Knowledge
SEL แนวการจัดการศึกษาจากนิวซีแลนด์ : การพัฒนาคุณภาพครูและนักเรียน ท่ามกลางความท้าทายจาก COVID-19
2 years ago 2030
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาไปทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้ที่เปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่งถึงแม้เราจะมักพูดว่าเป็นความท้าทาย แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้นการเรียนรู้แบบใหม่นี้นำมาซึ่งปัญหาและสร้างความกดดัน หรือความกังวลใจต่อทั้งครูและนักเรียน อีกทั้งยังลดประสิทธิภาพของการเรียนรู้ ในวันนี้ EDUCA จะขอนำพาทุกท่านไปเรียนรู้กับกรณีศึกษาของการพัฒนา SEL จากประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นแนวการจัดการศึกษาที่สามารถทำให้จัดการเรียนรู้ให้ทั้งครู นักเรียน มีความสุขในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้
ก่อนอื่นนั้น เราทุกคนควรสร้างความเข้าใจว่า การเรียนรู้นั้นจะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อมีการหลอมรวมกันระหว่างบุคคล องค์ความรู้ ความสัมพันธ์ และบรรยากาศที่ดี เมื่อทุกภาคส่วนหรือทุกคนอยู่รวมกัน ช่วยกันระดมพลังสมอง ร่วมมือ และร่วมใจกัน ก็จะสามารถสร้าง “การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์” (Social and Emotional Learning : SEL) ได้ โดยแนวคิดนี้เป็นเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา และที่สำคัญคือส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำในยุค COVID-19 ที่จะสนับสนุนการทำงานของครูและนักเรียนร่วมกัน โดยที่ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้ปกครอง
ดร. Howard Youngs อาจารย์อาวุโสประจำ School of Education, Auckland University of Technology จากนิวซีแลนด์ ได้กล่าวว่า ในสถานการณ์นี้นอกจากโรงเรียนจะพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการดูแลการเรียนรู้ของนักเรียนเช่นกัน เพราะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอาจสร้างภาระอันเป็นโจทย์ท้าทายของการจัดการศึกษา เช่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านสื่ออุปกรณ์ดิจิทัล อุปสรรคที่เกิดจากการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ ตลอดจนความเหนื่อยล้าของครู ดังนั้นทางสถาบันฯ จึงได้สร้างโมเดล SEL อันมีองค์ประกอบทั้งสิ้น 6 ด้าน มาใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ ได้แก่
1. การออกแบบโรงเรียนใหม่ในยุคของความไม่แน่นอน คือ การใช้การเรียนรู้แบบบูรณาการข้ามสาระวิชา การรื้อและสร้างหลังสูตรใหม่ รวมถึงการสร้างโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ (SLC)
2. ส่งเสริมจิตวิทยาและความเป็นอยู่ที่ดี ใช้กระบวนการถามไถ่ ให้คำปรึกษามุ่งไปที่สุขภาพจิตทั้งของครูและนักเรียน ให้ความสำคัญกับการลดการกลั่นแกล้ง (Bullying) โดยที่มีความร่วมมือจากผู้ปกครอง และยังส่งเสริมความฉลาดรู้ในด้านสุขภาพ ให้ความสำคัญกับทั้ง EQ และ IQ
3. การจัดการชั้นเรียนในยุค Next Normal เป็นการจัดชั้นเรียนที่ตอบรับกระแสของยุคศตวรรษที่ 21 ให้ความสำคัญกับการศึกษาพิเศษ และออกแบบการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีและ SEL เป็นหลัก
4. ประเด็นและบริบททางการเรียนรู้ของการศึกษาในอนาคต มีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น ทักษะแห่งโลกอนาคตทักษะการบูรณาการเชิงดิจิทัล ทักษะความรู้การใช้สื่อ ทักษะชีวิต การเรียนโดยใช้บ้านเป็นฐานแห่งการเรียนรู้ การเรียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน การใช้ Gamification กับการเรียนรู้ และการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม
5. ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของคุณครู ประด้วยการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) การเน้นการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community – based learning) การเรียนรู้ผ่านผู้ปกครอง (Parental Education) และการใช้ ICT เป็นฐานในการเรียนรู้
6. วิจัยและประเมินผลการเรียนรู้ในบริบทจริง ประกอบด้วยการวิจัยในชั้นเรียน (CAR) การประเมินผลตามสภาพบริบทจริง และการใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ประกอบ
นอกจากโมเดลของ SEL ข้างต้นแล้ว ทางสถาบันฯ ยังได้นำ Mason Dune’s Models มาใช้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นโมเดลที่ให้ความสำคัญในเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดี (well – being) อันประกอบไปด้วย การพัฒนาทางด้านร่างกายและวิธีการดูแลร่างกาย การจัดการความคิดและความรู้สึก มนุษยสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและคนรอบตัว และการสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง
ในประการสุดท้ายนี้ สถาบันฯ ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการให้คำปรึกษาและดูแลความเป็นอยู่ที่ดีในการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียน เพื่อรองรับปัญหาการขาดความพร้อมทั้งในด้านอุปกรณ์การ ดังนั้นโรงเรียนจึงต้องสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดความเหนื่อยล้าจากการเรียนการสอนออนไลน์ของคุณครูและนักเรียน หรือให้ความช่วยเหลือนักเรียนในด้านอุปกรณ์ในการเรียนหรือสื่อที่สามารถเข้าถึงได้ เน้นการทำงานที่ไม่หนักจนเกินไปแต่ยังได้ผลดี (Well -being Programs) และสุดท้ายคือ การหาแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่สามารถช่วยเหลือการจัดการเรียนการเรียนรู้ได้
กรณีศึกษาข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นว่า หากทุกคนทุกภาคส่วนมีความเข้าใจในความรู้ที่เป็นแก่นสำคัญ ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี และมีวิสัยทัศน์เชิงบวก ก็น่าจะสามารถพัฒนาการศึกษาให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไปได้อย่างงดงาม
ที่มา : บทบรรยาย Workshop หัวข้อ Social and Emotional Leadership for Today and the Future (a New Zealand Lens) Care Learning Well-being and Digital Technology โดย Dr. Howard Youngs - Senior Lecturer - Educational Leadership & Leader International (School of Education), Auckland University of Technology