Knowledge
5 ลักษณะครูในฝันจากภาพยนตร์ Dead Poets Society ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน
2 years ago 4074จิราพร เณรธรณี
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนจากภาพยนตร์เรื่อง “Dead Poets Society”*
Carpe diem! (Seize the day!) คือวลีเด็ดในภาพยนตร์เรื่อง “Dead Poets Society” ในปี 2022 หนังเรื่องนี้เข้าฉายมาแล้ว 33 ปี ภาพยนตร์คลาสสิกที่ยังตราตรึงใจผู้ชม โดยเฉพาะในวัยเรียนที่หากได้ชมก็คงฝันอยากที่จะมีครูแบบครูคีตติงบ้าง ระยะเวลาก็ผ่านพ้นไปเรื่อย ๆ ระบบการศึกษาไทยได้รับทฤษฎีการสอนมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัย แต่ระบบการศึกษาและการพัฒนาครูก็ยังอยู่ในกรอบและยังคงตามรอยเดิมจนกลายเป็น “ขนบ” ส่งผลให้ผู้เรียนได้ถูกจำกัดกรอบของความฝันด้วย และนี่อาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ เด็กไทยส่วนใหญ่ที่ยังไม่รู้ว่าอะไรคือความฝันที่แท้จริงของตนเอง
ครูคีตติง ตัวละครสำคัญของเรื่องนี้เป็นครูผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนและบุกเบิกการเรียนการสอนที่อยู่นอกกรอบเพื่อให้ผู้เรียนได้มีความสร้างสรรค์ การมองโลกด้วยมุมมองที่กว้างขึ้น และที่สำคัญ คือ มีความกล้าในการตามหาความฝันของตนเอง โดยครูคีตติงครูนอกกรอบที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้เรียนหลาย ๆ คน โดยมีคุณลักษณะสำคัญที่น่าพิจารณา ดังนี้
1. การเริ่มต้นจากการเป็นผู้รับฟังที่ดี การฟังความคิดเห็นที่หลากหลายของผู้เรียน เพื่อที่จะได้ รู้ทัศนคติของผู้เรียนแต่ละคน ทำให้ครูได้รู้จักผู้เรียนมากขึ้น รวมทั้งยังทราบไปถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้เรียน และการรับฟังผู้เรียนยังเป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียนอีกด้วย ยกตัวอย่างในตอนที่ครูคีตติงคอยรับฟังปัญหาจากผู้เรียนคนหนึ่งซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งกับพ่อที่ไม่ให้เขาทำในสิ่งที่ชอบ โดยการให้คำแนะนำกลับไปอย่างเหมาะสมและเป็นกลางให้กับทุกฝ่าย
2. การเป็นตัวอย่างในการคิดนอกกรอบอย่างสร้างสรรค์ ก่อนที่ครูจะคาดหวังให้ผู้เรียนเป็น อย่างไร ครูต้องมั่นใจว่าตนเองมีลักษณะนั้นให้ได้เสียก่อน เพื่อเป็นแบบอย่าง แรงบันดาลใจ รวมทั้งเป็นแรงสนับสนุนผู้เรียนไปสู่จุดหมาย ยกตัวอย่างในตอนที่ครูคีตติงเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนมีความคิดเป็นของตัวเอง หลักการ หรือทฤษฎีต่าง ๆ เป็นเพียงกฎที่ตั้งขึ้นโดยใครคนใดคนหนึ่ง เรามีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยได้ ถ้าเรามีความคิดเห็นที่ต่างออกไปและมีน้ำหนักมากพอ
3. การมีความกล้า ทุกสิ่งทุกอย่างจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความกล้าที่จะคิดและลงมือปฏิบัติ เชื่อว่า ครูหลายคนในยุคปัจจุบันมีความคิดที่สร้างสรรค์และมีความมุ่งหวังอยากพัฒนาการศึกษาไทยและผู้เรียนทุกคนให้มีความก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม แต่ยังขาดความกล้าในการที่จะเป็นผู้ริเริ่มพัฒนา อย่างไรก็ตามการใช้ความกล้าให้ถูกกาลเทศะก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเมื่อมีความกล้าแล้วก็ควรที่จะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมและผลที่เกิดขึ้นตามมาด้วยว่าเป็นเช่นไร ยกตัวอย่างในตอนที่ครูคีตติงกล้าที่จะเป็นผู้สอนให้แตกต่างจากการสอนตามแบบแผนทั่วไป คือสอนตามหนังสือที่เขาเขียนวิเคราะห์ไว้ในวิชาวรรณกรรม แต่เน้นสอนให้ผู้เรียนกล้าใช้ความคิดของตัวเองด้วย
4. ความเป็นกันเอง ไม่ถือตัว ข้อนี้คือการผูกมิตรกับผู้เรียน เพื่อให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคย จนเกิดเป็นความไว้วางใจในที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีครูที่คิดว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ผู้เรียนไม่เคารพ หรือยกย่องเชิดชูครู ประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า ผู้เรียนจะเคารพ ยกย่องเชิดชูครูหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการกระทำ ในทางกลับกันการผูกมิตรเป็นการทำลายกำแพงระหว่างครูกับผู้เรียน เพื่อให้ครูสามารถรับรู้และเข้าถึงผู้เรียนได้อย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้ในตอนที่ครูคีตติงร่วมเล่นกีฬาฟุตบอลไปกับผู้เรียนและคอยให้คำแนะนำที่แฝงไปด้วยการกระตุ้นให้พวกเขาตามหาความฝันของตัวเองและมีความคิดอย่างอิสระ
5. การสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนได้คิดมากกว่าการจำ การทำเช่นนี้ได้ด้วยการสอนผ่านการ ตั้งคำถามกับข้อมูลที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้ทั่วไป ยิ่งในยุคของเทคโนโลยีที่ผู้เรียนสามารถเข้าไปสืบค้นในประเด็นที่ไม่เข้าใจได้ด้วยตนเองเช่นนี้แล้ว ยิ่งมีความสำคัญไปกว่าสอนตรงตามตำราที่กำหนดไว้ โดยคำถามที่ตั้งนั้นควรเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันและเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน ยกตัวอย่างตอนที่สอนการวิเคราะห์วรรณกรรมที่ปัจจุบันมักใช้หลักการวิเคราะห์ความงามต่าง ๆ ในการประเมินคุณค่าของวรรณกรรม แต่ครูคีตติงได้ให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดและความรู้สึกของตัวเองในการประเมินคุณค่าของงานเขียนนั้น ๆ ในบางชิ้นงานอาจไม่มี “ขนบ” ในการแต่ง แต่ใช่ว่าจะไม่มีคุณค่าใด ๆ เพราะวรรณกรรมชิ้นนั้นอาจเต็มไปด้วยความรู้สึกและจินตนาการที่แฝงอยู่ในถ้อยคำที่พรรณนาออกมาได้
5 ลักษณะดังกล่าวเชื่อมโยงกับการสานฝันผู้เรียน คือ เมื่อไม่ได้มีกรอบทางสังคมมาจำกัดความคิดจะทำให้ผู้เรียนมองโลกได้กว้างและสามารถทำในสิ่งที่ตนอยากทำได้อย่างแท้จริง หากครูสามารถเปลี่ยนการมาโรงเรียนของผู้เรียนเพื่อเรียนหนังสือมาเป็นการมาโรงเรียนเพื่อหาประสบการณ์ในการสานความฝันเหมือนอย่างครูคีตติงก็คงดีไม่น้อย
รายการอ้างอิง
จิราเจต วิเศษดอนหวาย. (ม.ป.ป.). จากครูผู้สอนเป็นครูผู้ฟัง : ของขวัญวาเลนไทน์ปีนี้ มอบช่วงเวลา “รับฟัง” ให้กัน. EDUCA. https://www.educathai.com/knowledge/articles/580
ตรีนุช อิงคุทานนท์. (2563, 6 สิงหาคม). ครูคีตติ้ง แห่ง Dead Poets Society: เมื่อสังคมตีกรอบชีวิตจนทำให้คนไม่กล้ามีฝัน. THE PEOPLE. https://thepeople.co/keating-in-dead-poets-society/
Weir, P. (Director). (1989). Dead Poets Society [Film]. Touchstone Pictures.