Knowledge
แก้ปัญหาอนาคตเป็น ทักษะที่เด็กยุคใหม่ต้องมี
4 years ago 11083โลกยุคใหม่อาจไม่ได้ต้องการคนที่ “เก่ง” ที่สุด แต่ต้องการคนที่ “แก้ปัญหา” ได้ดีที่สุด เพราะปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซับซ้อนกว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เด็กยุคนี้จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม โดยมีครูช่วยจัดการเรียนรู้กระบวนการแก้ปัญหาอนาคต ที่จะช่วยพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา และทักษะพื้นฐานอื่นๆ เช่น การอ่าน การเขียน การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นกลุ่ม รวมทั้งความสามารถในการเชื่อมโยงตนเองกับการมีชีวิตอยู่ในสังคมอนาคตได้
สอนอย่างไร ให้เด็กแก้ปัญหาอนาคตได้
กระบวนการแก้ปัญหาอนาคตเปรียบเสมือนอาวุธประจำตัวเด็กทุกคน แล้วทำอย่างไร เราถึงจะติดทักษะนี้ให้เด็กได้ องค์กรกระบวนการแก้ปัญหาอนาคตนานาชาติ หรือ Future Problem Solving Program International; FPSPI จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ผ่านการแก้ปัญหาด้วยการคิดวิเคราะห์และคิดเชิงสร้างสรรค์
ในเดือนมิถุนายนของทุกๆ ปี FPSPI จะจัดการแข่งขันระดับนานาชาติที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา โดยมีนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันกว่า 23,000 คน จาก 13 ประเทศ สำหรับประเทศในแถบเอเชียเอง แม้จะส่งนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันไม่มากนักเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาเองและประเทศอื่นๆ แต่ตัวแทนนักเรียนจากจีนและสิงคโปร์ก็เคยคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งในบางสาขามาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
สำหรับครูที่สนใจจะจัดการเรียนรู้กระบวนการแก้ปัญหาอนาคตให้เด็กๆ FPSPI ได้กำหนดหัวข้อใหญ่ไว้ 4 หัวข้อคือ สังคมหรือรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันยังเปิดให้แนะนำหัวข้อใหม่ๆ ทางเว็บไซต์ www.fpspi.org ได้ตลอดเวลา ครูเพียงเลือกหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งที่คิดว่าเด็กสนใจขึ้นมา แล้วกำหนดสถานการณ์อนาคต (Future Scene) ที่เป็นข้อมูล เงื่อนไขต่างๆ ให้เด็กใช้ในการระดมสมองคิดแก้ปัญหา ถ้าคิดว่า 4 หัวข้อใหญ่ที่ FPSPI กำหนดไว้นั้นกว้างเกินไป อาจเลือกจาก 18 ข้อนี้ก็ได้
- การเงินและธุรกิจ
- การขนส่ง
- ความสัมพันธ์ทางสังคม
- สิ่งแวดล้อม
- การศึกษา
- เทคโนโลยี
- นันทนาการ
- การเมืองการปกครอง
- จริยธรรมและศาสนา
- ศิลปะและสุนทรียศาสตร์
- สุขภาพกาย
- สุขภาพจิต
- ความต้องการพื้นฐาน
- การป้องกัน / การทหาร
- เศรษฐกิจ
- กฎหมายและความยุติธรรม
- การสื่อสาร
- อื่นๆ
6 ขั้นตอนเรียนรู้กระบวนการแก้ปัญหาอนาคต
หลังจากที่เด็ก ๆ ได้รับหัวข้อจากครู พร้อมกับ Future Scene เรียบร้อยแล้ว 6 ขั้นตอนเหล่านี้คือ สิ่งที่เด็กๆ ต้องทำ เพื่อเรียนรู้กระบวนการแก้ปัญหาอนาคต
- การระดมสมองเพื่อค้นหาปัญหา (Brainstorming problems)
เด็กๆ ระดมสมอง พิจารณาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้น ๆ แล้วเขียนปัญหาที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด อย่าลืมระบุด้วยว่า โจทย์ที่ได้รับมานั้น จัดอยู่ในหัวข้อประเภทไหน - การค้นหาและสรุปปัญหาที่สำคัญที่สุด (Underlying Problem)
