Knowledge
เมื่อการสอบแบบเดิม ไม่ใช่คำตอบในยุคโควิด
3 years ago 2484เรียบเรียงโดย สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
ในสถานการณ์ปกติ ครูคุ้นเคยกับการวัดผลการเรียนด้วยข้อสอบทั้งปรนัยและอัตนัย เช่น การสอบท้ายหน่วยการเรียนรู้ การสอบกลางภาค-ปลายภาค หรืออาจรวมไปถึงการสอบซ่อม ซึ่งสามารถทำได้สะดวกและโดยส่วนใหญ่เป็นการวัดความรู้ที่มาจากความจำ และเข้าใจในเนื้อหาของนักเรียนเป็นหลักมากกว่าการคิดขั้นสูง แต่ในสถานการณ์การเรียนออนไลน์ นักเรียนอาจทบทวนและเรียนรู้ได้ยากลำบากมากขึ้นด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น บรรยากาศการเรียนไม่เอื้อ สภาพร่างกายและจิตใจอันอ่อนล้าจากการมองหน้าจอเป็นเวลานาน ทำให้การใช้ข้อสอบแบบเดิมไม่ใช่คำตอบในยุคโควิดอีกต่อไป และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สะดวกทั้งนักเรียนและครู และยังสามารถวัดและประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพ วันนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอวิธีสอบแบบใหม่ 2 วิธี เพื่อเป็นไอเดียให้คุณครูนำไปปรับใช้ในห้องเรียน โดยคุณครูสามารถเลือกใช้ได้มากกว่า 1 วิธีในการสอบช่วงโควิด-19 ตามความเหมาะสมของเนื้อหาที่สอน
วิธีที่ 1 การสอบแบบเปิดหนังสือ (Open Book)
การศึกษาหนังสือขณะสอบ เปรียบเสมือนการให้นักเรียนได้นำแนวคิดของเนื้อหาในหนังสือมาใช้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น การสอบแบบเปิดหนังสือจึงมักใช้ในการสอบอัตนัยเชิงคิดวิเคราะห์ และไม่มีคำตอบตายตัว ฉะนั้น ครูจึงควรมีเกณฑ์การให้คะแนนที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้างกับทุกความคิดเห็นของนักเรียน ข้อสำคัญคือ การเน้นย้ำนักเรียนว่าห้ามลอกจากหนังสือมาตอบและควรค้นคว้าเพิ่มเติมก่อนสอบ เพื่อให้ได้เนื้อหาพร้อมแนวคิดที่หลากหลายเพิ่มเติมจากที่เรียนในห้องเรียน นำไปสู่ความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น และทักษะในการคิดวิเคราะห์และแก้โจทย์ปัญหาที่ดียิ่งขึ้น
ข้อเสียของการสอบแบบเปิดหนังสือ คือครูจะให้คะแนนนักเรียนได้ค่อนข้างยาก เพราะรูปแบบข้อสอบปลายเปิด ครูต้องใช้เวลาวิเคราะห์คำตอบของนักเรียนว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นภาระเพิ่มเติมของครูในการประเมิน เพราะฉะนั้น ครูอาจเลือกใช้ข้อสอบแบบปรนัยเชิงวิเคราะห์ควบคู่ไปกับการสอบแบบเปิดหนังสือ หรือกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนพื้นฐาน คำสำคัญ (Keyword) ที่นักเรียนควรจะใช้ในการตอบ หรือแนวคำตอบที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้นั้น เพื่อประหยัดเวลาในการตรวจให้คะแนนนักเรียน และเป็นธรรมสำหรับนักเรียนทุกคน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวครูควรออกแบบให้สมดุล เน้นการให้คะแนนนักเรียนตามความเป็นจริงและคำนึงถึงเนื้อหาขั้นพื้นฐานที่นักเรียนต้องรู้เป็นหลัก
วิธีที่ 2 การทดสอบแบบกลุ่ม (Group Exam)
ในการทดสอบลักษณะนี้ ครูต้องใช้ความระมัดระวังในการออกแบบข้อสอบพอสมควร เพราะการเรียนออนไลน์อาจไม่อำนวยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างนักเรียนเป็นไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากนัก ทั้งนี้ ข้อดีของการทดสอบแบบกลุ่ม คือช่วยลดทอนเนื้อหาที่นักเรียนคนหนึ่งต้องอ่านและจดจำเพื่อใช้สอบ เพราะเพื่อนในกลุ่มแต่ละคนจะช่วยกันอ่านเนื้อหาแต่ละส่วนแตกต่างกันไป แล้วจึงนำเนื้อหาที่ตนเข้าใจมาพูดคุยแบ่งปันกับเพื่อน ๆ เพื่อตกตะกอนความรู้ร่วมกัน นักเรียนกลุ่มนั้นก็จะเข้าใจเนื้อหาที่ต้องใช้สอบทั้งหมดได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากการทำงานกลุ่มต้องใช้เวลาในการปรึกษาหารือมาก ครูจึงไม่ควรจัดการทดสอบแบบกลุ่มอย่างทันทีทันใด แต่ควรจัดสรรเวลาให้นักเรียน 1 คาบก่อนการสอบ เพื่อให้นักเรียนได้รายงานความคืบหน้าของงาน และปรึกษาหรือซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับงาน ตัวอย่างชิ้นงานกลุ่ม เช่น การทำ Infographic การนำเสนอพร้อมตอบคำถามเชิงวิเคราะห์รายบุคคล และการทำโครงงาน
ข้อดีของการทดสอบแบบกลุ่ม คือ สามารถประเมินทักษะการทำงานกลุ่มและการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนเป็นรายบุคคลได้ พร้อมทั้งสามารถให้คะแนนได้ทันทีจากการประเมินการทำงานระหว่างทางและตัวชิ้นงานในช่วงปลายทางได้ด้วย โดยอาศัยกรอบการให้คะแนนที่ครูได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
ถึงอย่างนั้นก็มีข้อจำกัด คือ อาจใช้เวลาสอบค่อนข้างนาน ยิ่งสมาชิกในกลุ่มเยอะ ยิ่งใช้ต้องเวลามาก และการสอบแบบนี้อาจปรับให้เข้ากับความหลากหลายของนักเรียนได้ยาก การจัดสมาชิกในกลุ่มจึงควรเป็นแบบสุ่ม ไม่กำหนดหน้าที่โดยเฉพาะ เพื่อฝึกการใช้ทักษะสังคมและการทำงานเป็นกลุ่มของนักเรียน
สุดท้ายนี้ การวัดผลแบบใหม่สามารถจัดควบคู่ไปกับการวัดผลแบบเดิมได้ และนำมาใช้ในสถานการณ์ปกติเมื่อนักเรียนและครูจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้เช่นกัน เพียงแต่ครูต้องพิจารณาถึงบริบทเนื้อหาและความพร้อมของนักเรียน เพื่อให้การประเมินผลเป็นไปอย่างเที่ยงตรงและสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้แม่นยำที่สุด
แหล่งอ้างอิง
European Distance and E-learning Network (EDEN). Student Evaluation During and After COVID-19, จาก https://www.eden-online.org/student-evaluation-during-and-after-covid-19/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564)