Knowledge

การฝึกอบรม และพัฒนาครูยังต้องมี แม้วันที่โรคระบาดยังอยู่

การฝึกอบรม และพัฒนาครูยังต้องมี แม้วันที่โรคระบาดยังอยู่

 3 years ago 3061

แปล: พิศวัสน์ สุวรรณมรรคา
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: นัชชา ชัยจิตรเฉลา

          การระบาดของ COVID-19 ไม่เพียงกระทบต่อการจัดการเรียนรู้ของครู และนักเรียนทั่วโลกเท่านั้น มองย้อนกลับไปถึงการฝึกอบรมครู หรือ การพัฒนาครู ที่เคยจัดขึ้นแบบพบปะเห็นหน้ากันจริงๆ มาถึงวันนี้เขตพื้นที่การศึกษาหลายแห่งในประเทศที่ยังมีการระบาดหนัก ต้องปรับเปลี่ยนการฝึกอบรมครูให้เป็นแบบออนไลน์ไม่ต่างจากการจัดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น

          แม้ว่าการฝึกอบรมครูแบบออนไลน์จะฟังดูเป็นเรื่องท้าทายไม่แพ้การจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน แต่งานวิจัยที่เผยแพร่โดย Annenberg Institute for School Reform ที่ Brown University และ Results For America กลับชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนสามารถจัดอบรมทางไกลได้ ไม่ว่าจะแค่บางส่วนหรือทั้งหมด ข้อมูลจากการวิจัยยังพบว่า ครูที่จัดการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ และได้รับการฝึกหัดแบบเสมือนจริงจะมีการพัฒนาทักษะต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ครูใหม่ที่ได้รับผลกระทบเรื่องการฝึกสอน พวกเขาก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยการฝึกอบรมออนไลน์ก็มีส่วนช่วยได้

          ในประเทศที่ยังมีการระบาดหนัก มีการคาดการณ์กันว่าจะยังคงใช้การเรียนรู้ทางไกลไปก่อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เขตพื้นที่การศึกษามีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นในการใช้โปรแกรมเตรียมความพร้อมครูแบบทางไกล โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบเดิมที่เคยทำกันมา การเรียนรู้ทางไกลจึงสร้างโอกาสครูให้มีความพร้อม และสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ รายงานที่เผยแพร่โดย New America แนะนำ โปรแกรม "Grow Your Own” (GYO) ที่กำลังเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้นและทำให้สามารถระบุปัญหาการขาดแคลนครู และการรักษาครูเอาไว้ในระบบต่อไปได้ สำหรับผู้ที่กังวลว่า การเปิดโอกาสให้นักศึกษาครูเข้ามามีบทบาทในชั้นเรียนออนไลน์นั้นจะส่งผลด้านลบหรือไม่นั้น แท้จริงแล้วการมีนักศึกษาครูในห้องเรียน อาจส่งผลในเชิงบวกต่อการเรียนการสอน เพราะนักศึกษาครูเหล่านั้นจะได้เรียนรู้การปรับตัวจากครูพี่เลี้ยง อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำสำหรับโรงเรียนที่มีโปรแกรมการพัฒนาครูว่า โรงเรียนควรหลีกเลี่ยงการใช้โปรแกรมที่มีคุณภาพต่ำหรือไม่ยั่งยืน รวมถึงโปรแกรมที่มุ่งเน้นการวัดประสิทธิผลของครู เพราะสภาพแวดล้อมของการเรียนทางไกลนั้นไม่เหมือนกับการเรียนในชั้นเรียนจริงๆ

          นอกจากนี้ งานวิจัยยังทำให้เราเห็นภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ของโรคระบาดที่ส่งผลต่อการขาดแคลนครูในอนาคต เพราะหากนักศึกษาครูถูกจำกัดประสบการณ์ในการฝึกสอนจากการแพร่ระบาดของโรค เขตพื้นที่การศึกษาหลายๆ แห่งอาจพลาดโอกาสในการปั้น และประเมินผู้ที่จะสมัครเข้ามาเป็นครูใหม่ ในขณะเดียวกัน นักศึกษาครูก็อาจพลาดที่จะได้รับประสบการณ์อันมีค่า ซึ่งส่งผลต่อโรงเรียนที่พวกเขาจะเลือกสอนต่อไป เช่นเดียวกับครูอาวุโส พวกเขาอาจต้องเกษียณก่อนกำหนด ซึ่งเป็นผลมาจากการลดงบประมาณทำให้ต้องมีการเลิกจ้างงาน

          ไม่มีใครรู้ว่า COVID-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไร หรือหากวันหนึ่งในอนาคตเราค้นพบวัคซีนเพื่อหยุดยั้งการระบาดได้แล้ว โลกของเราก็ยังคงต้องเผชิญกับโรคระบาดใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคธุรกิจอื่นอาจเกิดการหยุดชะงักชั่วคราว แต่การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินต่อไป การปรับตัวให้เร็ว ยืดหยุ่นตามสถานการณ์เพื่อให้สุดท้ายแล้วนักเรียนยังเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของครูยุคโควิดทั่วโลก ดังนั้นครูก็ยังจำเป็นต้องเรียนรู้ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

อ้างอิง
Modan, N. (2020, July 24). Flexibility needed to maintain teacher training during coronavirus. Retrieved September 21, 2020, from https://www.educationdive.com/news/research-flexibility-needed-to-maintain-teacher-training-during-coronaviru/582241/


TAG: #โควิด19 #การจัดการโรงเรียน #ทักษะศตวรรษที่19 #โรคระบาดใหญ่ #COVID19 #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะในศตวรรษที่21