Knowledge
สวมบทบาทเป็นนักออกแบบเมือง ผ่านบอร์ดเกม DIY เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในบริบทหน้าที่พลเมืองโลก
5 years ago 6592 การจัดการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษาในบริบทหน้าที่พลเมืองโลกให้เด็กๆ ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก โดยเฉพาะประเด็นพลเมืองโลกที่อาจมีความเป็นนามธรรม เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับพวกเขา สอนอย่างไรให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ได้อย่างสนุก คือโจทย์ท้าทายสำหรับครู ที่มาของหัวข้อการอบรม “การจัดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาในบริบทของหน้าที่พลเมืองโลก” ในงาน EDUCA 2019 ร่วมกับ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด วันที่ 17 ตุลาคม 2562
ในการอบรมหัวข้อนี้ ครูไทยจะได้สวมบทบาทเป็นนักออกแบบเมืองและผู้อาศัยในขณะเดียวกัน ผ่านบอร์ดเกมสร้างเมือง ที่ไม่ต้องหาซื้อให้ยุ่งยาก เพราะเกมนี้ครูสร้างเองได้ทุกขั้นตอน แถมยังใช้อุปกรณ์ที่หาซื้อได้ทั่วไปอย่าง
1. Post-it
2. ปากกาเมจิก
3. กระดาษ Flipchart
4. การ์ดสร้างเมือง การ์ดที่ปรินต์เป็นสถานที่ต่างๆ ที่เราต้องการประกอบสร้างเป็นเมือง
แต่ละกลุ่มจะได้รับแจกกระดาษ Flipchart คนละแผ่น ซึ่งจะกลายเป็นเมืองหนึ่งเมือง จากนั้นจับฉลากเลือกภูมิประเทศเมืองของตน โดยครูจะต้องวาดลักษณะภูมิประเทศง่ายๆ ลงบนแผนที่ตามโจทย์ที่ได้รับ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ที่ราบสูง แต่กลุ่มจะมีภูมิประเทศที่ไม่ซ้ำกันเลย หลังจากนั้นให้แต่ละคนเลือกตำแหน่งบ้านของตน ด้วยการเขียนชื่อตัวเองลงบน Post-it แล้วแปะตรงไหนก็ได้ของแผนที่
โจทย์ของเกมนี้ไม่ซับซ้อน และดูจะสร้างความบันเทิงให้ครูในห้องอบรมได้ไม่น้อย สังเกตได้จากสีหน้าและเสียงหัวเราะที่ดังมากจากแต่ละกลุ่ม หน้าที่ของผู้เล่นคือ พัฒนาเมืองตามความเหมาะสม ด้วยการวางการ์ดสร้างเมืองลงตรงไหนก็ได้ของแผนที่ ความสนุกเล็กๆ อยู่ตรงที่ครูต้องเลือกการ์ดเพียง 25 ใบ จากทั้งหมด 40 ใบ โดยต้องมีเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมถึงเลือกวางการ์ดตำแหน่งนั้นของแผนที่
เมื่อเมืองพร้อมสมบูรณ์ ก็ได้เวลาที่ผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่จริงๆ แน่นอนว่า ต้องตามมาด้วยปัญหาต่างๆ เช่น มลพิษและขยะ แล้วปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อชุมชนหรือแม้แต่บ้านของเราเองอย่างไร บอร์ดเกมนี้ทำให้เราเห็นภาพได้ง่ายๆ แค่ก้มลงมองแผนที่เมืองของเรา กากบาทสถานที่และพื้นที่โดยรอบแห่งนั้น หากเมืองของเรามีสถานที่นั้นๆ อยู่ คล้ายกับการเล่นบิงโก แต่เป็นบิงโกที่ไม่มีใครอยากได้แต้ม
ไม่ช้าไม่นาน เมืองที่เราเคยเชื่อว่า เป็นเมืองปลอดภัย น่าอยู่ กลับกลายเป็นพื้นที่สีแดงจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือขนส่งสินค้า โรงงานกำจัดขยะ เหมืองแร่ หรือแม้แต่สี่แยกไฟแดง ที่หลีกเลี่ยงแทบไม่ได้ หากบ้านของเรามีถนนตัดผ่าน
หันมองซ้ายมองขวา แอบเหลียวดูกลุ่มอื่น ณ ตอนนี้ บ้านหลังของใครยังคงอยู่รอดปลอดภัยบ้าง
ถ้าจะบอกว่าสถานที่เหล่านี้ เมืองฉันไม่ค่อยมีหรอก แต่แน่ใจแล้วหรือว่า ชุมชนของเราไม่มีตลาดนัด ห้าง สำนักงาน สถานีขนส่งรถ สวนธารณะ โรงแรม ก้มลงมองแผนที่ของแต่ละกลุ่มอีกที เหลือบ้านอยู่แค่ไม่กี่หลัง บางหลังรอดได้ เพราะตั้งอยู่บนดอยอันไกลโพ้น
ชุมชนจริงของเราก็อาจไม่ได้ต่างกับเกมนี้สักเท่าไร กำลังเผชิญกับปัญหามลพิษและขยะในเมือง แล้วทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อยู่ที่ไหน การบอกว่าแค่บ้านอยู่ใกล้ตลาด ทำให้ต้องเจอปัญหาขยะ เป็นการเหมารวมเกินไปหรือเปล่า ตัวแปรของปัญหาเหล่านี้อาจไม่ได้อยู่ที่สถานที่หรือผังเมือง แต่อยู่ที่ “คนทุกคน” เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่อาจสร้างเมืองให้เป็นดั่งใจนึกได้เหมือนในเกม แต่เราสามารถออกแบบสภาพแวดล้อมของชุมชนนี้ได้ด้วยจิตสำนึกที่เข้าอกเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และความเชื่อมโยงระหว่างเรา ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
จากหัวข้อ การจัดกระบวนการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาในบริบทของหน้าที่พลเมืองโลก ครูปราศรัย เจตสันติ์ โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม และคณะจากกลุ่ม Citizen และเครือข่าย Thai Civic Education ร่วมกับ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด
ในงาน EDUCA 2019 วันที่ 17 ตุลาคม 2562
บทความนี้สนับสนุนโดย บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด