Knowledge
เปลี่ยนมาให้ฟีดแบ็ก (Feedback) แบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
2 years ago 1957เอกปวีร์ สีฟ้า
ในการจัดการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนฟีดแบ็กกับนักเรียน นั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากนักเรียนและครูสามารถนำข้อมูลนี้ไปพัฒนาต่อได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ครูไม่มีโอกาสให้ฟีดแบ็กกับนักเรียนทุกคนเป็นรายบุคคล นั่นก็เพราะว่าใช้เวลาเยอะ และการเขียนลงบนสมุดแบบฝึกหัดของนักเรียนแบบเดิมก็ไม่ค่อยจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพเท่าไร ดังนั้นการดึงเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจึงถือเป็นทางออกที่น่าสนใจสำหรับปัญหานี้
การประยุกต์เครื่องมือเทคโนโลยีกับการแลกเปลี่ยนฟีดแบ็กระหว่างครูกับนักเรียน
1. การฟีดแบ็กที่แสดงผลเป็นภาพ (Visual Feedback)
เทคนิคที่น่าสนใจ คือ การฟีดแบ็กด้วยคำหรือข้อความสั้น จากนั้นแสดงผลออกมาในรูปของ Word Cloud เพื่อให้เห็นภาพรวมของฟีดแบ็กทั้งหมด ครูอาจจะใช้เว็บแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Mentimeter ในการรับข้อมูลจากนักเรียน ซึ่งจะสามารถแสดงข้อมูลในรูปแบบ Word Cloud ได้เลย หรือสร้างแบบฟอร์มให้นักเรียนกรอก จากนั้นค่อยนำข้อมูลทั้งหมดอัปโหลดขึ้นสู่เว็บไซต์เพื่อแปลงให้อยู่ในรูปของ Word Cloud อีกครั้งก็ได้ ยกตัวอย่างจากกรณีศึกษาของ Lauren Gehr หลังเรียนจบภาคการเรียนแรก เธอตั้งคำถามกับนักเรียนว่า การจัดการเรียนรู้ของเธอตลอดภาคเรียนนี้เป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นให้นักเรียนแต่ละคนให้ฟีดแบ็กด้วยคำคำเดียว แล้วนำข้อมูลทั้งหมดไปจัดให้อยู่ในรูปของ Word Cloud และชวนนักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดมาตลอดทั้งภาคเรียนว่า มีอะไรที่ดีหรือมีอะไรที่อยากให้ปรับปรุงอะไรในภาคการเรียนถัดไปบ้าง
2. การฟีดแบ็กด้วยเสียง (Audio feedback)
สำหรับการฟีดแบ็กด้วยเสียง มีเครื่องมือที่น่าสนใจคือ Mote ซึ่งเป็นส่วนขยายใน Chrome ที่ช่วยให้ครูฟีดแบ็กงานนักเรียนง่ายขึ้นเพียงกดแค่ไอคอน M ก็สามารถเริ่มบันทึกเสียงฟีดแบ็กส่งไปให้นักเรียนได้ทันที อีกทั้งใช้งานร่วมกับเครื่องมือของ Google ได้หลากหลาย และใช้งานผ่าน Email ได้ด้วย แต่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลา ในการบันทึกแต่ละครั้งถูกจำกัดไว้ที่ 30 วินาที
นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือคอมเมนต์ใน Microsoft Word และ Google Docs ที่ครูน่าจะคุ้นชิน ซึ่งสามารถใช้โต้ตอบ และคอมเมนต์งานให้แก่นักเรียนได้ การฟีดแบ็กในลักษณะนี้ย่อมดีกว่าการที่ครูฟีดแบ็กด้วยการเขียนลงบนสมุดแบบฝึกหัดของนักเรียน เนื่องจากนักเรียนสามารถตอบกลับได้ ครูก็จะได้มั่นใจว่านักเรียนรับรู้ฟีดแบ็กแล้ว และยังสามารถติดตามนักเรียนให้อ่านและปรับแก้ไขงานได้ทันที วิธีนี้ย่อมมีประสิทธิภาพสูงกว่าวิธีการแบบเดิมที่มักเป็นการสื่อสารทางเดียว
ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการฟีดแบ็ก
การใช้เทคโนโลยีจะช่วยลดภาระของครู ยกตัวอย่างจากการที่ครูต้องตรวจการบ้านให้เด็กในหนึ่งห้องเรียนประมาณ 30-40 คน ผ่านการทำเครื่องหมายหรือเขียนฟีดแบ็กลงในสมุดแบบฝึกหัดเปลี่ยนมาใช้การคอมเมนต์และให้ฟีดแบ็กด้วยเสียง นอกจากครูจะใช้เวลาน้อยลงแล้ว ยังทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่า กล่าวคือ ตัวนักเรียนที่ได้รับฟีดแบ็กก็สามารถเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ดีขึ้น เพราะสามารถรับรู้อารมณ์หรือเจตนาของครูผ่านน้ำเสียงได้ และในขณะเดียวกัน นักเรียนก็สามารถใช้การตอบกลับด้วยเสียง ในการอธิบายชิ้นงานเพื่อให้ครูเข้าใจได้ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ทั้งครูและนักเรียนเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการฟีดแบ็กยังมีความรวดเร็วมากกว่า ถือเป็นผลดีที่ครูและนักเรียนสามารถโต้ตอบกันได้ทันใจ
ถึงเวลาแล้ว ที่ครูควรจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการแลกเปลี่ยนฟีดแบ็กระหว่างครูกับนักเรียนแทนการให้ฟีดแบ็กแบบเดิม ครั้งแรกที่นำมาใช้ในห้องเรียนอาจจะติดขัดบ้าง เนื่องจากเป็นเครื่องมือใหม่ต้องปรับตัวไปพร้อมกันทั้งครูและนักเรียน แต่เพื่อประสิทธิภาพที่ดีกว่าของการฟีดแบ็ก การเริ่มลงมือทำดูสักครั้งก็จะช่วยให้ครูมั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น
แหล่งอ้างอิง
Chohan, A. (2021, June 3). The importance of digitised feedback and assessment. Education Technology. https://edtechnology.co.uk/comments/importance-digitised-feedback-assessment/
Gehr, L. (2022, April 14). Tech tools that help teachers and students exchange feedback. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/tech-tools-help-teachers-and-students-exchange-feedback