Knowledge
เลือกอย่างไร ปรุงอย่างไร : จัดมื้ออาหารโรงเรียนที่ดีได้ถ้าเข้าใจถูกต้อง
2 years ago 1582อาทิตยา ไสยพร
พัฒนาการในช่วงวัยเรียนทั้งด้านร่างกายและด้านอารมณ์มีหลายสิ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ หนึ่งสิ่งที่มีส่วนทั้งการส่งเสริมและการยับยั้งก็คือ อาหารการกิน อาหารที่ดีช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและอารมณ์ที่ดีได้ อาหารที่ไม่ดีก็ทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ และอารมณ์ที่เซื่องซึมตามมาได้เช่นกัน บทความนี้จึงอยากแนะนำเกี่ยวกับอาหารให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู เลือกและจัดสรรอาหารให้ถูกต้อง
จัดสรรอาหารไม่ถูกต้องเป็นภัยมากกว่าประโยชน์
อาหารไม่ใช่เพียงให้พลังงานแก่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและประสิทธิภาพในการทำงานของสมองอีกด้วย สิ่งที่พบบ่อยบนสื่อโซเชียลต่าง ๆ ก็คือเรื่องของอาหารโรงเรียนที่มีการจัดสรรมื้ออาหารกลางวันไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ทั้งนี้อาจเป็นความเข้าใจผิดในการจัดโภชนาการที่อยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดี เช่น การเน้นข้าวกับเนื้อสัตว์ในมื้ออาหารเยอะ ๆ เพราะเชื่อว่านักเรียนจะได้พลังงานมาก ๆ และช่วยให้ร่างกายแข็งแรง อันที่จริง นี่เป็นความคิดที่ไม่ถูกเท่าไรนัก การเน้นทานอาหารเฉพาะประเภทแบบนี้ นอกจากจะไม่ส่งผลดีแล้วอาจจะทำให้นักเรียนได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนอีกด้วย
ความเข้าใจผิดเรื่องต่อมาคือการให้ทานขนมหวานหลังมื้ออาหาร เพื่อทำให้นักเรียนอยากทานอาหารมากขึ้น นอกจากจะไม่มีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับแล้ว การรับประทานของหวานบ่อย ๆ จะทำให้เด็กติดรสหวาน เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น อาการฟันผุ และโรคอ้วนในเด็ก
เรื่องเข้าใจผิดที่พบบ่อยอีกหนึ่งเรื่อง คือ ให้ทานวิตามินเสริมทดแทนการขาดวิตามินจากการไม่ทานผัก ผลไม้ของนักเรียน ซึ่งเมื่อเด็กได้รับวิตามินเสริมเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่ออวัยวะภายในซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กได้ จึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้นักเรียนฝึกกินผัก ผลไม้เพื่อได้รับวิตามินจากธรรมชาติโดยตรงซึ่งปลอดภัยต่อร่างกายมากกว่า
ฝึกนักเรียนปรับการกินอย่างถูกต้องสู่พัฒนาการที่ดี
บทความนี้จะกล่าวเน้นในเรื่องของอาหารเพื่อส่งเสริมพัฒนาการที่ดี ที่ทำได้ง่าย ๆ เพียงใส่ใจในการจัดประเภทของอาหารในแต่ละมื้อให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนใหญ่แล้วอาหารที่เรารับประทานเป็นหลักจะอยู่ในประเภทคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นประเภทของแป้งและน้ำตาลที่มักพบในข้าว จากนั้นจะย่อยกลายเป็นน้ำตาลและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด หากทานมากไปก็อาจทำให้ง่วงนอนและเซื่องซึม เพื่อแก้ปัญหานี้จึงต้องทำความเข้าใจว่าจัดมื้ออาหารอย่างไรให้ดี ต้องเริ่มต้นต้องเข้าใจเรื่องสารอาหารที่จำเป็นสำหรับวัยเรียน นั่นก็คือแคลเซียมที่มีอยู่ในเนยและนม ธาตุเหล็กที่มีมากในตับและเนื้อแดง และสังกะสีที่มีอยู่ในอาหารประเภทโปรตีน
ครูและผู้ปกครอง ต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมอาหารเช้าก่อนจะจัดประเภทอาหารต้องจัดเตรียมอาหารให้ได้ครบทุกมื้อก่อนโดยเฉพาะมื้อเช้า ต่อมาจึงมาใส่ใจในสัดส่วนอาหารมื้อหลักทุกมื้อ โดยต้องมีสารอาหารที่ครบถ้วน เริ่มจากโปรตีน โดยเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน คาร์โบไฮเดรตอาหารประเภทข้าว โดยข้าวที่ดีไม่ควรผ่านการขัดสีเพื่อสารอาหารที่ครบถ้วนและเน้นผักในมื้ออาหาร ถัดมาคือการเพิ่มอาหารว่างระหว่างวัน โดยเน้นเป็นนมและผลไม้ประมาณ 2 มื้อ เมื่อคุณครูผู้ปกครองสามารถจัดสรรมื้ออาหารได้อย่างถูกต้องแล้ว
เรื่องถัดมาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดคือการฝึกนักเรียนให้ปรับการกินที่ดี เช่น การฝึกให้นักเรียนรับประทานอาหารเช้าจนเป็นนิสัย การฝึกให้นักเรียนไม่ทานขนมขบเคี้ยว หรือถ้าต้องการรับประทาน ให้จำกัดปริมาณไม่ให้บริโภคมากจนเกินไป รวมไปถึงการฝึกให้นักเรียนดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกายแต่ละคน
ความเข้าใจในเรื่องการจัดสรรสัดส่วนประเภทของอาหารในแต่ละมื้อเป็นสิ่งสำคัญ การจัดสรรอาหารที่เน้นปริมาณหรือเน้นการให้พลังงานมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงสัดส่วนที่ควรได้รับในแต่ละมื้อไม่เพียงส่งผลลบต่อร่างกายและสุขภาพ แต่ยังมีผลไปถึงปัญหาอารมณ์และความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วย ด้วยเหตุนี้ คุณครูและผู้ปกครองสามารถสร้างเสริมสุขภาพกายและใจที่ดีให้นักเรียนได้ง่าย ๆ เพียงเลือกให้ถูก ปรุงให้เป็น ก็จะได้มื้ออาหารที่เกิดคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
อ้างอิง
กรมอนามัย. (2561, 30 กรกฎาคม). 4 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโภชนาการสำหรับเด็กในวัยเรียน. https://multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/4-misconceptions-parents-have-about-kids-nutrition/
อรอนงค์ กังสดาลอำไพ. (ม.ป.ป.). อาหารกับอารมณ์. เส้นทางสุขภาพ. http://www.yourhealthyguide.com/article/am-food-mind.html
Nestle. (ม.ป.ป.). อาหารที่เหมาะสมกับวัยเรียน กินแบบไหนถึงเหมาะสมและพอดี. https://www.nestle.co.th/th/nhw/kids/parents/portion/nutrition-for-student
BBC. (2020, January 29). How diet can affect your mental wellbeing. https://www.bbc.co.uk/food/articles/diet_wellbeing
CDC Healthy Schools. (2021, September 21.). Eating Healthier at School. https://www.cdc.gov/healthyschools/features/eating_healthier.htm