Knowledge

บทเรียนใหม่ คำถามใหม่ ถ้าครูไม่รู้แล้วเราจะตอบโต้ยังไง

บทเรียนใหม่ คำถามใหม่ ถ้าครูไม่รู้แล้วเราจะตอบโต้ยังไง

 2 years ago 1896

อาทิตยา ไสยพร

          ชีวิตการเป็นครูมักเจอกับความท้าทายมากมายเข้ามาเป็นบทพิสูจน์อยู่เสมอ ในแต่ละวันของการสอนไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในบทเรียน เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนเป็นสิ่งที่คุณครูต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน บางครั้งคุณครูต้องเผชิญกับคำถามหรือข้อสงสัยใหม่ ๆ แล้วจะทำอย่างไรหากบทเรียนหรือคำถามนั้นเป็นสิ่งที่คุณครูไม่มั่นใจ

เตรียมตัวอย่างไรถ้าต้องเจอบทเรียนใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
1. A, B และ C
          วิธีนี้ไม่ได้ชวนท่อง ABC แต่อย่างใด วิธีนี้คือการเตรียมแผนการสอนหลาย ๆ แบบก่อนสอน โดยคิดแผนที่มีความแตกต่างกัน กระบวนการในการวางแผนนั้นควรคาดการณ์คำถามที่คิดว่านักเรียนจะถามในห้องเรียน หรือรวบรวมแนวทางจากเพื่อนร่วมงานให้ช่วยแบ่งปันประสบการณ์ในบทเรียนนั้นเพื่อช่วยในการเตรียมตัวนั้นรัดกุมขึ้น นอกจากนี้ยังได้วางแผนรับมือกับข้อคำถาม ข้อสงสัย และคำตอบของบทเรียนนั้น ๆ ได้ด้วย
2. ให้นักเรียนตั้งประเด็นคำถามก่อนเริ่มเรียน
          วิธีนี้จะช่วยให้คุณครูรู้แง่มุมของนักเรียนเกี่ยวกับบทเรียนนั้น ๆ ก่อนเริ่มสอน การลองให้นักเรียนตั้งคำถามในบทเรียนเราจะสามารถจดบันทึกในสิ่งที่นักเรียนต้องการรู้ เพื่อนำไปศึกษาและนำมาให้ความรู้ให้กับนักเรียนในครั้งถัดไป การเรียนไม่จำเป็นที่คุณครูจะต้องเริ่มตั้งคำถามก่อนแต่นักเรียนสามารถตั้งคำถามในประเด็นต่าง ๆ ก่อนเริ่มเรียนได้เช่นกัน

แล้วถ้าไม่รู้จริง ๆ ควรทำอย่างไร
          เตรียมตัวมาทั้งสองวิธีแต่ชีวิตก็ไม่สามารถเป็นตามสคริปต์ได้ตลอด หากไม่แน่ใจในคำตอบ การไม่รู้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด การยอมรับว่าไม่รู้และไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำมาสอนก็เป็นสิ่งที่ควรทำดีกว่าตอบแบบทั้งที่ยังไม่แน่ใจในความถูกต้อง ส่วนสำคัญจึงอยู่ที่เทคนิควิธีการในการสื่อสารเพื่อเป็นการยอมรับว่าเราไม่รู้ และเป็นการบอกว่าอยากเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน ตัวอย่างเช่น
“ครูไม่แน่ใจนะ แต่สิ่งที่ครูรู้ก็คือ...” การตอบแบบนี้เป็นการสื่อสารกับนักเรียนว่าคุณครูไม่ได้ไม่รู้ในเรื่องนั้นเลย ครูอาจจะรู้แค่หลักพื้นฐานไม่ได้รู้ในเชิงลึก ขอตอบในบางส่วนของเรื่องที่รู้และขอเวลาไปศึกษา และในทำนองเดียวกันเมื่อนักเรียนไม่รู้ในสิ่งที่ครูถามก็อาจจะติดเงื่อนไขนี้ จึงเป็นได้ทั้งการทบทวนตนเองเกี่ยวกับสิ่งที่รู้ชัดและยังไม่แน่ใจ ช่วยให้คุณครูรู้แนวทางสนับสนุนนักเรียนได้
“ในความคิดครู ครูคิดว่าน่าจะเป็นแบบนี้” การตอบลักษณะนี้เหมือนกับการเดาคำตอบ เป็นปกติที่บางครั้งเราต้องมีการเดาคำตอบบนพื้นฐานของความรู้เดิมที่มี ให้คุณครูลองใช้ความรู้ที่มีอยู่มาตอบโดยคำตอบที่ตอบต้องสมเหตุสมผลและควรไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อมาตอบคำถามให้กระจ่างขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ทุกคนมีความกล้าที่จะทำและยอมรับหากจะผิดพลาด
“หากเป็นนักเรียน นักเรียนคิดเห็นอย่างไร...” เป็นวิธีให้นักเรียนตอบกลับแนวคิดเป็นรายบุคคล วิธีนี้เป็นวิธีที่คุณครูจะได้เก็บรวบรวมคำตอบของนักเรียนเพื่อหาแนวทางในการตอบกลับ นักเรียนหลายคนอาจมีประเด็นแนวคิดที่น่าสนใจมาช่วยในการตอบคำถามของคุณครูรวมถึงเป็นการสร้างบทสนทนาในระดับห้องเรียนก็ได้

          เชื่อว่าคุณครูหลาย ๆ ท่านไม่ว่าจะมือใหม่หรือเชี่ยวชาญแล้วคงเคยพบเจอเหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ว่าเราจะศึกษาเนื้อหาความรู้มามากมายขนาดไหน ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรู้ในทุกเรื่อง หากมีคำถามในประเด็นที่ไม่เคยเจอมาก่อนการไม่รู้ย่อมไม่ใช่สิ่งที่ผิด เทคนิคการตอบที่ได้แนะนำในบทความเป็นแนวทางการตอบเมื่อไม่มั่นใจในคำตอบเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ป้องกันได้ดีที่สุดคือการวางแผนการสอนและศึกษามาอย่างดี การเตรียมตัวที่ดีของคุณครูย่อมเกิดการสอนที่มีคุณภาพ เชื่อว่าไม่ว่าบทเรียนจะใหม่ หรือคำถามใหม่ ถ้าเราแม่นยำในเนื้อหาเราสามารถตอบคำถามนักเรียนได้อย่างแน่นอน

อ้างอิง
DeHart, J. (2022, April 14). How to prepare for unexpected lesson challenges. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/how-prepare-unexpected-lesson-challenges

Lermer, Y. (2021, May 10). 8 phrases to teach students instead of “I don’t know.”. Weareteacher. https://www.weareteachers.com/alternatives-i-dont-know/


TAG: #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ #เทคนิคการตอบ #Unexpected lesson challenges