Knowledge
"อะไรอยู่ในกล่อง" กิจกรรมแบบบูรณาการ สอนการพัฒนาที่ยั่งยืน
5 years ago 7335 การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกกำลังพูดถึง หมายรวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม จริยธรรมสังคม ที่ดูเป็นประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา การจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถบูรณาการในรายวิชาในกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษาได้ทุกรายวิชา เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนนิยามความหมายได้หลากหลาย ไม่มีผิดไม่มีถูก หลายคนมองเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือแนวคิดในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ ในหัวข้อการอบรม "การจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบบูรณาการในรายวิชาสังคมศึกษา" ในงาน EDUCA 2019 ร่วมกับ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด วันที่ 17 ตุลาคม 2562 นำทีมโดยครูปราศรัย เจตสันต์ และคณะกลุ่มครูของโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม จากกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษา ที่แต่ละท่านสอนรายวิชาที่หลากหลายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง พุทธศาสนา ภูมิศาสตร์ อาเซียน คละระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย มารวมตัวกัน ในรูปแบบกิจกรรม PLC ร่วมสร้างนวัตกรรม การจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ผ่านรายวิชาที่แตกต่างกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมที่นำมาให้ครูที่มาร่วมอบรมในงาน EDUCA 2019 นี้ สามารถนำกิจกรรมนี้ มาให้ความรู้ ทำความเข้าใจ ผ่านการบูรณาการรายวิชามากมาย
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1. กระดาษ Post-it
2. กล่องทึบหรือถุงดำ ตามจำนวนกลุ่ม
3. หลอดพลาสติกใหญ่ ตัดขนาด 1-1.5 ซม. แยกไว้ 3 สี สีแดง สีเขียว สีส้ม ปริมาณขึ้นกับเวลาในการทำกิจกรรม
การจัดการเรียนการสอนเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน เริ่มจากการแบ่งกลุ่มออกเป็น 6-8 คน เมื่อจับกลุ่มกันได้ ให้แต่ละคน เขียน 1 คำ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และเขียนใส่กระดาษ Post-it ไว้ ให้เวลา 1 นาที เมื่อเขียนเสร็จ เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้อธิบายคำที่ตัวเองเขียนให้กลุ่มฟัง วนให้ครบทุกคน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายของการพัฒนาที่ยั่งยืน
เริ่มกิจกรรม "อะไรอยู่ในกล่อง"
บนโต๊ะ จะมี กล่องทึบ/ถุงดำ โดยภายในกล่อง ให้ใส่หลอดสีเขียว และหลอดสีส้ม เอาไว้ ส่วนหลอดสีแดงแยกใส่ในถุงพลาสติกต่างหาก ให้สมาชิกในกลุ่มแบ่งหลอดสีแดงให้ครบทุกคนในกลุ่ม ในจำนวนที่เท่าๆ กัน
เริ่มเกม "อะไรอยู่ในกล่อง"
รอบที่ 1 หยิบหลอดในกล่องจำนวนเท่าไรก็ได้ ใครหยิบได้สีเขียว ต้องใส่สีแดงกลับเข้าไปในกล่อง จำนวนเท่ากับที่หยิบสีเขียวออกมา แล้วส่งให้เพื่อนข้างๆ ผลัดกันหยิบให้ครบวง 1 รอบ
กติกา
- ใครมีสีเขียวมากที่สุด ชนะ
- ใครจับได้สีแดงทั้งกำ แพ้
คำถามหลังกิจกรรม รอบที่ 1
- ผู้ชนะหยิบได้จำนวนเท่าไร
รอบที่ 2 ในรอบนี้ ครูโอมีเงื่อนไขใหม่ว่า ถ้าเป็นคนกรุงเทพฯ ในรอบของตัวเอง สามารถหยิบได้ 2 กำ ที่เหลือหยิบได้เพียง 1 กำ เหมือนเดิม เริ่มหยิบหลอดในกล่องจำนวนเท่าไรก็ได้ ใครหยิบได้สีเขียว ต้องใส่สีแดงกลับเข้าไปในกล่อง จำนวนเท่ากับที่หยิบสีเขียวออกมา แล้วส่งให้เพื่อนข้างๆ ให้ครบวง 1 รอบ
กติกา
- ใครมีสีเขียวมากที่สุด ชนะ
- ใครจับได้สีแดงทั้งกำ แพ้
คำถามหลังกิจกรรม รอบที่ 2
- ผู้ชนะหยิบได้จำนวนเท่าไร
- เป็นผู้ชนะจากรอบที่แล้วหรือไม่
