Knowledge

การบ้านยุคใหม่ ใส่ใจการเรียนรู้

การบ้านยุคใหม่ ใส่ใจการเรียนรู้

 4 years ago 5713

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ ครูจากโครงการ Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

         ความพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จากสถิติที่ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อว่า นักเรียนเรียนหนักติดอันดับต้นๆ ของโลกหลายปีติดต่อกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังเกิดการตั้งคำถามต่อปริมาณการบ้านที่นักเรียนต้องรับผิดชอบในแต่ละวัน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนประสบกับความเครียด ความกดดัน และเกิดมุมมองเชิงลบต่อการบ้านว่าเป็นภาระที่ตนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความทุกข์จากการทำการบ้านจำนวนมากเกินไปติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน อาจทำให้นักเรียนเกลียดการเรียนรู้และพยายามหลีกหนีห้องเรียนในที่สุด

“ในปัจจุบันการบ้านยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่”
         กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปริมาณและ ความเหมาะสมของการบ้านในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในปัจจุบัน อาจจะได้คำตอบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อย้อนกลับไปทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงของ “การบ้าน” ซึ่งช่วยให้เราได้ทบทวนและ ตระหนักในจุดประสงค์ของการบ้าน โดยพบว่าเป้าหมายสำคัญของการบ้าน ก็คือ การสร้างเสริม เพิ่มพูนความรู้ ทักษะและ ความสามารถของเด็ก โดยประยุกต์และ ต่อยอดความสามารถหรือทักษะนำสิ่งที่ได้เรียนไปบูรณาการปรับใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ นอกเหนือจากสถานการณ์ในห้องเรียนได้... หากต้องการจะตอบคำถามเรื่องความจำเป็นของการบ้าน คงจะต้องทบทวนถึงที่มาและ รูปแบบของการบ้านเป็นสำคัญด้วยว่ามีลักษณะที่เอื้อต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาความคิดและ เพิ่มพูนทักษะที่นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถจับต้องเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด ในทางกลับกัน การให้การบ้านที่มุ่งเน้นการเขียนตอบหรือเขียนตามหนังสือ โดยส่งเสริมวิธีท่องจำแต่นักเรียนไม่อาจเข้าใจที่มาที่ไปหรืออธิบายถึงสาเหตุและผลของเนื้อหาสาระที่เรียนรู้นั้น จะสามารถพัฒนาเด็กได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนั้น การสื่อสารของครูผู้ให้การบ้านอย่างตรงไปตรงมาถึงเป้าหมายของการบ้านแต่ละชิ้น เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันและชี้ให้เห็นประโยชน์ของการบ้านที่มีต่อตัวนักเรียน ทำให้เกิดกระบวนการยอมรับในข้อตกลงร่วมกันมากขึ้นอีกด้วย
         ดังนั้น การตอบคำถามเรื่องความจำเป็นหรือไม่จำเป็นนั้นอาจจะขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ตอบเป็นหลัก และถ้าหากจะหาแนวทางปรับหรือแก้ไขประเด็นของความไม่เหมาะสมเรื่องปริมาณและ ประโยชน์ที่ได้จากการบ้านนั้น ควรให้ความสำคัญกับการออกแบบรูปแบบงานในปริมาณที่เหมาะสม เน้นการ “ทำน้อยให้ได้มาก” ให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ ต่อยอดและพัฒนาตนเองด้วยองค์ความรู้ที่มี

“การบ้านที่ดี คือ การบ้านที่ส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของนักเรียน”
         การบ้านที่ดีควรคำนึงถึงการออกแบบงานที่เหมาะสมและมีลักษณะเปิดกว้างในการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความสามารถที่หลากหลายเฉพาะตัว ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ซึ่งความสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องตีกรอบแค่เพียงการวาดรูประบายสีเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำเสนอผ่านการคิดหรือสร้างสิ่งใหม่ๆ จากองค์ความรู้เดิมได้ การบ้านที่ดีควรหลีกเลี่ยงการออกแบบงานที่เป็นการส่งเสริมการท่องจำ การรับความรู้ทางเดียวซึ่งไม่ผ่านการใช้เหตุและผลในการทำความเข้าใจ การทำแบบฝึกหัดหากใช้เพียงความจำ โดยเน้นผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการคิด นักเรียนก็จะไม่เกิดการพัฒนา ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์และ ไม่รู้สึกถึงการเรียนรู้มากไปกว่าแค่การทบทวนความจำเพียงเท่านั้น

“การบ้านแห่งศตวรรษที่ 21”
         ศตวรรษที่ 21 โลกที่เต็มไปด้วยความรวดเร็วและการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดการณ์ได้... ดังนั้นการเรียนรู้ยุคใหม่จึงไม่อาจยึดอยู่บนฐานของความรู้เชิงวิชาการในหนังสือแบบเรียนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป การเรียนรู้ที่จะปรับตัวสู่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในสังคมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่ของการเป็นพลเมือง ความรู้เรื่องประชาคมโลก ความรู้ด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและข่าวสารประจำวันที่นักเรียนจะสามารถประยุกต์ใช้ความรู้จากในชั้นเรียนและ ภายนอกชั้นเรียนเข้าด้วยกัน เพื่อที่สักวันหนึ่งนักเรียนจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตได้

         ประเด็นท้าทายสำหรับการออกแบบการบ้านให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านไป โดยเฉพาะปัจจุบันและ อนาคตที่ความรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายดายและ มีอยู่มากมายการจัดการเรียนรู้ การบ้านเพียงไม่กี่ชิ้นแต่สามารถช่วยให้นักเรียนได้ฝึกฝนลองคิดและ ลองนำสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติ มุ่งเน้นการฝึกทักษะ ปรับลดการเรียนรู้จากการรับข้อมูลหรือองค์ความรู้จากผู้สอนเพียงอย่างเดียว เพิ่มกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลและ วิจารณญาณในการรับข้อมูล การบ้านที่บูรณาการทักษะและ ความรู้ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน จะช่วยลดกระแสวิพากษ์เรื่องปริมาณการบ้านที่มากเกินไป อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งเป้าหมายของการบ้านและ สร้างการพัฒนาต่อตัวนักเรียนเช่นเดียวกัน

ที่มา:
คำถามสำคัญกว่า ควรมีการบ้านหรือไม่ คือ มีการบ้านไปเพื่ออะไร. (2020, May 16). Retrieved April 3, 2020, from https://thepotential.org/2018/11/28/homework-quality

ไขข้อข้องใจ! "การบ้าน" ยังจำเป็นสำหรับเด็กยุคใหม่หรือไม่. (2019, August 26). Retrieved April 3, 2020, from https://siamrath.co.th/n/99139

-, P., By, -, Katchwattanahttps://www.salika.co, P., & Katchwattana, P. (2019, June 22). ห้องเรียนแห่งอนาคต จัดการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนเด็กไทยให้ก้าวทันโลก. Retrieved April 3, 2020, from https://www.salika.co/2019/06/22/smart-classroom-for-21st-century


TAG: #การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ #การออกแบบการจัดการเรียนรู้