Knowledge

ชวนคุณครูมาฟังฟีดแบ็ก (Feedback) จากนักเรียน

ชวนคุณครูมาฟังฟีดแบ็ก (Feedback) จากนักเรียน

 2 years ago 4366

เอกปวีร์ สีฟ้า เรียบเรียง

          ในการเรียนการสอนออนไลน์ ความรู้และความเข้าใจของนักเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญ แล้วครูจะสังเกตว่านักเรียนเข้าใจบทเรียนได้อย่างไรบ้าง หนึ่งในวิธีที่น่าสนใจก็คือการรับฟีดแบ็ก (Feedback) จากนักเรียน ฟีดแบ็กจากนักเรียนนั้นจะช่วยสะท้อนการสอนของครูได้มากที่สุด ทำให้ครูสามารถพัฒนาการสอนของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อควรรู้สำหรับครู ในการรับฟีดแบ็ก จากนักเรียน

1. ทำให้การฟีดแบ็กกลายเป็นกิจกรรมที่มีในทุกคาบ
          เพื่อให้นักเรียนเกิดความเคยชิน และกล้าฟีดแบ็กครูด้วยความสบายใจจึงควรจะมีการฟีดแบ็กกันอย่างสม่ำเสมอ Zachary กล่าวว่าการฟีดแบ็กช่วยให้เข้าใจการสอนของตัวเองและการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีขึ้น โดยสิ่งที่เขาจะใช้ถามนักเรียนนั้นจะมี 4 คำถาม โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกโฟกัสไปที่ตัวครู ได้แก่ สิ่งใดที่ครูทำแล้วนักเรียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ สิ่งที่อยากให้ครูปรับคืออะไร ส่วนถัดไปจะโฟกัสไปที่นักเรียน ได้แก่ สิ่งที่นักเรียนภูมิใจในคาบนี้คืออะไร สิ่งที่นักเรียนอยากปรับปรุงคืออะไร

2. ตีความฟีดแบ็กที่ได้รับอย่างรอบคอบ
          การตีความผ่านถ้อยคำ หรือประโยคที่นักเรียนเขียนหรือพูดออกมา จะทำให้ครูเข้าใจนักเรียนได้มากขึ้น มองเห็นว่านักเรียนมีอุปสรรคในการเรียนอย่างไร สามารถปรับเข้าหานักเรียนได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากหากมองในมุมของครูเอง ก็คงจะไม่นึกไม่ถึงปัญหาบางอย่างที่นักเรียนเจอ การถามนักเรียนและตีความฟีดแบ็กที่ได้รับมานั้นจึงสำคัญ

3. เรียนรู้จากประสบการณ์ของนักเรียน
          นักเรียนเจอหลากหลายวิธีการสอนจากครูท่านอื่น พวกเขาจะรู้ว่าวิธีไหนที่มันดี น่าสนใจ ดังนั้น การถามนักเรียนว่า “มีสิ่งใดที่ครูคนใดคนหนึ่งทำ แล้วอยากให้ครูทุกคนทำไหม” ถือเป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะมันอาจจะทำให้ครูได้รู้จักวิธีการสอนใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพ

4. สื่อสารกับนักเรียนหลังจากได้รับฟีดแบ็ก
          หลังจากที่ครูได้รับฟีดแบ็กจากนักเรียน ได้อ่านและคิดแนวทางที่จะปรับเข้าหานักเรียนแล้วมีการสื่อสารออกไปให้นักเรียนได้รับรู้ นักเรียนจะเห็นถึงความตั้งใจของครูและอาจจะช่วยเสนอแนวทางเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนในคาบให้ดีขึ้นได้

5.เรียนรู้ที่จะยอมรับ Feedback จากนักเรียน
เมื่อได้รับคำติชมจากนักเรียนควรถามตัวเองด้วย 3 คำถามเหล่านี้
- คำติชมนั้น เราคิดว่ามันเป็นจริงไหม ?
- ความสัมพันธ์ที่เรากับคนที่ให้คำติชมเป็นอย่างไร ?
- เรามีความเห็นอย่างไรกับคำติชม ถ้ามองจากจากมุมมองที่เราเห็นตนเอง ?

