Knowledge

บทบาทครูแนะแนวในยุคที่นักเรียนพึ่งพาตัวเองได้

บทบาทครูแนะแนวในยุคที่นักเรียนพึ่งพาตัวเองได้

 1 year ago 3642

อาทิตยา ไสยพร

          ปัจจุบันมุมมองของนักเรียน (และครู) หลายคนที่มีต่อวิชาแนะแนว มักมองว่าวิชาแนะแนว ไม่ได้มีผลต่อผลการเรียน คาบแนะแนวมีไว้ทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ พักผ่อนหรือไว้ทำงานวิชาอื่น และด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้นักเรียนเข้าถึงข้อมูลด้วยตัวเองได้ แต่จะดีกว่าไหมถ้านักเรียนสามารถเข้าถึงข้อมูลพร้อมกับมีโค้ชที่ดีที่จะพาไปสู่เป้าหมาย กับบทบาทครูแนะแนวยุคใหม่ที่จะช่วยให้การแนะแนวเป็นได้มากกว่าที่เคยเป็น

3 ขอบข่ายงานแนะแนวพื้นฐานในโรงเรียน

          การแนะแนว (Guidance) หมายถึง คำแนะนำหรือข้อมูลที่ได้รับจากบุคคลที่มีประสบการณ์เพื่อแก้ไขหรือปรับปรุงบางสิ่ง เป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคคลได้ค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน ขอบข่ายงานแนะแนวพื้นฐานในโรงเรียนมีด้วยกัน 3 ประเภท การแนะแนวประกอบด้วยอะไร
          1. การแนะแนวเกี่ยวกับการศึกษา (Educational Guidance) เป็นการแนะแนวในสิ่งที่เกี่ยวข้องในส่วนของการศึกษาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น การให้รายละเอียดเกี่ยวกับคณะ-สาขาวิชาในมหาวิทยาลัย ทุนการศึกษา รวมไปถึงการเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อ ชี้แนะแนวทางการพัฒนาทักษะที่เหมาะสม และช่วยวางแผนการเรียนรายบุคคลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่นักเรียนต้องการ
          2. การแนะแนวเกี่ยวกับอาชีพ (Vocational Guidance) เป็นการแนะแนวที่ให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโลกของอาชีพ การเติบโตในสายอาชีพ และเจาะลึกไปถึงทักษะที่ต้องมีเพื่อจะประกอบอาชีพนั้น อาจต้องมีการแนะนำจากผู้ประกอบอาชีพตัวจริง เพื่อช่วยให้ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นประกอบกับช่วยในการตัดสินใจในอนาคต
          3. การแนะแนวส่วนบุคคล (Personal Guidance) เป็นการพูดคุยและให้การปรึกษาแบบส่วนตัว หรือการจัดกิจกรรมแนะแนวในชั้นเรียน ที่มุ่งเน้นในเรื่องสังคม สภาพจิตใจ สุขภาพหรือปัญหาส่วนตัวต่าง ๆ ในการช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ที่จะช่วยให้ทั้งตัวนักเรียนและครูต่างรู้จักและเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น

          โดยรวมแล้วงานแนะแนวทั้ง 3 ประเภทเป็นสิ่งที่คุณครูคุ้นเคยกันดีและปฏิบัติกันมาตลอด แต่แม้จะทำทั้งหมดนี้ ก็ยังคงยากที่นักเรียนจะรู้จักตนเองและเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ คงจะดีไม่น้อยหากครูปรับบทบาทของตนให้เป็นโค้ชแนะแนวที่แนะนำนักเรียนได้ตรงจุดมากขึ้น

