Knowledge
คุณค่าของการวัดและประเมิน..ที่มากกว่าเพียงเกรด
3 years ago 4651เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี
“ครูคะ อีกแค่คะแนนเดียวเอง หนูขอได้ไหมคะ”
“ครูครับ รายงานที่ครูสั่งคะแนนเต็มเท่าไรครับ”
เชื่อว่าครูทุกคนต้องเคยได้ยินคำพูดเหล่านี้กันมาบ้าง เพราะการเรียนการสอนในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยเองด้วย เราคุ้นเคยกับการสอบเก็บคะแนน สอบกลางภาค สอบปลายภาค ได้คะแนนและตัดเกรด เพื่อแสดงผลลัพธ์การเรียนรู้ในแต่ละภาคเรียน สะท้อนถึงคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าอยู่ในระดับใด การวัดและประเมินนักเรียนด้วยคะแนน และการตัดเกรดเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคน ทั้งผู้เรียน ครู และผู้ปกครอง
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การวัดและประเมินเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน ที่อธิบายผลลัพธ์ท้ายสุดของการเรียนรู้..ครูทราบหรือไม่ว่ายังมีการประเมินรูปแบบอื่นๆ อีกที่นอกเหนือจากการประเมินเพื่อสรุปผล (summative assessment) เช่น การประเมินความก้าวหน้าระหว่างเรียน (formative assessment) อีกด้วย สิ่งที่น่าเสียดาย คือ หลายครั้งที่ทั้งผู้เรียน ครู และผู้ปกครอง มุ่งให้ความสำคัญที่เกรดที่นักเรียนได้รับมากเกินไป จนลืมไปว่าสิ่งสำคัญยังมีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ หรือทักษะที่นักเรียนได้รับ ซึ่งเรามี 3 วิธีที่จะช่วยให้ตัวครู และนักเรียนหันมาสนใจกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคตได้ ดังนี้
1. ปรับทัศนคติ (mindset) ของครูเองเสียก่อน
คำพูดมักออกมาจากความคิดของผู้พูด ดังนั้น บางคำพูดของครู เช่น “งานชิ้นนี้สำคัญนะ เพราะเปอร์เซ็นต์ของคะแนนเยอะ คุณจะต้องทำส่งทุกคน” คำพูดนี้อาจสะท้อนให้เห็นทัศนคติของครูผู้พูดว่าให้ความสำคัญกับคะแนน ซึ่งอาจจะถ่ายทอดไปสู่นักเรียนได้ ดังนั้นครูอาจลองปรับคำพูดเพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของงานและสิ่งที่พวกเขาจะได้รับจากงานชินนั้น ๆ เช่น ครูพูดให้นักเรียนฟังว่าทักษะที่นักเรียนใช้ในงานชิ้นนี้คืออะไร มีความยากง่ายเพียงใดในการทำงานชิ้นนี้ แล้วงานชิ้นนี้สามารถต่อยอดได้อย่างไร
2. ให้คุณค่ากับการออกแบบการวัดและประเมินเชิงคุณภาพ
ครูสามารถปรับลดการวัดและประเมินเชิงปริมาณ แล้วปรับมาใช้เป็นเชิงคุณภาพ เช่น ข้อเสนอแนะจากครูผู้สอนต่อผลงาน หรือการแสดงความคิดเห็นของนักเรียน นอกจากครูจะได้วัดความรู้ความเข้าใจของนักเรียนแล้ว ครูยังสามารถวัดทักษะการคิดและการทำงานของนักเรียนได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดโอกาสให้นักเรียนประเมินตนเอง หรือเพื่อนประเมินเพื่อน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้นักเรียนได้เห็นข้อควรพัฒนาของตนเองและของเพื่อน ทั้งนี้ ครูจะต้องฝึกวิธีการให้คำแนะนำแก่นักเรียนที่เป็นประโยชน์ เช่น ชี้แจงหลักในการประเมินงานโดยไม่มีอคติ ตรวจสอบการประเมินของนักเรียนว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะการประเมินงานบางชิ้นอาจต้องใช้ความสามารถขั้นสูงในการประเมิน เช่น ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในงานชิ้นนั้น ๆ กลวิธีการให้ ฟีดแบค (feedback) ที่ดี และมีเกณฑ์ที่ชัดเจน
3. ปรับแบบทดสอบ
การออกแบบแบบทดสอบ ควรคำนึงถึงการวัดกระบวนการคิดและทักษะในการเรียนของนักเรียน รวมทั้งลดทอนรูปแบบข้อสอบที่มุ่งวัดผลแค่ความถูก-ผิดของเนื้อหาอย่างเดียว แต่เพิ่มเติมข้อสอบที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเขียนแสดงความคิดเห็น สะท้อนทักษะการคิดแก้ปัญหา และการคิดชั้นสูง เช่น การทำรายงานค้นคว้า การนำเสนอในชั้นเรียน ซึ่งช่วยให้นักเรียนไม่ต้องพะวงกับคะแนนจากการทดสอบ ทั้งนี้ ในบางครั้งการวัดผลแบบถูก-ผิดยังเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนอีกด้วย การเรียนรู้โดยที่ไม่ต้องมีตัวเลขคะแนนมาเป็นสิ่งเดิมพัน จะช่วยให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียนรู้มากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลหรือเครียดกับคะแนน เนื่องจากนักเรียนทุกคนล้วนมีความชอบและความถนัดแตกต่างกัน สิ่งสำคัญในการประเมินเชิงคุณภาพ คือ ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองแก่นักเรียน โดยใช้การให้ฟีดแบค ข้อแนะนำ และการติดตามผล
อย่างไรก็ตามครูควรเลือกใช้วิธีในการวัดและประเมินให้เหมาะสมกับเป้าหมายและการจัดการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงผู้เรียนเป็นหลัก การวัดและประเมินไม่จำเป็นต้องเป็นเชิงปริมาณอย่างเดียว การผสมผสานกับการวัดและประเมินผลเชิงคุณภาพ ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง...นั่น
แหล่งอ้างอิง
Crystal Frommert. 5 Ways to Help Students Focus on Learning Rather Than Grades. (2021). [online]. from https://www.edutopia.org/article/5-ways-help-students-focus-learning-rather-grades (retrieve July 29, 2021)
Susan M. Brookhart. A Perfect World Is One with No Grades. (2019). [online]. from https://www.ascd.org/el/articles/a-perfect-world-is-one-with-no-grades (retrieve august 4, 2021)
Nopadol Rompho. หรือว่าการเรียนไม่ควรมีเกรด. (2561). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.nopadolstory.com/measurement/no-grade/ (สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564)