ครูควรจะรับ Feedback จากนักเรียนตอนไหนบ้าง ?

1. ก่อนเริ่มเรียนคาบแรก ครูสามารถใช้คำถาม เช่น มีสิ่งไหนที่นักเรียนอยากบอกให้ครูรู้บ้าง สิ่งที่คาดหวังในการเรียนครั้งนี้คืออะไร มีเรื่องที่นักเรียนกังวลเกี่ยวกับวิชานี้หรือไม่ อย่างไร นักเรียนมีความรู้หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะเรียนในรายวิชานี้มาบ้างไหม อย่างไร ฯลฯ

2. ระหว่างเรียน ครูสามารถใช้คำถาม เช่น อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการเรียน แล้วทำไมนักเรียนถึงคิดอย่างนั้น บทไหนที่น่าเรียนและบทไหนที่น่าเบื่อมากที่สุด มีสิ่งใดที่นักเรียนอยากให้ครูปรับเพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่ง่ายขึ้นหรือไม่ (เช่น เลื่อนกำหนดส่งงานเป็นเที่ยงคืน แทนที่จะเป็น 17:00 น.) ฯลฯ

3. หลังจบกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ครูสามารถใช้คำถาม เช่น วันนี้เราทำกิจกรรม…ถ้าในอนาคตเราจะทำกิจกรรมในลักษณะนี้อีก นักเรียนคิดว่ามีสิ่งใดที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้าง

4. หลังจบเนื้อหาทั้งหมด ครูสามารถใช้คำถาม เช่น หลังจากจบเนื้อหาไปแล้ว นักเรียนรู้สึกว่าเข้าใจแนวคิดนี้ดีแค่ไหน วิธีการสอนแบบใดที่ช่วยนักเรียนได้มากที่สุดในการเรียนรู้ในรายวิชานี้ สิ่งใดที่สามารถปรับให้ดีขึ้นได้เพื่อทำให้ประสบการณ์การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ฯลฯ

          นอกจากชุดคำถามที่ได้นำเสนอไปแล้ว ครูอาจจะแบ่งคำถามเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ตัวครู การจัดการชั้นเรียน การสอนและการประเมิน ตัวนักเรียน เพื่อให้ครูมองเห็นแนวทางที่จะพัฒนาแต่ละด้านได้ชัดขึ้น

          ฟีดแบ็กจากนักเรียนถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการพัฒนาการเรียนการสอนในชั้นเรียน การที่ครูเปิดโอกาสให้เกิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันกับนักเรียน ไม่ได้เป็นฝ่ายให้ฟีดแบ็กนักเรียนอยู่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการค่อย ๆ ปรับไปพร้อมกัน จะทำให้ทั้งครูและนักเรียนเข้าใจกันมากขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย

รายการอ้างอิง
Inskru. (2563, 25 สิงหาคม). รวมไอเดียคำถาม รับ Feedback จากนักเรียน. https://inskru.com/idea/-MF__N1_lAXEBSdyE8eM

Gregg, J. (2016). Getting feedback from students: Activities. UCLA CEILS. https://ceils.ucla.edu/wp-content/uploads/sites/2/2016/10/Strategies-for-Getting-Feedback-from-Your-Students.pdf

Herrmann, Z. (2020, November 6). How to make the most of student feedback during distance learning. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/how-make-most-student-feedback-during-distance-learning

Topclass LMS by WBT Systems. (n.d.). How to Get Useful Student Feedback on Online Courses. https://www.wbtsystems.com/learning-hub/blogs/get-student-feedback-online-courses


TAG: #การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ #Feedback #การสะท้อนคิด #พัฒนาการจัดการเรียนรู้