Knowledge

ครูไทยต้องเปลี่ยนจุดเน้น จากเนื้อหาวิชา สู่ทักษะ “การคิด”  สิ่งสำคัญของการสอนในศตวรรษที่ 21

ครูไทยต้องเปลี่ยนจุดเน้น จากเนื้อหาวิชา สู่ทักษะ “การคิด” สิ่งสำคัญของการสอนในศตวรรษที่ 21

 5 years ago 40958

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          การพัฒนาเด็กไทยให้มีทักษะพร้อมทุกด้านในศตวรรษที่ 21 ดูจะเป็นงานท้าทายของครูในยุคนี้ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการคิด ที่กระบวนการออกแบบการเรียนรู้มีความซับซ้อนขึ้น ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของครูในการดึง “แนวคิด” ของเด็กออกมา อีกทั้งยังต้องเปลี่ยนความเคยชินเดิมๆ ของครูกับการให้แนวคิดของตัวเองหรือเฉลยคำตอบที่ถูกต้อง โดยที่เด็กยังไม่ได้ใช้ทักษะการคิดของเขาเอง
          เป็นเรื่องสำคัญมากที่การเรียนการสอนในยุคใหม่ ต้องแยก “ความรู้” กับ “การคิด” ออกจากกันให้ได้ ครูหลายท่านอาจคิดว่า ตอนนี้กำลังสอนทักษะการคิดในศตวรรษที่ 21 ให้เด็กอยู่ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่กำลังสอนนั้นคือ ความรู้ ไม่ใช่ทักษะการคิด

จะพัฒนาทักษะการคิด จุดเน้นต้องเปลี่ยน
          การสอนโดยเน้นเรื่องความรู้ถือเป็นการสอนในศตวรรษที่ 20 แต่การสอน “การคิด” เป็นเรื่องของศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะอยู่ในตัวนักเรียนเอง สิ่งที่ครูกังวลใจมากที่สุด หากต้องสอนทักษะการคิดให้เด็กคือ แล้วอย่างนี้เด็กจะได้ความรู้หรือเปล่า

อยากให้นักเรียนได้... แต่ด้วยวิธีการของครู
นี่คือปัญหาใหญ่ เราต้องสอนให้เขามีทักษะการคิด

          คำถามกลับมาที่ แล้วเราจะพัฒนาวิชาชีพของเราอย่างไรในยุคที่ AI ทำได้เหนือกว่า ในแง่ของการค้นหาความรู้ ต้องยอมรับว่าสมองของคนเราไม่สามารถจดจำ หรือค้นหาความรู้บนโลกออนไลน์ได้ไวเท่า AI โจทย์ของเราในยุคนี้ ครูต้องให้นักเรียนมีโจทย์หรือปัญหาที่เขาต้องการแก้เอง ไม่ใช่ให้เด็กมานั่งแก้ปัญหาของครู

สาระของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่เนื้อหาวิชา แต่เป็น Collaboration
          จะสอนอะไรเด็กเป็นเรื่องที่ครูต้องจริงจัง What และ Why เป็นเรื่องที่ครูต้องตอบให้ได้ ซึ่งมักเป็นเรื่องที่ครูไม่ถาม เพราะครูไทยมักนิยมถาม How มากกว่า แต่การถาม How กลับเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นไม่ถามกัน เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องปัจเจกของครูแต่ละคน ประกอบกับสังคมที่นั่นเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเองมาตลอด เรื่อง How จึงเป็นเรื่องที่มีอยู่ในคนญี่ปุ่นทุกคน
          แม้ How อาจเป็นเรื่องยากสำหรับครูไทยในช่วงแรกๆ แต่เริ่มต้นได้ที่โรงเรียน ลองพูดคุยและนำวิธีการต่างๆ มาแชร์กัน สังคมบ้านเรามีความเชื่อว่า ความรู้เดิมจะช่วยแก้ปัญหาใหม่ได้ แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งกลับบอกว่า ความรู้เดิมที่เรียนมากมายนั้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใหม่ โดยเฉพาะถ้าเป็นปัญหาใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
          ชั้นเรียนในยุคใหม่จึงเป็นเรื่องการเตรียม “ทักษะการคิด” ให้เด็กมี “แนวคิด” ของเขาเอง เพื่อเตรียมรับกับสิ่งที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน หน้าที่ครูไม่ใช่การ “ถ่ายทอด” เนื้อหา แต่เป็นการ “เปิดโอกาส” ให้เด็กได้คิดด้วยตัวเอง ผ่านการแก้ปัญหาของเขาเอง การมาเรียนจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเด็กยังต้องรับแนวคิดของครูอยู่ทุกวัน เด็กรุ่นต่อไปจะไม่สามารถอยู่ได้ หากครูยังคงใช้วิธีเดิมในการสอน