การแนะแนวแบบใหม่ควรเป็นอย่างไร

          จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการแนะแนวยุคใหม่ ควรเริ่มจากการสร้างเป้าหมาย การสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง การเพิ่มทักษะการตัดสินใจ (decision-making) เพราะคุณลักษณะเหล่านี้สามารถดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาให้มากที่สุด ดังนั้น การแนะแนวแบบใหม่จึงควรเปลี่ยนจากการแนะแนว 1 คาบต่อสัปดาห์ ไปเป็นการทำงานเป็นทีมที่ใครก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแนะแนวได้ เริ่มจากครูที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดนักเรียนผู้มีข้อมูลของนักเรียนมากที่สุด ให้เป็นผู้แนะนำและสนับสนุนในสิ่งที่เป็นตัวตนของเขา ตามความถนัดที่แท้จริงที่ได้จากข้อมูลที่มีโดยไร้อคติส่วนตัว
          ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนมีความชอบทางศิลปะสิ่งนี้เป็นจุดเด่นที่ครูที่ปรึกษาและเพื่อนร่วมชั้นหลายคนเห็นมาตลอด อาจมีการส่งข้อมูลให้ครูแนะแนวเพื่อแนะนำสาขาวิชาและอาชีพที่เกี่ยวข้องให้กับนักเรียน ผู้ที่มีบทบาทต่อมาคือผู้ปกครองสามารถมีบทบาทในการแนะแนวได้เช่นกัน
          นอกจากบริบทในโรงเรียนแล้ว ความฝันและการตัดสินใจสำคัญในชีวิตของนักเรียนอาจเกิดจากอิทธิพลครอบครัว (Family Influence) เช่นกัน ผลสำรวจจาก Joblist พบว่าเกือบ 2 ใน 3 ผู้ปกครองจะรู้สึกผิดหวังหากลูกของตนไม่เข้าเรียนในคณะ หรือทำงานตามที่ตนคาดหวัง นอกจากนี้ ผลวิจัยโครงการ New Asian Learning Experience ซึ่งเป็นการสำรวจทัศนคติและบุคลิกลักษณะของพ่อแม่ยุคใหม่ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยสำรวจผู้ปกครองกลุ่ม Millennial ใน 7 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ผลพบว่า ผู้ปกครองยุคใหม่ของประเทศไทย 65% กังวลเรื่องค่าครองชีพมากที่สุดจึงกลายเป็นการโน้มน้าวใจในการเลือกเรียนหรือสาขาที่มีค่าตอบแทนสูง และรองลงมา 54% เป็นห่วงเรื่องการสร้างทักษะที่เหมาะสมให้กับเด็กในอนาคต
          จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า คุณครูแนะแนวและทุกคนที่เกี่ยวข้องจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างความเข้าใจระหว่าง Generation ความแตกต่างทางสภาพสังคมของแต่ละ Generation นี้ ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับความกดดันจากผู้ใหญ่ ทั้งการพูดโน้มน้าวและหนักที่สุด คือ การบีบบังคับให้ทำตาม การแนะแนวของครูแนะแนวจึงมีความสำคัญอย่างมากในการเข้ามาพูดคุยเพื่อชี้แนะแนวทางและแก้ปัญหาเพื่อให้นักเรียนได้เดินตามเส้นทางของตนเองได้
          ถึงแม้ข้อมูลในปัจจุบันจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว แต่เชื่อเลยว่าคุณครูแนะแนวยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นโค้ชที่ช่วยเสริมจุดแข็ง และแก้จุดอ่อนของนักเรียนในด้านต่าง ๆ และการแนะแนวไม่เพียงแค่ครูแนะแนวเท่านั้นที่ทำได้ แต่ทั้งครูที่ปรึกษา หรือแม้แต่ผู้ปกครองและเพื่อนก็สามารถมีบทบาทในการแนะแนวได้เช่นกัน เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลและให้คำปรึกษาจะสามารถช่วยเหลือและดึงศักยภาพของนักเรียนได้อย่างเต็มที่

แหล่งข้อมูล
ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์. (ม.ป.ป.). ความคาดหวัง จากผู้ใหญ่ ทำร้ายคนแบบ GEN ใหม่มากกว่าที่คิด. Cigna. https://www.cigna.co.th/health-wellness/tip/jigsawforgoodlife-ep2

สุริยเดว ทรีปาตี. (2565, 9 กุมภาพันธ์). ‘แนะแนวทางดูแลคนรุ่นใหม่’บนโลกใบเก่าที่ ‘ไม่เหมือนเดิม’ผู้ใหญ่ต้อง ‘พัฒนา ปรับตัว และเปิดใจ’. กสศ. https://www.eef.or.th/article-guidance-on-how-to-take-care-of-the-new-generation-090222/

Techsauce Team. (2562, 31 กรกฎาคม). HP เผยสถิติและข้อมูลครอบครัวยุคใหม่กับการเรียนรู้ของลูก ชี้พ่อแม่ไทย 65% กังวลเรื่องค่าครองชีพมากที่สุด. https://techsauce.co/pr-news/hp-thai-parent-plan-for-their-child

Iyejare, O. (2022, September 2). 9 goals of counseling (aims, goals, and objectives of guidance and counseling). Self Discovery Blog. https://theselfdiscoveryblog.com/9-goals-of-counseling-aims-goals-and-objectives-of-guidance-and-counseling/

Joblist. (2021, September 21). The impact of parental influence: Career edition https://www.joblist.com/trends/the-impact-of-parental-influence-career-edition

Khan, A. (2019, August 26). Meaning, Principles, and Need of Guidance. Toppr Bytes https://www.toppr.com/bytes/meaning-principles-and-need-of-guidance/

Khan, A. (2019, August 27). Types of guidance – educational, vocational, personal. Toppr Bytes. https://www.toppr.com/bytes/types-of-guidance/


TAG: #การออกแบบการเรียนรู้ #วิชาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #การศึกษาไทย #การแนะแนวอาชีพ #การแนะแนวส่วนบุคคล #ผู้ปกครอง #การทำงานกับผู้ปกครอง #ความตระหนักรู้ในตนเอง #Learning Facilitator #ผู้นำกระบวนการเรียนรู้ #Facilitator #ผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ #Coach #ครูแนะแนว