานี้ไปด้วยกัน โดยใช้หลักของ SEL Social Emotional Learning เพื่อส่งเสริมการใช้กล้อง ดังนี้
1. สร้างความสัมพันธ์
ครูควรสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นในห้องเรียนออนไลน์ ทั้งระหว่างครูและนักเรียน หรือนักเรียนและเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เช่น การพูดคุย การถาม-ตอบ ยิ่งในห้องเรียนมีความไว้วางใจและความสนิทสนมกันมากเท่าไร ก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมากเท่านั้น
2. สำรวจ
ครูอาจใช้ Google form เพื่อสอบถามนักเรียนแต่ละคนถึงเหตุผล หรืออุปสรรคที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องการเปิดกล้อง โดยแบบสอบถามนั้นจะมีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจากสาเหตุที่นักเรียนแต่ละคนได้ระบุไว้ ครูสามารถนำมาวิเคราะห์และหาวิธีแก้ไขอย่างเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนอย่างสูงสุด
3. กิจกรรมละลายพฤติกรรม
การละลายพฤติกรรม หรือ ice-breaking เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และยังช่วยให้นักเรียนแต่ละคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนออนไลน์ได้ ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow) ครูสามารถออกแบบกิจกรรมได้อย่างง่าย ๆ ยกตัวอย่าง กิจกรรมถามคำถามง่าย ๆ ว่า วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง แล้วให้นักเรียนหยิบสิ่งของรอบตัวมาแสดงประกอบกับการอธิบายความรู้สึกของตน โดยใช้สีของสิ่งของแทนอารมณ์ หรือความรู้สึกของนักเรียน ณ เวลานั้น ๆ เช่น ใส่เสื้อหรือนำผ้าที่มีลวดลายหลากสีสัน แทนความรู้สึกที่สับสน หยิบกระดาษเปล่าสีขาว แทนความรู้สึกที่ว่างเปล่า ไม่มีสีสัน
4. สร้างความสบายใจ
ครูอาจส่งเสริมให้นักเรียนใช้ภาพพื้นหลังเสมือนจริง (virtual background) เพื่อความสบายใจในการเปิดเผยสภาพแวดล้อมที่ตนอยู่ เช่น ครูนัดกับนักเรียนว่า คาบเรียนวันนี้จะมาในธีม (theme) อะไรดี หากเป็นวิชาดาราศาสตร์ ครูก็สามารถนัดกับนักเรียนให้ใช้พื้นหลังที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ได้ หากอุปกรณ์ของนักเรียนบางคนไม่สามารถเปลี่ยนภาพพื้นหลังได้ ก็อาจเปลี่ยนแค่ภาพโพรไฟล์เป็นธีมเดียวกัน หรือใครอยากหาอุปกรณ์รอบบ้านมาประยุกต์เองก็ได้ตามความสะดวก
5. ความเข้าอกเข้าใจ
ครูสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียนในเรื่องของการเปิดกล้องในมุมมองของครู เพื่อเป็นการโน้มน้าวใจนักเรียนทางอ้อม เช่น บางครั้งครูเองก็ไม่ได้แต่งหน้าเหมือนตอนสอนในห้องเรียน แต่ครูก็ยังเตรียมพร้อมที่จะมาสอนนักเรียนโดยเปิดกล้องได้ หรือบางครั้งครูเองก็ประสบเหตุสะเทือนจิตใจ แต่ครูก็ต้องพร้อมที่จะเปิดกล้องมาทักทายนักเรียน เพราะสิ่งนี้คือหน้าที่รับผิดชอบของครู แล้วครูเองก็อยากเห็นหน้านักเรียน และหวังว่านักเรียนจะอยากเห็นหน้าครูด้วยเหมือนกัน เป็นต้น การพูดคุยเพื่อแชร์ปัญหาหรือเรื่องราว อาจทำให้นักเรียนรู้ซึ้งถึงจิตใจของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
การที่นักเรียนเปิดกล้องและเปิดใจในการเรียนออนไลน์เป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยให้ครูสะดวกในการวัดและประเมินผล รวมทั้งทำให้การเรียนการสอนมีชีวิตชีวามากขึ้น จากการมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านภาพเคลื่อนไหวที่ปรากฏบนหน้าจอแทนภาพนิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ขอฝากครูทุกท่านว่า การบังคับนักเรียนให้เปิดกล้องโดยใช้คะแนนหรือแต้มสะสมจิตพิสัยมาเป็นแรงจูงใจนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เพราะการสร้างแรงจูงใจที่แท้จริงจะต้องเกิดจากพลังผลักดันภายใน หรือความต้องการจากภายในตัวบุคคล
แหล่งอ้างอิง
ทีมชูใจ. 5 ไอเดีย Ice breaking ในช่วงโซเซียลดิสท้านนนน. (2563). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.choojaiproject.org/2020/09/5-idea-of-ice-breaking/ (สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564)
urbinne. การละลายพฤติกรรม หรือ Ice-breaking คืออะไร? ทำให้มีคุณภาพได้อย่างไร?. (2564). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.urbinner.com/post/what-is-ice-breaking (สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2564)
Youki Terada. The Camera-On/Camera-Off Dilemma. (2021). [online]. from https://www.edutopia.org/article/camera-oncamera-dilemma (retrieve July 15, 2021)
Liz Byron Loya. Strategies to Encourage Students to Turn Their Cameras On. (2020). [online]. From https://www.edutopia.org/article/strategies-encourage-students-turn-their-cameras (retrieve July 15, 2021)