แนวคิดของนักเรียน คือสิ่งที่สูญหายไปจากห้องเรียนไทย
เราเอาคำตอบที่ถูกเท่านั้นมาโชว์ คำตอบที่ผิดถูกลบทิ้งไป
          อ.ไมตรี เล่าประสบการณ์สมัยเรียนที่ญี่ปุ่นว่า สิ่งที่เป็นแนวคิดของเด็กที่โน่นจะถูกเขียนขึ้นกระดานทั้งหมด เขาให้ความสำคัญกับแนวคิดของเด็กทุกคน แต่ห้องเรียนของไทย เราให้ความสำคัญกับคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า
          โจทย์หรือสถานการณ์ที่ครูเตรียมให้ในชั้นเรียน จึงเป็นเพียงเครื่องมือที่นำเด็กๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม เกิดข้อสงสัยที่เป็นปัญหาของเขาเอง ความท้าทายของครูอยู่ที่การหาสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งต้องมีบริบทและเงื่อนไขในรูปของคำสั่ง
          บริบทคือ การนำชีวิตจริง ประสบการณ์จริงของเด็กเข้ามาให้ได้ แล้วโจทย์หรือสถานการณ์แบบไหนที่ทำให้ครูเข้าถึง “แนวคิด” ของเด็กได้ ให้ครูลองเปลี่ยนวิธีตั้งคำถาม จากจงหาคำตอบ เป็นจงหา “วิธีการ” แทน คำถามลักษณะนี้จะทำให้ครูได้เห็นแนวคิดของเด็กๆ ซึ่งแนวคิดไม่มีถูกหรือผิด แต่สมเหตุสมผลหรือไม่ เราตรวจสอบได้ด้วย Reasoning
          มาถึงตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ครูไทยจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบเดิมๆ จากเดิมที่เคยชินกับการแอบใบ้วิธีคิด หรือเฉลยคำตอบที่ถูกต้องไปเลย อ.ไมตรี แนะแนวทางของ Open Approach ไว้ 4 ขั้นตอน เพื่อคุมพฤติกรรมครูไม่ให้บอกและอธิบายเด็ก ดังนี้
1. ครูนำสถานการณ์มาให้เด็ก รอดูว่าเด็กจะมีคำถามหรือข้อสงสัย ที่อยากหาคำตอบด้วยตัวเองไหม
2. ครูหยุดพูด สังเกตแนวคิดของเด็ก เอาหลักฐานที่สะท้อนถึงแนวคิดของเขามาให้ได้
3. ให้เด็กอภิปรายแนวคิด เพื่อให้ “ตระหนัก” ถึงแนวคิดของเขาเอง เมื่อนั้นจะกลายเป็น How to ในการแก้ปัญหาของเด็กต่อไป
4. เด็กบันทึกแนวคิดของตัวเองและเพื่อน เรียนรู้ร่วมกันทั้งชั้น
          How to จึงไม่ได้เกิดจากการให้แนวคิดของครู แต่เกิดการลำดับการสอน (Flow of Lesson) ที่พัฒนาจากแนวคิดของเด็ก จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เมื่อไรที่ครูดึงแนวคิดของเด็กออกมาได้ และเด็กตระหนักถึงแนวคิดของเขา เมื่อนั้นเด็กก็จะค่อยๆ พัฒนาทักษะการคิด ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต

การสอนทักษะการคิดในศตวรรษที่ 21: การออกแบบลำดับการสอน (Flow of Lesson)
โดย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์
สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ม.ขอนแก่น
ในงาน EDUCA 2019 วันที่ 17 ตุลาคม 2562


TAG: #ทักษะการคิด #ศตวรรษที่21 #กระบวนการออกแบบการเรียนรู้ #Collaboration #Open Approach #Flow Of Lesson #ลำดับการสอน #Educa2019