Knowledge

แก้ Work ไร้ balance

แก้ Work ไร้ balance

 3 years ago 3382

เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร

          หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Work life balance หรือการทำให้ชีวิตสมดุล แต่ในช่วง Work from home ต่อเนื่องแบบนี้ จาก Work life balance อาจเปลี่ยนเป็น Work ไร้ Balance กันเสียมากกว่า ถ้าคุณกำลังประสบปัญหาทำงานจนไม่มีเวลาส่วนตัว มาดูคำแนะนำง่าย ๆ ที่จะช่วยให้ชีวิต balance กัน

Work life balance คืออะไร
          Work life balance นิยามของคำนี้ คือการพัฒนาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน หลายคนคงคิดว่าการทำงานหนักหรือการทุ่มเทให้องค์กรนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ความจริงแล้วการทำงานหนักเกินไปกลับทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงต่างหาก และเมื่อเราปล่อยให้งานเป็นทุกอย่างของชีวิต สิ่งแรกที่ต้องเผชิญคือปัญหาความเครียด เมื่อเกิดความเครียดเรื้อรัง สิ่งที่ตามมาคือปัญหารายจ่ายที่ต้องใช้รักษาสุขภาพ ส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน Work life balance จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อลดปัญหาทั้งในเรื่องสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงาน

ทุกด้านของชีวิตมีสมดุล
          สมดุลชีวิตมีหลายด้าน ยกตัวอย่างมุมมองของ Vishen Lakhiani ที่กล่าวถึงความสมดุลของชีวิต 12 ด้าน เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกคนได้กลับมาทบทวน ว่าเราได้ให้ความสำคัญกับชีวิตในแต่ละด้านมากน้อยแค่ไหน แล้วลองให้คะแนนตัวเอง 1-10 ว่าแต่ละด้านของเราให้คะแนนเท่าไร (1 คือให้ความสำคัญน้อยที่สุด 10 คือให้ความสำคัญมากที่สุด)

1. ความรักความสัมพันธ์ (Love Relationships) ตอนนี้ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวเป็นอย่างไร มีเวลาให้กันหรือไม่ หรือมีเวลาให้ตัวเองหรือไม่
2. มิตรภาพ (Friendships) ชีวิตในตอนนี้พบมิตรภาพที่ดีแล้วหรือยัง ได้มีโอกาสใช้เวลากับเพื่อน ๆ หรือเวลาทำงานมีคนคอยสนับสนุนให้การช่วยเหลือบ้างหรือไม่
3. การเดินทาง (Adventures) มีเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวและทำสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เคยทำหรือยัง
4. สิ่งแวดล้อม (Environment) สิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นอย่างไร ทั้งบรรยากาศในบ้านและที่ทำงาน เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับเราหรือไม่
5. สุขภาพและการออกกำลังกาย (Health and Fitness) “อายุน้อยร้อยโรค” คนวัยทำงานหลายคนกำลังรับรู้ได้ถึงปัญหาสุขภาพร่างกายของตัวเอง ลองกลับมาเช็คหรือตรวจสุขภาพดูบ้างหรือยัง
6. การเรียนรู้ (Intellectual Life) ให้เวลากับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ฟัง Podcast หรือเข้าอบรมพัฒนาตัวเองในด้านที่ตัวเองสนใจ
7. ทักษะ (Skills) ทักษะการทำงานของตัวเองพัฒนาขึ้นบ้างหรือไม่ หรือมีโอกาสต่อยอดหน้าที่การงานของตัวเองบ้างหรือยัง
8. ดูแลสภาพจิตใจ (Spiritual Life) ให้เวลาดูแลสภาพจิตใจของตัวเองบ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปหาพื้นที่สงบให้ตัวเอง หรือนั่งทำสมาธิ
9. อาชีพ (Career) มีความสุขในอาชีพที่ทำอยู่หรือไม่ อาชีพที่ทำมีความก้าวหน้าหรือตอนนี้ยังอยู่ที่เดิม หรือพอใจในงานที่ทำแล้วหรือยัง
10. นัทนาการ (Creative Life) ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมร้องเพลง วาดรูป เล่นดนตรี กิจกรรผ่อนคลายเหล่านี้ เรามีเวลาทำมันบ้างหรือไม่
11. ครอบครัว (Family Life) มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวหรือไม่ มีเวลาให้ครอบครัวมากน้อยแค่ไหน
12. จิตอาสา (Community Life) มีเวลาทำเพื่อส่วนร่วม หรือช่วยเหลือผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน

          หากลองให้คะแนนแต่ละด้าน แล้วพบว่ามีด้านใดต่ำกว่า 5 คะแนน นั่นหมายความว่าเราได้มองข้ามด้านนั้นไป โดยเฉพาะด้านครอบครัว จิตใจ และสุขภาพ หากคะแนนด้านเหล่านี้มีคะแนนที่ต่ำจนเกินไป อาจส่งผลให้ชีวิตส่วนตัวนั้นไม่สมดุล แสดงว่าเราเข้าขั้นที่จะเป็น Work ไร้ balance แล้ว และเพื่อให้การประเมินดังกล่าวเห็นภาพชัดขึ้น อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ คือการเขียน Wheel of life โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทาง https://www.templateroller.com/template/631150/wheel-life-template.html
          เมื่อดาวน์โหลดมาแล้ว จะพบเอกสารเกี่ยวกับการเขียนวงล้อชีวิตทั้งหมด 2 หน้า ซึ่งในวงล้อชีวิตจะมี ทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ Personal & Spiritual Growth, Business / Career, Money, Health, Friends & Family, Love & romance, Personal Development และ Fun & relaxation
          การใช้งานก็ง่าย ๆ เพียงแค่ลากเส้นตามคะแนนระดับ 1-10 ในแต่ละด้าน หากรูปแบบที่กำหนดด้าน ต่าง ๆ ในชีวิตมาให้ไม่ตรงตามต้องการ ในเว็บไซต์ข้างต้นจะมีเอกสารหน้าที่ 2 ให้เรากำหนดด้านที่ต้องการประเมินขึ้นมาได้เอง เพียงเท่านี้ เราก็สามารถเห็นภาพวงล้อชีวิตชัดขึ้น ว่าเราจัดเวลาสมดุลชีวิตได้ดีหรือไม่ แต่การให้คะแนนนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเห็นปัญหาเท่านั้น สิ่งที่เราควรทำก็คือการเร่งแก้ไข

แก้ไข Work ไร้ balance
          การแก้ Work ไร้ balance คือการบริหารเวลาที่ดี การจัดตารางจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเขียนสิ่งที่ต้องทำไว้เฉย ๆ แต่ไม่มีการแจ้งเตือน ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
          ปัจจุบัน Smart phone เป็นอุปกรณ์ที่มีติดตัวใครหลาย ๆ คน ปัญหาการจัดการเวลาจะหมดไปหากเราใช้ Application ที่สามารถเขียนนัดหมาย จัดตาราง รวมถึงช่วยแจ้งเตือนได้ด้วย เช่น Google Calendar แน่นอนว่าการทำงานเราต้องมีการติดต่อสื่อสารผ่านทาง Email ซึ่ง Google Calendar จะสะดวกสำหรับการนัดหมาย นัดประชุม ฯลฯ เป็นแพลตฟอร์มสากลที่ใคร ๆ ก็ใช้ได้ ส่งคำเชิญการนัดหมายไปให้ผู้อื่นได้ หรือแม้แต่แชร์ทั้งปฏิทินงานของเราให้ผู้อื่นเห็นว่าเรามีเวลาว่างตรงไหน ซึ่งสามารถนัดได้ทั้งการทำงาน นัดสังสรรค์ หรือนัดทำกิจกรรมกับครอบครัว และเมื่อมีคำเชิญในอีเมลก็กดเพิ่มเข้าไปใน Calendar ได้เลย แถมมีการแจ้งเตือนก่อนถึงเวลาด้วย ถือได้ว่าเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้เวลาชีวิตสมดุล
          นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย ๆ แอปพลิเคชันที่เป็นผู้ช่วยเรื่องจัดตารางชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็น To do list, Trello, Slack, Remember the Milk, Planner Pro, Rescue Time และอีกมากมาย ดาวน์โหลดมาใช้ตามความชอบได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานผ่านระบบออนไลน์ อาจเผชิญกับตารางเวลาที่ไม่แน่นอน ทั้งเรื่องการทำงาน การใช้ชีวิต อย่างอาชีพครูก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องทำงานทั้งในและนอกห้องเรียน เมื่อเหล่าคุณครูดูแลนักเรียนแล้ว ก็อย่าลืมกลับมาดูแลตัวเอง อย่าปล่อยให้ชีวิตต้องไร้ balance

แหล่งอ้างอิง
Alan Kohll. (2561). The Evolving Definition Of Work-Life. 11 กรกฎาคม 2564, จาก https://www.forbes.com/sites/alankohll/2018/03/27/the-evolving-definition-of-work-life-balance/?

Andrew Mitchell. (2561). The 12 Areas Of Life Balance. 13 กรกฎาคม 2564, จาก https://www.thedesigncoach.com.au/post/the-12-areas-of-life-balance


Salary Investor. (2564). 7 แอปพลิเคชัน “ผู้ช่วยบริหารเวลา” ให้คนทำงาน จัดสรรเวลาได้ดีขึ้น. 14 กรกฎาคม 2564, จาก https://salaryinvestor.com/guide/work/7-apps-time-management/


TAG: #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #Work life balance #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่ #ทักษะศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่21 #การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #ทักษะทางด้านสังคมและอารมณ์ #Social Emotional Learning #Social Learning #Emotional Learning #SEL #ภาวะหมดไฟ #Burn Out