Knowledge
บทบาทของผู้นำโรงเรียนสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีค่าทางการศึกษา
10 months ago 1549นางสาววัลลภาภรณ์ พานทอง
ระบบการศึกษาของประเทศไทยยังคงเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย เช่น ความเหลื่อมล้ำ นักเรียนชาติพันธุ์ ภาพรวมของคุณภาพการศึกษาขั้นระดับพื้นฐานที่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ขาดวิจัยในห้องเรียนที่สามารถนำไปใช้ได้จริง และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ฯลฯ ซึ่งปัญหาทางการศึกษาทั้งหลายเหล่านี้ยังคงรอให้ได้รับการแก้ไข บางปัญหาอาจต้องอาศัยการพึ่งพาหรือประสานความร่วมมือกับหน่วยงานขนาดใหญ่ แต่บางปัญหาก็เริ่มต้นแก้ไขได้จากภายในโรงเรียน แล้วในฐานะของผู้บริหารสถานศึกษาสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทางการศึกษาได้หรือไม่ อย่างไร ?
บทบาทหน้าที่ของผู้นำโรงเรียน
ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาถือเป็นกลไกสำคัญของด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา โดยมีหน้าที่ต้องทำหลายอย่างด้วยกัน เช่น การบังคับบัญชาครูและบุคลากรในสถานศึกษา การวางแผน ควบคุม กำกับ และดูแลเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการ งบประมาณ งานบุคคล งานทั่วไป ความสัมพันธ์ชุมชนและงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย ฯลฯ
ผู้อ่านคงเห็นได้ว่าผู้อำนวยการเป็นเสาหลักของการบริหารงานที่ชี้วัดความสำเร็จและความล้มเหลวภายในโรงเรียน โดยมีหัวใจสำคัญในการปฏิบัติงานในทุกหน้าที่เป็นเด็กนักเรียนทุกคนในโรงเรียน ผู้อำนวยการจึงสามารถเป็นแกนนำเพื่อพาสถานศึกษาไปในทิศทางที่ดียิ่งกว่าเดิมและแก้ไขปัญหาที่สามารถแก้ได้ผ่านการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ และส่งเสริมให้ทำงานโดยความยึดมั่นในวิสัยทัศน์นั้นตามบริบทสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจหรือแรงกระตุ้นให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาภายในโรงเรียน รวมทั้งการทำงานเป็นทีมที่เคารพต่อการแสดงความคิดเห็นของทุกคนเพื่อร่วมมือกันในทุกภาคส่วน จึงถือได้ว่าผู้อำนวยการสถานศึกษา คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาของนักเรียน
การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา
หากต้องการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทยก็สามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวของผู้บริหารเอง ด้วยการนำสถานศึกษาไปในทางที่ดีกว่าเดิม EDREDESIGN ได้นำเสนอองค์ประกอบ 4 ประการในการวางแผนพัฒนาโรงเรียน ได้แก่
- การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักเรียนและครอบครัวของนักเรียนเพื่อพัฒนาความเข้าใจในความต้องการและความสนใจขอนักเรียน
- การวางแผนปฏิบัติงานที่มีกลยุทธ์ชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่ติดขัด และติดตามผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
- การสร้างระบบประสานงานสำหรับสนับสนุนและสร้างโอกาสให้กับนักเรียนทั้งการดึงนักเรียนเข้าสู่ระบบการศึกษา การแนะแนวการศึกษาเรียนต่อ การหาทุนการศึกษา ฯลฯ
- การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับรวบรวมข้อมูลของนักเรียน ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนก่อนแล้วนำไปสู่การพัฒนาความรู้ทางวิชาการ เนื่องจากถ้าชีวิตของนักเรียนดีพร้อมแล้วการศึกษาที่ดีจะตามมาเองจนนำไปสู่การขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง และยั่งยืนจากภายในโรงเรียนของตนเอง
เนื่องจากการเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษามีหน้าที่ในการบริหารงานสถานศึกษาจึงเปรียบเสมือนผู้คุมบังเหียนเพื่อไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน ดังนั้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงสามารถเริ่มต้นได้ที่ผู้อำนวยการเองและต่อยอดไปยังภายในโรงเรียนจนสามารถนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาได้ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่เสมอไป ขอเพียงแค่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีจากเดิมเพียงเล็กน้อย ก็ถือว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มที่ แล้วผลลัพธ์ที่พึงประสงค์จะตามมา
อ้างอิง
Harvard Graduate School of Education. (2021). Seizing the Moment for Transformative Change: A Framework for Personalized Student Success Planning. https://edredesign.org/files/edredesign/files/sp_executive_summary091721.pdf
Mostafa Sayyadi, C. A. C. (2022, September 5). Why Transformational Leadership Matters in a Post–Pandemic World. Training Magazine https://trainingmag.com/why-transformational-leadership-matters-in-a-post-pandemic-world/
ริญญาภัทร์ สุภาศิริธนานนท์. (2563). บทบาทผู้บริหารกับบรรยากาศองค์กรของโรงเรียนประถมศึกษาจังหวัดนนทบุรี. [วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร]. DSpace at Silpakorn University. https://sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/24616