Knowledge

How to สอนอ่านอย่างไรให้ถูกวิธี

How to สอนอ่านอย่างไรให้ถูกวิธี

 2 years ago 9902

จิราพร เณรธรณี เรียบเรียง

        ทักษะการอ่าน เป็นทักษะสากลที่ผู้เรียนสามารถรับสารทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ในชีวิตประจำวันเราอ่านแทบตลอดเวลา โดยเฉพาะที่มาจากโลกออนไลน์ ดังนั้น การอ่านจึงไม่ได้จำกัดเพียงการอ่านหนังสือ หรืออ่านข้อความในข้อสอบเท่านั้น ครูจึงควรให้ความสำคัญกับการอ่านให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีครูจำนวนมากที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับการสอนอ่าน เพราะขาดสิ่งสำคัญ นั่นคือ กระบวนการ (process)

        การสอนอ่านอย่างมีกระบวนการ คือ การสอนให้ผู้เรียนคิดอย่างมีกระบวนการ กล่าวคือ ทักษะการคิดคือพื้นฐานของทุกทักษะในการสื่อสาร ในการอ่านจึงมีคำกล่าวที่ครูหลายคนพูดว่า “อ่านไปด้วยคิดไปด้วย” อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาในการสอนอ่านของครูภาษาไทยหลายคน รวมทั้งครูภาษาต่างประเทศด้วย เนื่องจากขาดกระบวนการในการอ่าน ยกตัวอย่าง ผู้เรียนหลายคนเมื่อรู้ว่าครูให้อ่านวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร ก็อ่านไปคิดไปตามที่ครูสอน แต่ไม่รู้วัตถุประสงค์ว่า “อ่านเพื่ออะไร” ผลที่ได้จากการอ่านย่อมไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงขอเสนอการสอนอ่านอย่างมีกระบวนการ 3 ขั้นตอน ดังนี้
        ขั้นตอนที่ 1 – ก่อนอ่าน (Before Reading) เริ่มต้นตั้งวัตถุประสงค์ในการอ่านว่า “อ่านเพื่ออะไร” หรือ “ต้องการอะไรจากเรื่องที่อ่าน” แล้ววางแผนในการอ่าน เช่น การเตรียมอุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่ใช้อ่าน การเลือกวิธีที่ใช้ในการอ่าน การกำหนดเวลาในการอ่าน ฯลฯ นอกจากนี้ การเตรียมความพร้อมทั้งกายและใจเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากกายและใจป่วยก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของผลที่ได้จากการอ่านด้วย และในขั้นตอนนี้ผู้อ่านควรสำรวจเนื้อหาคร่าว ๆ (skimming) พยายามดึงข้อมูล ความรู้ หรือประสบการณ์เดิมมาใช้ในการอ่าน และคาดเดาเหตุการณ์ของเรื่องที่อ่าน โดยกิจกรรมที่ทำในขั้นนี้ล้วนต้องใช้ “ความคิด” ควบคู่ไปด้วย
        ขั้นตอนที่ 2 – ระหว่างอ่าน (During Reading) ในขั้นนี้ผู้อ่านควรอ่านไปและคิดตามไปด้วย แล้วพยายามตรวจสอบความเข้าใจข้อความที่อ่านผ่านมาแล้ว หากไม่มั่นใจ หรือยังไม่เข้าใจ ให้กลับไปอ่านซ้ำข้อความเดิมอีกครั้ง โดยผู้อ่านสามารถทำเครื่องหมายในข้อความที่ไม่มั่นใจหรือยังไม่เข้าใจ เพื่อนำมาพูดคุยหรือค้นหาเพิ่มเติม จากนั้นอย่าลืมบันทึกผลไว้ให้เป็นลายลักษณ์อักษร ผู้อ่านสามารถตรวจสอบว่า ข้อความที่อ่านผ่านมาแล้วนั้นตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในขั้นก่อนอ่านหรือไม่ หากไม่ตรงให้คาดเดาใหม่อีกครั้ง โดยระหว่างการอ่านนี้ ผู้อ่านควรพยายามตั้งคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วสรุปเรื่องที่อ่านทั้งหมด โดยพยายามนึกภาพตามจินตนาการของแต่ละบุคคล โดยกิจกรรมที่ทำในขั้นนี้ล้วนต้องใช้ “ความคิด” คิดตามไปด้วยเช่นเดียวกัน
        ขั้นตอนที่ 3 – หลังอ่าน (After Reading) ผู้อ่านควรใช้ทักษะการคิดเชื่อมโยงความรู้ หรือประสบการณ์เดิมกับความรู้ หรือประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านในครั้งนี้ แล้วพยายามสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ นอกจากนี้ บางประเด็นที่ยังไม่เข้าใจ ก็สามารถค้นหาคำตอบหรืออภิปรายกับผู้อื่นเพื่อความชัดเจนของข้อมูล อีกทั้งยังได้เห็นมุมมองความคิดที่หลากหลายขึ้นอีกด้วย เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว จึงสรุปผล เป็นรูปแบบที่ถนัด อาจเขียนเป็นข้อความ วาดภาพ หรือแผนผังประเภทต่าง ๆ แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้นี้นำเสนอ โดยทักษะการคิดในขั้นนี้จะเป็นการคิดทบทวนเรื่องที่อ่านและผลที่ได้จากการอ่าน รวมทั้งการคิดเชื่อมโยงอีกด้วย

        กระบวนการอ่านทั้ง 3 ขั้นนี้สามารถนำมาปรับเปลี่ยนในรายละเอียดส่วนย่อยได้ตามความเหมาะสมของแต่ละวิชา เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีกลยุทธ์ในการอ่านที่แตกต่างกัน ทั้ง 3 ขั้นตอน ล้วนต้องใช้ทักษะการคิดควบคู่ไปด้วย การสอนการอ่านไม่ได้จำกัดเพียงในรายวิชาภาษาไทย เพราะทุกวิชาล้วนต้องใช้ทักษะการอ่านและการคิดควบคู่ไปด้วย

        ยกตัวอย่างการนำไปใช้ในการสอนอ่าน Reading Passage รายวิชาภาษาอังกฤษ การรู้ประเภทของสารที่อ่าน เช่น ป้ายโฆษณา ใบรายละเอียดรับสมัครงาน จดหมาย บทกลอน ฯลฯ เป็นสิ่งสำคัญในการตั้งจุดประสงค์และการทำความเข้าใจเนื้อหา นอกจากนี้ หัวข้อเรื่องที่อ่านก็สำคัญยิ่ง ยกตัวอย่าง หัวข้อเกี่ยวกับ Global Warming จุดประสงค์ในการอ่านอาจเป็นไปเพื่อหาวิธีแก้ไขภาวะโลกร้อน หรือเพื่อสรุปข้อมูลในการเขียนเรียงความ

        ทักษะการอ่านอย่างเป็นกระบวนการที่สามารถต่อยอดให้ผู้เรียนเป็นนักคิดอย่างมีกระบวนการ ซึ่งจะส่งผลให้ฟัง พูด และเขียนอย่างมีกระบวนการด้วย และมีความลับสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นผู้อ่านเก่ง คือการอ่านซ้ำและคิดตาม ยิ่งอ่านมาก ก็ยิ่งเขียนได้ดีขึ้น เนื่องจากจะมีความคิดที่ชัดมากขึ้น ดังนั้น “ความคิด” จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกทักษะการสื่อสาร

รายการอ้างอิง
Beers, K. (2000). Reading skills and strategies: Reaching reluctant readers. Holt, Rinehart, and Winston.

เฉลิมลาภ ทองอาจ. (2555, 23 มิถุนายน). การสอนอ่านอย่างเป็นกระบวนการ. Gotoknow. https://www.gotoknow.org/posts/439463

สิริพันธ์ สุวรรณมรรคา. (2021) .จันทร์ปลุกโปรย EP.2 ปิดเทอม เปิดโลก...พร้อมเรียนรู้นอกห้องเรียน. EDUCA. https://www.educathai.com/videos/667


TAG: #ทักษะการอ่าน #ทักษะการคิด #ทักษะศตวรรษที่21 #ทักษะการสื่อสาร