Knowledge

จะตั้งคำถามอย่างไรให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการคิด

จะตั้งคำถามอย่างไรให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการคิด

 2 years ago 3503

จิราพร เณรธรณี

“คนที่สูบบุหรี่มักเป็นโรคอะไรบ้าง”

         ครูในรายวิชาสุขศึกษาได้ถามผู้เรียนในห้องด้วยคำถามดังกล่าว คำถามเช่นนี้นักเรียนคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแนวคำถามที่พบมากในข้อสอบอัตนัยที่ส่วนใหญ่มักจะเน้นวัดความจำ อย่างไรก็ตามยังพบอีกว่า ในการเรียนการสอนเองก็เป็นการเรียนการสอนที่เน้นการบรรยายจากครู แล้วมักมีการมอบหมายงาน หรือการบ้านเพื่อทดสอบความเข้าใจในทุกครั้งที่เรียนจบบท ส่งผลให้ผู้เรียนมีแต่ความจำระยะสั้นเท่านั้น เพราะไม่ได้มาจากกระบวนการคิด ดังนั้น การตั้งคำถามในระหว่างการสอนรวมทั้งการออกแบบคำถามในการสอบ จึงมีความสำคัญในการเรียนการสอนในยุคศตวรรษที่ 21 นี้

จากผู้ช่วยทำคลอดสู่ต้นแบบการสอนโดยใช้คำถามพัฒนากระบวนการคิด

         การเรียนการสอนโดยใช้คำถามจำนวนมากเพื่อดึงความรู้ หรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียนในระหว่างการสนทนาเป็นวิธีการสอนที่ครูไม่ได้มีหน้าที่เป็นผู้สร้างองค์ความรู้ แต่จะเริ่มเกิดขึ้น เมื่อนักเรียนในห้องร่วมกันตอบคำถามนั้น ๆ เพื่อค้นพบคำตอบไปด้วยกัน โดยมีครูเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดด้วยการใช้คำถาม ซึ่งเปรียบเสมือนปัญหาที่ผู้เรียนควรช่วยกันแก้ไข การเรียนการสอนลักษณะดังกล่าวจึงเน้นการพูดสนทนา การถกประเด็น และการโยน-รับคำถาม-คำตอบ เรียกวิธีการเรียนการสอนนี้ว่า วิธีโสเครติส (Socratic method) ซึ่งเป็นชื่อของนักปราชญ์สำคัญผู้เคยช่วยหมอทำคลอด เขาเคยเปรียบการพยายามนำอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายออกมาสู่โลกภายนอกว่านั้น เหมือนกับการพยายามดึงความคิด ความรู้ และประสบการณ์เดิมออกมานั่นเอง

เทคนิคการถามคำถามของโสเครติส (Socratic Question Techniques) เพื่อพัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียน

         เป้าหมายหลักของการตั้งคำถาม คือ เพื่อท้าทายให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบจากการคิดจนกว่าจะนำไปสู่คำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์ จัดแบ่งคำถามทั้งหมด 9 ลักษณะ ได้แก่
1. Conceptual clarification question เป็นคำถามที่ต้องการทบทวนและตรวจสอบถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของคำถาม หรือความถูกต้องของคำตอบ โดยคำถามลักษณะนี้จะเน้นให้ผู้เรียนตรวจสอบและหาที่มาเพื่อมาสนับสนุนคำตอบที่ได้ตอบไปแล้ว โดยมีลักษณะคำถามที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น
- ทำไมถึงตอบอย่างนั้น
- ช่วยขยายความ หรือยกตัวอย่างสิ่งที่กำลังพูดอยู่ได้ไหม
- คำตอบนั้นมีความเชื่อมโยง หรือเกี่ยวข้องกับ... อย่างไรบ้าง
2. Questions that probe purpose เป็นคำถามที่ต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจวัตถุประสงค์ของเรื่องที่จะถาม เช่น
- วัตถุประสงค์ของ... คืออะไร
- วัตถุประสงค์ของ...และ...มีความเหมือน หรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร
- จากวัตถุประสงค์ที่ว่า...มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไร
3. Probing assumptions เป็นคำถามที่ต้องการข้อสันนิษฐานของคำตอบที่ผู้เรียนค้นพบระหว่างอภิปรายร่วมกัน เช่น
- จะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…
- ลองอธิบายว่าทำไม...
- จะพิสูจน์ข้อสันนิษฐานของคำตอบนี้อย่างไร
4. Probing rationale, reasons and evidence เป็นคำถามที่ต้องการเหตุผล หรือข้อสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อทำให้คำตอบนั้นมีน้ำหนัก สมเหตุสมผล และความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่น
- รู้คำตอบข้อนี้ได้อย่างไร
- เหตุผลที่พูดมาพอที่จะสนับสนุนคำตอบได้พอหรือยัง ถ้าต้องเพิ่ม จะเพิ่มตรงประเด็นไหน
- จะเชื่อในคำตอบที่ตอบมาได้อย่างไร
5. Questioning viewpoints and perspectives เป็นคำถามที่ต้องการความคิดเห็น หรือมุมมองทางความคิดของผู้เรียน เช่น
- ถ้าเปรียบเทียบ...กับ...จะเป็นอย่างไร
- ทำไมเรื่องนี้จึงดีกว่า...
- ทำไมเรื่อง ... จึงมีความสำคัญ
6. Questions that prove implication and consequences เป็นคำถามที่ต้องการให้ผู้เรียนหาความเชื่อมโยงของความรู้ที่เรียนกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งผลที่ตามมา เช่น
- จะเกิดอะไรขึ้น หาก...
- สิ่งที่เรียนมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างไร
- ถ้า...และ...เกิดขึ้น แล้วสิ่งที่ตามมาคืออะไร
7. Questions about the question เป็นคำถามที่ต้องการให้ผู้เรียนทบทวนเกี่ยวกับคำถามที่ได้ถามไป โดยจะเป็นการสะท้อนคำถามกลับไปยังผู้ถามอีกครั้ง เช่น
- ประเด็นของการตั้งคำถามข้อนี้คืออะไร
- เธอคิดว่าครูถามคำถามข้อนี้เพราะอะไร
- เข้าใจความหมายของคำถามว่าอย่างไร
8. Questions that probe concepts เป็นคำถามที่ต้องการทดสอบว่า ผู้เรียนเข้าใจมโนทัศน์ (concepts) ของเรื่องที่ถาม หรือเรียนหรือไม่ เช่น
- สาระสำคัญ...คืออะไร
- คำศัพท์ที่สำคัญ (Keyword) คำไหนสามารถนำไปสู่สาระสำคัญ หรือแนวคิดนี้ได้
- แนวคิดสำคัญของ...ดู หรือหาได้จากตรงไหน
9. Questions that probe inferences and interpretations เป็นคำถามที่ต้องการให้ผู้เรียนได้ฝึกการอ้างอิงข้อมูลและการตีความข้อมูลในการตอบคำถาม เช่น
- จะตีความข้อความที่ว่า...นี้อย่างไร
- ข้อสรุปที่เป็นไปได้มากที่สุดของ...คือ
- ข้อเท็จจริงอะไรบ้างที่จะทำให้ได้ข้อสรุปที่ว่า...

         การถามคำถามทั้ง 9 ลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของเนื้อหา หรือเรื่องที่สอนด้วย ครูจึงต้องรู้จักการเป็น “ผู้ประยุกต์” นอกจากนี้ ครูควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดของนักเรียนว่า ต้องการทดสอบความรู้ของเขา แต่การตั้งคำถามควรเป็นไปเพื่อพัฒนากระบวนการคิดของผู้เรียน อีกทั้งยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้เรียนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ครูเตรียมไว้ อย่างไรก็ตาม ครูควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้เวลาในการคิดและค้นคว้าเพื่อตอบคำถามนั้น และสิ่งที่อยากเสนอเพิ่มเติมคือการตั้งคำถามที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน เพราะเมื่อผู้เรียนได้คิดและค้นหาคำตอบ ก็เปรียบเสมือนเตรียมผู้เรียนให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้ การเรียนรู้จึงมีประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตของผู้เรียนอย่างแท้จริง

รายการอ้างอิง
Laura Lee. (2019, June 25). Teaching Students How to Ask Productive Questions. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/teaching-students-how-ask-productive-questions

อัมพวรรณ อิ่มเอมทรัพย์ กาญจน์พิชชา ถวิลไทย และปัทมา รัตนกมลวรรณ. (2560). การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยการตั้งคำถาม: ตั้งคำถามอย่างไรให้เหมาะสม. CMRUIR. http://cmruir.cmru.ac.th/handle/123456789/1137


TAG: #กระบวนการคิด #ทักษะศตวรรษที่21 #ทักษะการคิด #วิธีโสเครติส #Socratic method #เทคนิคการถาม #วิธีตั้งคำถามของโสเครติส #Socratic Question Techniques