รอบที่ 3 ครูโอเพิ่มเงื่อนไขเข้าไปอีก รอบนี้ทั้งกลุ่มจะได้เล่น 5 รอบ ใครหยิบได้สีเขียว ต้องใส่สีแดงกลับเข้าไปในกล่อง จำนวนเท่ากับที่หยิบสีเขียวออกมา แล้วส่งให้เพื่อนข้างๆ ก่อนที่จะหยิบ ในกลุ่มสามารถสร้างข้อตกลงร่วมกันได้ แต่ห้ามเปลี่ยนวิธีการเล่น
กติกา
- เล่นให้กลุ่มมีคนแพ้น้อยที่สุด กลุ่มไหนมีคนแพ้น้อยที่สุด กลุ่มนั้น ชนะ
- ใครจับได้สีแดงทั้งกำ แพ้
คำถามหลังกิจกรรม "อะไรอยู่ในกล่อง"
- ความรู้สึกในแต่ละรอบแตกต่างกันอย่างไร
- ในกลุ่มมีวิธีสร้างข้อตกลงอย่างไร
ความหมายจากกิจกรรม
สีเขียว คือ ทรัพยากรที่มีในโลก
สีแดง คือ สารพิษ ขยะที่เราสร้างขึ้น (ทุกครั้งที่เราเอาสีเขียว เราต้องทิ้งขยะลงไป)
กล่อง คือ สิ่งแวดล้อม / เมือง / ประเทศหรือโลก
1 รอบ คือ 1 ชั่วอายุคน
ซึ่งแนวคิดที่ผู้ร่วมอบรมได้รับคือ
ในรอบแรก ใครได้เยอะที่สุด เป็นผู้ชนะ ผู้เล่นก็หยิบเต็มที่ โดยไม่กังวลอะไร
ในรอบสอง เงื่อนไขคนกรุงเทพฯ ถึงหยิบได้ 2 กำ ทำให้เรามองโอกาสในการจัดการทรัพยากรที่มากกว่า ความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม
ในรอบสาม เห็นการจัดการคนในกลุ่ม ก็เหมือนชุมชน บางกลุ่มสร้างข้อตกลงว่า หยิบได้ 3 ชิ้นเท่านั้น เป็นการบริหารความเสี่ยง บางกลุ่มดูความเหมาะสมของแต่ละคนในกลุ่ม ปรับแผนระหว่างทาง บริบทอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ กฎเกณฑ์มีอยู่ แต่เราสามารถปรับข้อตกลงร่วมกันได้
โดยเฉพาะรอบแรก เรามีทรัพยากรมีเหลือเฟือ ก็ใช้เต็มที่ แต่รอบหลังๆ ผ่านไปหลายๆ ชั่วอายุ สิ่งที่มี เหลือน้อยเต็มทน เราจะทำให้อย่างไรให้ทรัพยากรอยู่ต่อไป ใช้ได้ถึงลูกหลาน ในการสร้างข้อตกลงร่วมกันในสังคม เราเรียนรู้ผ่านประวัติศาสตร์ มีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ข้อตกลงที่เข้มงวดเกินไป ทำไม่ได้จริง คนต้องเรียนรู้ ทางสายกลาง เหล่านี้คือการพัฒนาแบบยั่งยืน และยังสามารถบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันได้หลากหลายรายวิชา ของกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หน้าที่พลเมือง รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือแม้แต่จริยธรรม ศีลธรรม
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าอบรม EDUCA 2019 จากหัวข้อ "การจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบบูรณาการในรายวิชาสังคมศึกษา"
ในความเป็นจริง การศึกษาไม่ควรแยกส่วน เชื่อมโยงความเป็นมิติของมนุษย์ สังคม ทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด กิจกรรมนี้เราเห็นการจัดการทรัพยากร ภูมิศาสตร์ การสร้างกฎเกณฑ์ ผ่านหน้าที่พลเมือง มิติของกฎหมาย ด้านรัฐศาสตร์
- ครูวรพรรณ สังขเวช โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ -
สิ่งที่ได้เรียนรู้ โยงได้ทุกสาระ ถ้าเราพูดเรื่องทรัพยากร เรานึกถึงภูมิศาสตร์ การใช้ทรัพยากร เมื่อก่อนเราใช้เต็มที่ พอถึงยุคที่ทรัพยากรลดน้อยลง เราเริ่มหันมามองการอนุรักษ์ แต่การอนุรักษ์ของเรายังเน้นแบบดั้งเดิม คือการใช้ทรัพยากรให้น้อย แต่ถ้ามองการอนุรักษ์ในฐานะพลเมืองโลก คือหากเราใช้ทรัพยากร 1 อย่าง เราสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือเกิดประโยชน์ได้หลายๆ อย่าง บูรณาการเรื่องหน้าที่พลเมือง ผ่านการปลูกฝังจิตสำนึก เชื่อมโยงถึงทักษะการคิด มีกระบวนการคิดได้
- นางสาวจันทรัสม์ สุขสงวน โรงเรียนภูเก็ตไทยหัวอาเซียนวิทยา จังหวัดภูเก็ต -
จากหัวข้อ การจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบบูรณาการในรายวิชาสังคมศึกษา
โดย ครูปราศรัย เจตสันต์ (โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม) และคณะ จากกลุ่ม Critizen และเครือข่าย Thai Civic Education ร่วมกับ บริษัท โครเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด
ในงาน EDUCA 2019 วันที่ 17 ตุลาคม 2562
บทความนี้สนับสนุนโดย บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด