Knowledge

เปิดเทอมใหม่...บทบาทครูกับการจัดการอารมณ์ และสภาวะจิตใจหลังภัยโควิด-19

เปิดเทอมใหม่...บทบาทครูกับการจัดการอารมณ์ และสภาวะจิตใจหลังภัยโควิด-19

 4 years ago 5657

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ผลกระทบของภัยโควิด-19 ต่อการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ และการระมัดระวังตัวที่เพิ่มมากขึ้นของคนในสังคม ล้วนส่งผลต่อสภาวะจิตใจ และความหวาดวิตกของนักเรียน ผู้ปกครองเช่นกัน การเปิดเทอมใหม่ในขณะที่ภัยการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า ยังไม่สิ้นสุดลงนั้น ทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนบางส่วนเกิดความกังวลใจในมาตรการ และการดูแลสุขภาพความปลอดภัยของโรงเรียนไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ทางด้าน ครูและบุคลากรในโรงเรียนต่างก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียนเป็นหลัก รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่

          เนื่องด้วยระยะเวลาของการปิดเทอมที่ยาวนานขึ้นประกอบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพ การเงิน ความสัมพันธ์ในครอบครัว และสภาพจิตใจของผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนไม่มากก็น้อย เมื่อผู้ปกครองประสบปัญหา เด็กนักเรียนเองก็กังวล และเผชิญความเครียดสะสมกับสภาพแวดล้อมหรือปัญหาทางบ้านด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อสมาธิ และความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อการแสดงออกทางอารมณ์ และความสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย ดังนั้น การเปิดโรงเรียนท่ามกลางสภาวการณ์เฝ้าระวัง และฟื้นตัวจากโควิด-19 ผู้บริหารและครูจึงควรคำนึงถึงประเด็นความเปราะบางทางความรู้สึก และจิตใจในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสภาพจิตใจของนักเรียนในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น มีการพัฒนาบูรณาการการสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ การปรับตัวกลับสู่ชีวิตการเรียนในโรงเรียน ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างปลอดภัย และคำนึงถึงการป้องกันดูแลสุขภาพเป็นสำคัญในเบื้องต้นก่อนจะถ่ายทอดเนื้อหาสาระวิชาการเต็มรูปแบบ

“โรงเรียนกับการวางแผนรับมือ และบรรเทาความเครียดความวิตกกังวลจากความเปลี่ยนแปลง”
          ศิลปะในการสื่อสารและการวางแผน คือ วิธีการสำคัญที่ครูสามารถนำมาใช้ในการประเมิน และบรรเทาความเครียดความวิตกกังวลของนักเรียนตลอดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และยากที่จะรับมือได้ด้วยตนเอง การปรับเปลี่ยนตารางเรียนให้มีความยืดหยุ่นในชั่วโมงการเรียนมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อเท่านั้น แต่ยังช่วยให้นักเรียนได้ปรับตัวกับวิถีชีวิตการเรียน และแบบแผนที่ควรปฏิบัติร่วมกันเป็นประจำให้เกิดความคุ้นชินอีกครั้ง หรือจะเป็นการออกแบบกิจกรรมในชั้นเรียนที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ ทั้งมีโอกาสแสดงความคิดเห็น และแสดงออกความรู้สึกของตนเองมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันครูจะได้ทำความเข้าใจแก้ไข และให้คำปรึกษากับปัญหาที่เกิดได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น
          ตัวอย่างเช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นักเรียนได้มีประสบการณ์เรียนออนไลน์ผ่านเทคโนโลยี ครูสามารถนำประเด็นที่นักเรียนมีประสบการณ์ และมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตนักเรียนมาใช้เป็นโอกาสในการฝึกฝน และเพิ่มพูนทักษะในสาระวิชาต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยอาศัยตัวอย่างสถานการณ์มาประกอบ และนำเสนอให้เห็นภาพความเป็นจริง มีความใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถใช้ประสบการณ์ที่นักเรียนมีร่วมกันในช่วงเวลาดังกล่าวในการสร้างกำลังใจ และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มนักเรียนให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่อาจทำได้ในช่วงเวลาทั่วไปได้ นักเรียนที่ประสบปัญหาวิตกกังวลอาจจะพบว่าตนเองไม่ได้แปลกแยก หรือประสบปัญหาอยู่เพียงคนเดียว ด้วยการสนับสนุนของคนรอบข้างจะช่วยให้นักเรียนปรับตัว และเห็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่มีความสุขมากยิ่งขึ้น

“ให้เวลาและพื้นที่นักเรียนได้เรียนรู้ และทบทวนจากประสบการณ์”
          การให้เวลานักเรียนได้ทบทวน และเรียนรู้จากสิ่งที่ได้พบเจอ จากประสบการณ์ ประกอบกับบทบาทครูที่คอยแนะนำ ให้คำปรึกษาชี้แนะอย่างเป็นเหตุเป็นผล การให้พื้นที่ในการแสดงออก และเป็นตัวของตัวเองในโรงเรียนอย่างเหมาะสมล้วนแล้วแต่เป็นส่วนสำคัญในการเริ่มต้นปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในห้องเรียนเฉกเช่นสภาวะปกติอีกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถประยุกต์ใช้คาบเรียนในการบูรณาการสร้างพื้นที่ และจัดสรรเวลาในการปรับตัวของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้นชินได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เช่น คาบเรียนวิชาดนตรี แต่งกลอน แต่งเนื้อเพลง คาบเรียนภาษาไทย เขียนเรียงความ คาบเรียนวิชาศิลปะ และการแสดงละคร เป็นต้น

“คำพูดหรือข้อคิดเชิงบวกจากครู และเพื่อนช่วยบรรเทาความวิตกกังวลได้”
          การเขียน การใช้สัญลักษณ์หรือพูดข้อความในเชิงบวกของครู และเพื่อนนักเรียนช่วยเสริมสร้างกำลังใจ และความเชื่อมั่นในตัวเองที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น การใช้ความรู้สึกร่วมจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของนักเรียนมาเป็นสื่อกลางในการปรับทัศนคติ แลกเปลี่ยนแนวคิดในเชิงบวกที่จะช่วยปรับมุมมองให้นักเรียนมองเห็นข้อดีและประโยชน์ รวมทั้งผลกระทบและการป้องกันที่นักเรียนสามารถกระทำได้ด้วยตนเอง อาศัยการตั้งคำถาม “ทำไม” และ “เพราะอะไร”เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ ปัญหาที่นักเรียนพบเจอ และต้องการค้นหาทางออกด้วยแนวทางที่เหมาะสม ทั้งนี้วิธีการสื่อสารที่กล่าวข้างต้นมานั้นควรปฏิบัติติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีอาศัยการสื่อสารเชิงบวก ความเข้าใจ และห่วงใยสภาพจิตใจ อีกทั้งความรู้สึกของผู้คนรอบข้างมากยิ่งขึ้น

          ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางในการลด และบรรเทาอาการวิตกกังวลหรือเครียดจากการปรับตัวอย่างกะทันหันยังสามารถทำได้โดยอาศัยวิธีการง่ายๆ จากการเริ่มปรับวิถีการดำเนินชีวิตให้กลับมาใกล้เคียงกับช่วงที่มีการเปิดเรียนปกติ การเข้านอนตื่นนอนเป็นเวลา การจัดตารางกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การติดต่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนเกี่ยวกับความพร้อมในการเตรียมตัวทั้งเรื่องการเรียนและสภาพจิตใจ เป็นต้น

          การเตรียมตัวของครูและโรงเรียนเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความวิตกกังวลของนักเรียน รวมทั้งผู้ปกครองนั้นอาจจะดูเหมือนยาก และซับซ้อน แต่ด้วยการวางแผนเตรียมการ ความเข้าใจ การให้เวลาและพื้นที่ รวมทั้งการสื่อสารที่ดี และสร้างสรรค์จะช่วยทำให้นักเรียนเกิดความพร้อม อีกทั้งช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในชั้นเรียนกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งหนึ่ง

ที่มา:
Leonard, C., & Brown, G. (2020, May 12). COVID-19: How teachers can help students transition back to school. Retrieved June 22, 2020, from https://www.teachermagazine.com.au/articles/covid-19-how-teachers-can-help-students-transition-back-to-school

5 Tips to Ease Back-to-School Anxiety. (n.d.). Retrieved June 22, 2020, from https://www.hopkinsmedicine.org/health/wellness-and-prevention/5-tips-to-ease-backtoschool-anxiety

Allen, K. (2020, May 20). A collective return to school, and adjusting to the 'new normal'. Retrieved June 22, 2020, from https://www.school-news.com.au/news/a-collective-return-to-school-and-adjusting-to-the-new-normal

The New Normal: Returning To School After COVID-19. (n.d.). Retrieved June 22, 2020, from https://beaconschoolsupport.co.uk/newsletters/the-new-normal-returning-to-school-after-COVID-19


TAG: #สุขภาพจิตและกาย #การจัดการโรงเรียน