เมื่อได้ปัญหาจากขั้นตอน 1 มาแล้ว ให้เด็กเลือกปัญหาที่สำคัญที่สุดมาเพียงปัญหาเดียว อธิบายให้ชัดเจนว่า เราจะทำอย่างไร เพราะอะไร และเงื่อนไขเฉพาะของสถานการณ์นั้น - การระดมสมองเพื่อคิดหาวิธีแก้ปัญหา (Brainstorming Solutions)
เมื่อได้ปัญหาหลักจากขั้นตอนที่ 2 มาแล้ว ให้เด็กระดมสมองหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้มากที่สุด เขียนวิธีการแก้ปัญหา โดยให้มีรายละเอียดที่สัมพันธ์กัน ระบุว่าใครจะเป็นผู้แก้ปัญหา จะทำอะไร อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร - การเลือกเกณฑ์เพื่อใช้ในการประเมินวิธีแก้ปัญหา (Selecting Criteria to Evaluate Solutions)
เลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจากขั้นที่ 3 โดยระดมสมองหาเกณฑ์ที่จะช่วยในการตัดสินใจ เลือกวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดมาให้ได้มากที่สุด สุดท้ายคัดให้เหลือ 5 เกณฑ์ แต่ละเกณฑ์อาจมีจุดเน้นแตกต่างกัน เช่น วิธีใดช่วยลดค่าใช้จ่ายมากที่สุด วิธีใดใช้เวลาน้อยที่สุด วิธีการใดช่วยลดผลกระทบที่มีต่อบุคคลและสังคม วิธีใดเป็นไปได้มากที่สุด หรือวิธีใดมีอุปสรรคน้อยที่สุด - การประเมินผลเพื่อคิดหาวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด (Evaluating Solutions)
สร้างตาราง โดยนำเลขข้อของเกณฑ์ที่คิดจากขั้นที่ 4 มาเขียนลงในหัวตารางด้านขวามือ ส่วนวิธีแก้ปัญหาทั้ง 5 ข้อ ให้เขียนทางซ้ายมือ การให้คะแนนให้พิจารณาเกณฑ์แต่ละข้อว่า วิธีแก้ปัญหาข้อใดดีที่สุดให้ 5 คะแนน รองลงมาเป็น 4, 3, 2 และ 1 โดยพิจารณาไปที่ละเกณฑ์จนครบทุกข้อ เสร็จแล้วให้รวมคะแนน - การนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด (Describing the Best Solution)
อธิบายถึงวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด โดยเขียนอย่างละเอียดเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนว่า จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการใด และปฏิบัติการจริงได้อย่างไร
เด็กยิ่งฝึกคิด ยิ่งแก้ปัญหาเก่ง
ยิ่งเด็กได้ฝึกคิดแก้ปัญหาอนาคตมากเท่าไร กระบวนการแก้ปัญหาก็จะยิ่งแหลมคมมากขึ้น เพราะใน 6 ขั้นตอนเหล่านี้ เด็กได้ใช้ทักษะการคิดที่แตกต่างกันไป ขั้นตอนที่ 1-3 เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ขั้นตอนที่ 4-5 ฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดประเมินค่า และขั้นตอนที่ 6 ได้ฝึกทั้งความคิดสร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ คิดสังเคราะห์ และคิดประเมินค่า ซึ่งไม่ว่าสถานการณ์อนาคต (Future Scene) จะเปลี่ยนแปลงไป หรือยากซับซ้อนมากขึ้นเท่าไร 6 ขั้นตอนเหล่านี้สามารถนำเด็กๆ ไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดได้ทุกสถานการณ์
จากหัวข้อ เติมเต็มศักยภาพนักเรียนด้วยกระบวนการแก้ปัญหาอนาคต (Future Problem Solving; FPS)
ผศ.สุรเดช ศรีทา และคณะ
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา
ในงาน EDUCA 2019
ข้อมูลเพิ่มเติม Future Problem Solving Program International; FPSPI https://www.fpspi.org/