Knowledge

เปิดเทอมใหม่ต้องเปิดใจครู

เปิดเทอมใหม่ต้องเปิดใจครู

 2 years ago 4835

จิราพร เณรธรณี

        ยุคสมัยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมื่อก่อนภาพของนักเรียนนั่งฟังครูสอนแล้วจดบันทึกข้อความบนกระดานดำในสมุดบันทึก นอกจากนี้ยังมีแบบวัดและประเมินผล หรือเกณฑ์ที่เป็นเอกสารหลักในการยึดเอามาเพื่อใช้วัดและประเมินผู้เรียน ภาพนี้จะค่อย ๆ เลือนหายไป เมื่อการศึกษาไทยหันมาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างเต็มรูปแบบ ครูจึงควรก้าวทันความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วนี้ให้ได้

        การเรียนการสอนที่เน้นความรู้ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของนักเรียนในอนาคตอีกต่อไป ในปัจจุบันผู้เรียนสามารถเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ หรือศึกษาความรู้ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การเรียนการสอนปัจจุบันจึงเน้นที่การคิดแก้ไขปัญหาด้วยตัวของผู้เรียนเอง มี 6 กลยุทธ์ที่ครูสามารถนำไปใช้เพื่อช่วยพัฒนาการสอนให้มีความแปลกใหม่จากเดิม ดังนี้

1. การเตรียมการสอน รวมทั้งการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากครูผู้สอนในห้องเรียนนั้น ๆ เพียงคนเดียว แต่เกิดการร่วมมือกันเป็นชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (PLC) บนฐานของการทำความเข้าใจผู้เรียนที่มีความหลากหลาย ดังนั้น การวางแผนจึงไม่ได้เริ่มจากตัวผู้สอนว่าอยากสอนเรื่องอะไร หรือเพิ่มเติมเรื่องอะไรเท่านั้น แต่ควรมาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากแผนโดยตรง คือผู้เรียนนั่นเอง ในทางกลับกัน ครูควรถามผู้เรียนว่า ผู้เรียนอยากรู้อะไรนอกเหนือจากการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดในแต่ละระดับชั้น ครูจะได้เติมเต็มส่วนที่ผู้เรียนยังขาดอยู่ได้

2. การร่วมมือกันของผู้สอน หลักการสำคัญในการร่วมมือกัน คือ ควรเน้นไปที่สิ่งที่มีร่วมกัน แล้วมองหาสิ่งที่แตกต่าง ร่วมกันอภิปรายสิ่งเหล่านั้นเพื่อนำผลที่ได้ย้อนกลับไปถึงประเด็นที่เป็นสิ่งสำคัญของการเรียนการสอน หากปฏิบัติตามหลักการข้างต้นจะส่งผลให้ครูทราบถึงประเด็นสำคัญของบทเรียนนั้นได้อย่างรวดเร็วและตรงประเด็นด้วย

3. การลองค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ในปัจจุบันมีหลายแนวคิดเกี่ยวกับการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เช่น วิธีการสอนโดยพัฒนากิจกรรมเป็นรูปแบบเกม (Gamification) ที่ไม่ใช่แค่นำเกมมาใช้เฉย ๆ แต่มีเนื้อหาด้วย หรือ วิธีการสอนแบบเปิด (Open Approach) ที่เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น ซึ่งใช้ควบคู่กับการศึกษาชั้นเรียน หรือ Lesson Study โดยครูในแต่ละช่วงชั้นจะร่วมมือกันในการศึกษาและแก้ไขปัญหาในชั้นเรียน นอกจากนี้ การสอนผู้เรียนควรเป็นแบบเชิงรุก (active learning) คือให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้เรียนและกระตุ้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง

4. การเชื่อมโยงกับหลักสูตรการเรียนกับชุมชน การจัดการเรียนรู้เกิดอย่างสมบูรณ์เมื่อทั้งครอบครัว ชุมชน และโรงเรียนร่วมมือกันพัฒนาและดูแลผู้เรียน เพื่อทำความเข้าใจปัญหาของผู้เรียนมากขึ้นนำไปสู่การช่วยเหลือสนับสนุนอย่างถูกวิธี โดยวิธีการเชื่อมโยงหลักสูตรอาจจัดกิจกรรมหรือวิชาเลือกที่มีความสอดคล้องกับบริบทของชุมชนนั้น ๆ

5. การสร้างเป้าหมาย การสร้างเป้าหมายร่วมกันทั้งครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน ซึ่งการร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่ายนี้จะทำให้ได้ข้อมูลสำหรับช่วยพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลายกว่าที่โรงเรียนจะเป็นผู้ดูแลและพัฒนาผู้เรียนเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ข้อมูลนี้เป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ผู้เรียนแต่ละคน เพื่อที่จะนำมาวางแผนการสอนได้อย่างเหมาะสม เช่น งานอดิเรกเมื่ออยู่บ้าน รายการทีวี/ช่องยูทูบที่ชื่นชอบ กิจวัตรประจำวันที่ทำในแต่ละวัน ฯลฯ

6. การยอมรับในการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีจุดสิ้นสุดเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าครูก็ควรพัฒนาการเรียนการสอนอย่างไม่มีจุดสิ้นสุดเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่มีคำว่า “ดีที่สุด” เพราะการนำแผนมาปรับใช้กับผู้เรียนที่มีความหลากหลายย่อมมีการปรับปรุงและมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ ทั้งการปรับเฉพาะหน้าและการปรับเหมาะกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

        การจัดทำแผนการเรียนการสอนนับว่าเป็นส่วนสำคัญในการเป็นหลักปฏิบัติทั้งของครูและผู้เรียน ส่วนรูปแบบ หรือเทคนิคการสอนนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้สอนจะพิจารณาว่ามีความเหมาะสมกับห้องเรียนของตนหรือไม่ เพราะครูแต่ละคนก็มีเทคนิคการสอนที่แตกต่างกันไป บางทีการนำเทคนิคเหล่านี้มาแบ่งปันกันก็เป็นเรื่องที่ไม่แย่เลย เพราะครูในโรงเรียนเดียวกันล้วนเจอผู้เรียนในห้องที่มีลักษณะแตกต่างกัน การร่วมแบ่งปันกัน จะทำให้การสอนของครูไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครูประจำวิชาเพียงผู้เดียว แต่เกิดขึ้นจากครูทุกคนในโรงเรียน

รายการอ้างอิง
Education World. (n.d.). What do great teachers do differently?. https://www.educationworld.com/a_curr/what-great-teachers-do-differently.shtml

Heick, T. (n.d.). Tips for getting along with teachers that think differently than you. Teachthought. https://www.teachthought.com/pedagogy/how-to-teach-differently/

กสศ. (2563, 23 กรกฎาคม). ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน เลิกท่องจำความรู้มุ่งสู่การฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง. https://www.eef.or.th/tsqp-23-07-20/

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2563, 18 สิงหาคม). บทบาทของครู ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และรูปแบบการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป. https://www.chula.ac.th/news/33545/


ชูชาติ พ่วงสมจิตร์. (2560). การสร้างสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชน. Veridian E-Journal Silpakorn University, 10(2), 1342-1354. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/98396


TAG: #การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ #หลักสูตรฐานสมรรถนะ #แผนการเรียนการสอน #การออกแบบการจัดการเรียนรู้ #พัฒนาการสอน #การคิดแก้ไขปัญหา